กรมคุ้มครองสิทธิฯแจงปมยูเอ็นผิดหวังไทย ไม่ผ่านกม.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ชี้ร่าง รธน.ระบุไว้

(แฟ้มภาพ) น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

กรมคุ้มครองสิทธิฯ แจงประเด็นข้าหลวงใหญ่สิทธิยูเอ็นผิดหวัง ไทย ไม่ผ่าน.พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและคนสูญหาย ชี้ร่างรธน.ระบุไว้ชัดเรื่องสิทธิห้ามทรมาน

เมื่อวันพุธที่ 1 มีนาคม น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า ตามที่โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แสดงความผิดหวังที่ประเทศไทยตัดสินใจไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนท่าทีดังกล่าว
กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ขอยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยการปฏิบัติตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาโดยตลอด รวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองไว้ตั้งแต่วันที่ 9มกราคม 2555

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวต่อว่า โดยที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ หลายประการ อาทิเช่น การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ การพัฒนามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการพัฒนากลไกเชิงนโยบายในการดูแลการอนุวัติตามอนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับ เป็นต้น กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ขอยืนยันท่าทีของประเทศไทยในการภาคยานุวัตรเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ และยืนยันการดำเนินการทั้งมาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางบริหารเพื่ออนุวัติตามอนุสัญญาดังกล่าว โดยเร็วที่สุด รวมถึงยืนยันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายกระบวนการยุติธรรม และหลักนิติธรรม ทุกกรณี

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ผ่านการลงประชามติได้มีการรับรองหลักการสิทธิมนุษยชนสำคัญในส่วนของการไม่เลือกปฏิบัติ การห้ามทรมาน และความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นจะเป็นการยกระดับกระบวนการยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนในประเทศ และยืนยันการปฏิบัติตามคำมั่นที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้ในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image