มองไปข้างหน้า : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

หลายคนที่เป็นห่วงบ้านเมืองพยายามมองไปข้างหน้าว่า ในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปี บ้านเมืองของเราจะเป็นอย่างไร ลูกหลานเขาจะคิดอย่างไร ปัญหาที่เป็นอยู่จะยืดเยื้อไปถึงรุ่นเขาหรือไม่ วิธีการจัดการกับปัญหาของเขาจะเหมือนอย่างที่เป็นอยู่หรือจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะผู้คนกลุ่มที่ยังมีอำนาจมีบารมีที่จะบังคับทิศทางของการตัดสินใจ ของบ้านเมือง หรือการควบคุมสื่อมวลชน เพื่อทำสงครามจิตวิทยาและการชี้นำสังคม บัดนี้ก็อายุค่อนข้างสูงแล้ว ส่วนมากอายุเกิน 70 ปีแล้ว อีกไม่นานอายุก็จะ 80 ปีกันแล้ว ความเฉียบแหลม ความแหลมคมคงจะลดลง การจะตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และที่สำคัญการจะปรับตัวให้เข้ากับสังคมรุ่นใหม่ สังคมที่กำลังก้าวเข้ามาแทนด้วยคนรุ่นใหม่ จะยังคงอยู่บงการต่อไปหรือไม่ จะมีคนสืบทอดความคิดเก่าๆ นี้ต่อไปหรือไม่

ความพยายามจะมองไปข้างหน้านั้นมีอยู่เสมอด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกัน บางคนบางกลุ่มก็อาจจะมองไปข้างหน้าด้วยความสะพรึงกลัว ด้วยความหวาดวิตก คนบางกลุ่มบางพวกอาจจะมองภาพอนาคตข้างหน้าด้วยความพอใจว่าสังคมกำลังเคลื่อนตัวไปตาม “กงล้อ” ของมันอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องกังวล พัฒนาการทางการเมืองจะเป็นไปตามทางของมันเอง คนบางกลุ่มบางเหล่าก็อาจจะไม่สนใจเลยว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สำหรับพวกที่อายุ 30 ปีลงมา นักเรียน-นักศึกษาที่กำลังมุ่งหน้าศึกษาเล่าเรียน ผู้คนที่ต้องดิ้นรนหาการหางานที่เหมาะสมกับคุณวุฒิและวัยวุฒิของตนเอง

ภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมข้างหน้า ในระยะปานกลางคือระยะ 5-10 ปีข้างหน้า คงจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก คงเป็นผลอันต่อเนื่องมาจากอดีตในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งเหตุการณ์ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เหตุการณ์ความขัดแย้งกันระหว่างผู้คนในสังคมไทย ระหว่างคนชั้นสูงร่วมกับคนชั้นกลางในเมือง กับคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่ชนบทอีกต่อไปแล้ว แต่ประเทศเพื่อนบ้านคงก้าวไปข้างหน้าต่อไป

ภาพรวมเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลง การลงทุนภาคเอกชนที่ไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเอกชนภายในประเทศและเอกชนต่างประเทศ ประเทศไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โอกาสและความสามารถในการเจรจาการค้าน่าจะต่ำลง เนื่องจากมีระบอบการปกครองที่ยุโรปและอเมริกาใช้เป็นเงื่อนไขในการกีดกันการค้ากับประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมของเราหรือโครงสร้างการส่งออกก็ดี คงจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและคาดการณ์ได้ยาก การลงทุนใหม่ๆ ได้ย้ายฐานจากประเทศไทยไปสู่เวียดนามและอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่องมากขึ้น

Advertisement

ในขณะเดียวกันความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ นักวิชาการก็ดี ผู้คนในระดับสูงก็ดี พยายามอธิบายว่าความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สิน ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง แม้ว่าคนชั้นล่างจะถูกดูหมิ่นดูแคลนจากคนชั้นสูง แต่ขณะนี้คนชั้นล่างก็ดีขึ้นตามลำดับ ไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องทำลายระบบ แต่พร้อมที่จะถูกกลืนและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระบบ พยายามไต่เต้าขึ้นเข้าไปสู่สังคมผ่านทางการศึกษา ด้วยการสร้างฐานะในทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ได้รับการยอมรับ

ในช่วงระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า ถ้าหากกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยหรือพรรคในชื่ออื่นก็คงจะได้รับการต้อนรับจากประชาชนในต่างจังหวัด จากคนระดับล่างในกรุงเทพฯ และชนะการเลือกตั้งทั่วไปอยู่ดี ขณะเดียวกันคนชั้นสูงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจก็คงจะไม่ยอมรับอยู่ดี ขบวนการต่อต้านเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่นอกเมืองในต่างจังหวัดคงจะกดดันให้มีการประท้วงขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีก อ้างเป็นเหตุผลในการทำปฏิวัติรัฐประหารอยู่ดี เพราะรัฐบาลทหารที่ปกครองด้วยข้าราชการ ทั้งที่ยังอยู่ในราชการและอยู่นอกราชการ ได้รับการยอมรับจากประชาชนในกรุงเทพฯ มากกว่ารัฐมนตรีที่เป็นนักการเมืองจากต่างจังหวัด

ขณะเดียวกัน แม้เวลาจะผ่านไป เนื่องจากเรามีระบอบประชาธิปไตยเพียงในระยะเวลาสั้นๆ องค์กรตรวจสอบของประชาชนยังไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้า ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาประสิทธิภาพถูกขัดขวาง

Advertisement

ขณะเดียวกันรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารก็เป็นรัฐบาลที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ ไม่ว่าจากองค์กรอิสระหรือองค์กรประชาชน พรรคการเมืองก็ไม่อาจจะตรวจสอบรัฐบาลดังกล่าวได้ เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่จะทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ ตั้งกระทู้ถามหรืออภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ กลไกตรวจสอบผ่านทางรัฐสภาเป็นกลไกตรวจสอบที่สำคัญ ไม่มีในระบอบที่ไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรของประชาชนอย่างสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดูดีกว่ารัฐบาลที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ความจริงไม่แน่ว่าใครดีกว่า ใครเก่งกว่า

การเมืองเป็นเรื่องของขบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและการรักษาอำนาจให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยพื้นฐานการได้มาซึ่งอำนาจของรัฐบาลทหารได้มาจากการใช้ปืนยึดอำนาจมาจากรัฐบาลก่อน การสร้างความเกรงกลัวจึงเป็นวิธีการและกลยุทธ์เพื่อจะได้ไม่มีผู้ใดกล้าต่อต้าน เพื่อให้การยึดอำนาจการปกครองประสบความสำเร็จและสามารถรักษาอำนาจการปกครองนั้นไว้

สำหรับการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองและการรักษาอำนาจการปกครองของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เป็นการได้มาด้วยความนิยมของประชาชน ด้วยตัวแทนของผู้มีสิทธิมีเสียง ด้วยกระบวนการสันติจากคะแนนการเลือกตั้ง การแสวงหาความนิยมจากประชาชนผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงมีความสำคัญ ในขณะเดียวกันถ้าจะป้องกันมิให้ทหารฉวยโอกาสยึดอำนาจทำปฏิวัติรัฐประหารก็ต้องคอยรักษาความนิยมของตนไว้มิให้เสื่อม ถ้าความนิยมของตนเสื่อมลงเมื่อใด การปฏิวัติรัฐประหารก็จะเกิดขึ้นทันที

ปัญหาที่กัดกร่อนรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาที่ระบอบประชาธิปไตยยังไม่พัฒนา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารหรือรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งก็คือปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสังคม เป็นพฤติกรรมทางสังคมที่สังคมไม่รังเกียจ ไม่คิดไม่ลงมือที่จะต่อต้านจริงๆ จังๆ ขณะเดียวกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็มิได้เป็นคุณค่าหรือ value ที่ปัจเจกชนแต่ละคนจะยึดถือ มักจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของตนที่จะเรียกรับผลประโยชน์ จากการได้สิทธิในการเรียกส่วนแบ่ง จากการหาผลประโยชน์จาก “ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” หรือ “economic rent” ที่ผู้มีอำนาจหยิบยื่นให้ ผู้มีอำนาจผู้ใดทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตรงไปตรงมากลับไม่เป็นที่ชื่นชอบ หรือไม่เป็นที่ชื่นชม พร้อมจะได้รับการขนานนามในเชิงดูหมิ่นว่า “หัวสี่เหลี่ยม”

เรื่องนี้น่าจะดำรงคงอยู่ แต่รูปแบบอาจจะเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่จะจัดการปัญหานี้อย่างไร หรือจะวางเฉยแบบคนรุ่นนี้

ในระยะข้างหน้าเมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้น ทัศนคติเช่นว่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ก็ยังไม่แน่ใจ ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงจะบรรเทาเบาบางลงหรือหมดไปก็ต่อเมื่อจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องไม่ยอมรับ และมีการต่อต้านทั้งในทางรูปธรรมและในทางนามธรรม

ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างขององค์กร ระบบกฎหมาย ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของโลกตามกระแสโลกาภิวัตน์ ก็น่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างรุนแรง

กรณีที่มีการเปิดโปงการให้สินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็น่าจะเป็นกระแสกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ มีการกดดันให้เกิดการค้นหาตัวผู้กระทำความผิด คงจะเก็บกดไว้เป็นความลับต่อไปไม่ได้นาน หากในประเทศอื่นๆ ได้เปิดโปงผู้รับผลประโยชน์และสินบนจากบริษัทที่ค้าขายข้ามชาติ มีการเผยแพร่รายละเอียดต่างๆ มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรใน 5-10 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยแท้ ผู้นำไทยจะยังเป็นสังคมที่เชื่อในเวทมนตร์ ไสยศาสตร์ เชื่อโชคชะตา ยังจะห้อยพระเครื่อง แต่ขณะเดียวกันก็ส่งเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจจำนวนนับหมื่นลุยพระ ลุยอุบาสก อุบาสิกา เพื่อเข้ายึดวัด ออกข่าวทำลายวัด ทำลายพระภิกษุ เหตุเพราะมีผู้คนนับถือเป็นจำนวนมาก เป็นอันตรายต่อความมั่นคง สงครามกับวัดและลูกศิษย์วัดเป็นสัญลักษณ์ของสงคราม สงครามตัวแทนของชนชั้น

ความรู้สึกเคารพนับถือศาสนา สถาบันศาสนา ในอนาคตข้างหน้าน่าจะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น กรณีการใช้อำนาจรัฐและการต่อต้านขัดขืนอำนาจรัฐของศิษยานุศิษย์ของสำนักพระธรรมกาย เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับความขัดแย้งในขบวนการทางสังคม ซึ่งถูกเก็บกดมาเป็นเวลานานหลาย 10 ปี ศาสนิกชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ถูกปกครองโดยศาสนิกชนส่วนน้อยที่มีจำนวนเพียงร้อยละ 10

ความขัดแย้งดังกล่าวอาจจะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้งใหญ่โตต่อไปในภายภาคหน้า ถ้าไม่มีการยับยั้งชั่งใจของฝ่ายข้างน้อยที่ได้เปรียบอยู่ในขณะนี้

ข้างหน้า 5-10 ปีจึงน่าจะเป็นช่วงเวลาของความขัดแย้ง เมื่อมีความขัดแย้งก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่ความขัดแย้งอันใหม่ อาจจะหนักถึงขั้นแตกหักจริงจังก็เป็นได้

จะออกมาอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าจะคาดการณ์ได้

 

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image