‘ธีรยุทธ’ตั้งโต๊ะวิพากษ์’รบ.ประยุทธ์’ ระบุ 3 ปี คนไทยได้แค่ความสบายใจ แต่ปฏิรูปเหลว (คลิป)

” ธีรยุทธ” ตั้งโต๊ะวิพากษ์ “คสช.-รบ.ประยุทธ์” ระบุ 3 ปีคนไทยได้แค่ความสบายใจ ปฏิรูปเหลว เตือนบิ๊กตู่ขาลง ศรัทธาคลอนแคลน ระวังเป็น “ตู่ต้นเตี้ย- ตู่เตี้ยลง” หลังตั้งสารพัดกรรมการแต่ไม่มีผลงาน ทำมนต์ขลังเสื่อม เป็น “ยุทธ์เรือโยง ป้อมเรือพ่วง” เตือนอย่าฝืน อยู่ในอำนาจเกินโรดแมป ติง วางยุทธศาสตร์ชาติพลาดให้อำนาจ ขรก. ไม่สนภาค ปชช. แนะปฎิรูปเฉพาะเรื่อง เน้นลดความเหลื่อมล้ำด้านกายภาพ จัดการปัญหา ปตท.ไม่ท่อก๊าซ ฟื้นศรัทธาปชช.

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 3 มีนาคม นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการสาธารณะ แถลงวิเคราะห์ทิศทางอนาคตการเมืองไทย ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าประเทศไทยในอนาคตจะวิ่งเข้าสู่วิถีอนุรักษ์และจารีตนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความหวังในการปฏิรูปในระดับโครงสร้างอำนาจมีน้อย เพราะผู้อยู่ในอำนาจทั้งหมดเป็นข้าราชการ ซึ่งจะสูญเสียอำนาจเมื่อมีการปฏิรูป เพราะถ้าไม่พิจารณาวาทกรรมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ความเป็นจริงที่เกิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือ การดำเนินงานของ คสช. อาศัยข้าราชการ มหาดไทย ทหาร ตำรวจ เป็นหลัก นโยบายต่างๆ เป็นการเพิ่มอำนาจแก่ข้าราชการและศูนย์กลางมากกว่ากระจายอำนาจ บุคลากรซึ่งถูกแต่งตั้งไปเป็นประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ เป็นนายทหารเหล่าทัพต่างๆจำนวนมาก โดยไม่มีผลงานปฏิรูปใดๆ ทั้งที่มีการตั้งซุปเปอร์บอร์ดศึกษาการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมาแต่ต้น การเปลี่ยนผู้ว่าฯกทม. ผู้ว่าการและบอร์ดรถไฟแทนที่จะตั้งเป้าปฏิรูปองค์กร ก็เพียงแต่รับงานตามประสงค์ของคสช.ต่อ อีกทั้งบุคลากรในแม่น้ำ 5 สาย เกือบทั้งหมดมีความคิดแบบอนุรักษ์และจารีตนิยม มีผลงานที่ดีบ้าง แต่ยังไม่มีที่ให้ความหวังเรื่องการปฏิรูป แต่แสดงออกชัดเจนที่จะผลักให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อตัวเองจะได้อยู่ในอำนาจต่อด้วย ดังนั้น จากเรือแป๊ะกับแม่น้ำ 5 สาย จึงเริ่มกลายเป็นยุทธ์เรือโยง ป้อมเรือพ่วง ลากจูงกันไป ทุลักทุเลมากขึ้น จนอาจจะเกยหาดหรือติดเกาะแก่งได้ ถ้าฝืนอยู่ในอำนาจเกินโรดแมป

นายธีรยุทธกล่าวต่อว่า เกือบ 3 ปีจากการบริหารของ คสช. ถือว่าประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีความสนุกสนาน ได้ความสบายใจ มีการจัดระเบียบ กำหนดนโยบายใหม่ แต่เชื่อว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจะไม่เกิดเพราะไม่อยากทำ รวมถึงการวางระบบและการบูรณาการต่างๆ ก็ไม่เห็นผล อย่างไรก็ตาม ไม่เชื่อว่า ความขัดแย้งแบบเก่าจะกลับมา เพราะไม่ง่ายที่จะปลุกระดม จึงไม่ห่วงเรื่องปรองดอง และเห็นว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ 2 ฝ่ายอยู่ในฐานะที่ชัดเจนแล้ว คือมองเห็นผลลัพธ์สุดท้ายว่าจะแพ้ หรือชนะได้แน่นอนแล้ว หรือหากยื้อต่อไป ต่างฝ่ายจะสูญเสียเพิ่มจึงหันมาพูดจากันเพื่อให้ทุกฝ่ายชนะคือ วิน วิน แต่อาจต้องใช้เวลา ซึ่งรัฐบาลต้องมีแนวนโยบายที่ถูกต้องทำงานปฏิรูปให้ได้ผล จะเป็นการช่วยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

Advertisement

นอกจากนี้ ยังเห็นว่ามนต์ขลังจากการบริหารที่ประชาชนเห็นว่าทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเริ่มเสื่อม ส่งผลให้ความมั่นใจในรัฐบาลเริ่มคลอนแคลน แต่ไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาแทรกซ้อนโครงสร้างทางประชาธิปไตยจากสถานการณ์นี้ เพราะขณะนี้อยู่ในสภาวะสั่นไหว คลอนแคลน ก็ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง อย่าเสียคำพูดเรื่องโรดแมปให้มีการเลือกตั้ง และต้องพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาหลังการเลือกตั้งต่อไป โดยควรมุ่งเน้นเกี่ยวกับงานโครงสร้างอำนาจ หรือการวางรากฐาน เช่น การปราบคอร์รัปชั่น ที่ยังไม่มีความคืบหน้า รวมถึงจัดการกับคดีใหม่ เช่น เชฟรอน รถญี่ปุ่นเลี่ยงภาษี ปตท.ไม่ยอมคืนท่อก๊าซ ปราบปรามอิทธิพลนอกระบบให้มีความคืบหน้า ซึ่งจะช่วยดึงศรัทธาจากประชาชนกลับมาได้ ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจจะนึกถึงภาพรัฐบาล “ตู่ต้นเตี้ย หรือตู่เตี้ยลง” ก่อนที่จะจบโรดแมปของ คสช.

” ขอทำความเข้าใจว่า ตู่ต้นเตี้ย เป็นคำโบราณ หมายถึงว่าอย่ามายอฉันเลย เหมือนเตยต้นเตี้ย คือ เป็นคนดีแต่อาภัพอับวาสนา ที่เปรียบแบบนี้ เพราะลุงตู่ชอบน้อยใจอยู่เรื่อยว่าทำงานเหนื่อย แต่ไม่มีคนเห็นใจ ส่วนตู่เตี้ยลง ก็เหมือนสาละวันเตี้ยลง แต่ลุงตู่ก็มีผู้สนับสนุน เดี๋ยวก็มีคนมาเชียร์ให้ลุกขึ้น เหมือนเพลงสาละวันลุกขึ้น ลุกขึ้นสาละวัน พูดแบบนี้เป็นการแหย่กันในเชิงกวี เพราะเห็นว่านายกฯก็เป็นนักเลงกลอน”

นายธีรยุทธกล่าวด้วยว่า การบริหารของ คสช.ในขณะนี้ เริ่มอยู่ในสภาพเรือแป๊ะพายวน โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรการสร้างความปรองดอง และการวางแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ มีการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ชุด กรรมการปฏิรูป 2 ชุด กำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี รวม 3 แผนใหญ่ แต่ไม่มีผลงานที่ให้ความมั่นใจได้ว่าจะแก้ปัญหาได้จริงแม้แต่ชุดเดียว จึงเห็นว่าคสช.ตั้งธงความคิดกับยุทธศาสตร์แก้ปัญหาประเทศผิดพลาด เพราะไปมองว่า พรรคการเมือง นักการเมืองคือที่มาของวิกฤต เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ต้องทอนอำนาจและบทบาทหน้าที่ลง ทั้งที่ความจริงแล้ว จากความล้มเหลวที่ผ่านมาจะทำให้พรรคการเมืองจะต้องปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว จึงควรจัดวางยุทธศาสตร์ให้ภาคสังคม ประชาชน เข้ามามีสิทธิอำนาจควบคู่กับความรับผิดชอบมากขึ้น โดยสร้างความเข้มแข็งเพื่อถ่วงดุลกับภาคการเมือง

ขณะเดียวกันก็ควรวางรากฐานความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเพื่อให้พ้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซ้ำซ้อน และปัญหากลุ่มอุปถัมภ์ทั้งแบบหนี้บุญคุณให้หมู่คนจน และการอุปถัมภ์ในระดับคนรวยที่เรียกว่า เป็นกลุ่มอุปถัมภ์อภิสิทธิ์ จากการสร้างเครือข่ายคอนเน็กชั่นในกลุ่มผู้มีอำนาจ 5 กลุ่มประกอบด้วย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่อยู่ในฝ่ายยุติธรรม บริหาร นิติบัญญัติ และงบประมาณ รวมถึงนักกรเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการแทคโนเครตต่างๆ ที่สร้างเครือข่ายผ่านหลักสูตรพิเศษจากหลายหน่วยงาน โดยเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากเครือข่ายเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบด้านการตัดสินคดีความ การวางโปรเจ็กต์ต่างๆ การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นไปในลักษณะเมตตามหานิยม ตอบแทนซึ่งกันและกัน และยังเป็นห่วงเรื่องการยกระดับความเลวร้าย จากความตกต่ำด้านศีลธรรม ส่งผลต่อค่านิยมที่อาจพัฒนาไปถึงขั้นว่า จำเป็นต้องโกง ไม่โกงจะถูกกลั่นแกล้งจนอยู่ไม่ได้

นายธีรยุทธเสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยให้รัฐบาลปฏิรูปประเทศ ในลักษณะให้แผนการดำเนินการไม่ใช่โปรแกรมทางความคิด โดยต้องแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางกายภาพ อาจใช้มาตรา 44 แบ่งงบประมาณไปช่วยคนจนในเรื่องปากท้อง การแก้คอร์รัปชั่น และปฏิรูปการศึกษาแบบสองทาง คือสร้างระบบจูงใจแล้วคัดกรองครู ที่จะเข้าไปในสถานศึกษา เริ่มจากจังหวัดละหนึ่งแห่ง ภาคละหนึ่งแห่งแล้วจึงขยายต่อไป รวมถึงปรับปรุงหลักสูตรให้ง่ายขึ้นเพื่อเหมาะสมกับโลกาภิวัตน์ด้วย โดยให้รัฐบาลทำเป็นเรื่องๆ เชื่อว่าภายใน 6 เดือนก็จะเห็นผล แต่การปฏิรูปจะสำเร็จก็ขึ้นกับผู้มีอำนาจมีศิลปะในการใช้อำนาจหรือไม่ และมีเจตจำนงในการปฏิรูปหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ถืออำนาจพิเศษในสถานการณ์พิเศษ ต้องยึดหลักการให้ว่าการปฏิรูปจะสำเร็จต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและต้องขยายอำนาจให้ประชาชนมาช่วยค้ำจุน อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยอาจต้องเดินไปตามบุญตามกรรม โดยไม่มีการปฏิรูปเพราะอาจเกินกำลังของกลุ่มบุคคลใด บุคคลหนึ่งเนื่องจากเมืองไทยไม่มีวัฒนธรรมที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาใหญ่ด้วยตัวเอง เชื่อว่าหลังรัฐบาล คสช.หมดอำนาจปัญหาที่มีแก้ไขหรือจัดระเบียบไป 60-70 เปอร์เซ็นต์ จะกลับมาเหมือนเดิม

สำหรับการใช้มาตรา 44 ในการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช.นั้น เห็นว่า ไม่สามารถที่จะไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ แม้ว่ารัฐบาลต่อไปจะไม่สามารถใช้อำนาจพิเศษเช่นนี้ได้ ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาหลังการเปลี่ยนผ่านอำนาจ แต่ในขณะที่มีอำนาจพิเศษก็ควรใช้ได้ดีและเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะต้องยอมรับว่าคนไทยมีลักษณะยอมรับอำนาจนิยม แต่ผู้ใช้ก็ต้องใช้อย่างถูกต้อง ส่วนกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านการใช้อำนาจพิเศษ หากทำโดยบริสุทธิ์ ตนก็เห็นใจ เพราะก็เคยผ่านการต่อสู้เช่นนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวไม่ควรมีผลประโยชน์ ขณะที่ผู้มีอำนาจก็ควรให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการด้วยเพราะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้มีอำนาจและสังคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการแถลงข่าว นายธีรยุทธได้ออกตัวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้เป็นศัตรู หรือผู้สนับสนุน คสช. แต่เป็นการทำงานทางวิชาการที่เคยทำมาตลอดทุก 1 ปี จะวิเคราะห์สถานการณ์ เพียงแต่ไม่ได้ทำมา 3 ปีแล้ว และเห็นว่าในขณะนี้มีความจำเป็นต้องแสดงความเห็นเพื่อเสนอแนะซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image