PLC มิติใหม่ นวัตกรรมเพื่อคุณภาพการศึกษาไทย : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

หลังจากท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านธีระเกียรติเดินหน้ามอบนโยบายสำคัญ เช่น น้อมนำแนวพระราชดำริสืบสานพระราชปณิธานและพระบรมราโชวาทของในหลวง ร.9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีใจความว่า “การศึกษามาสร้างพื้นฐานแก่ผู้เรียน 2 ด้านคือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ถูกต้องและสร้างพื้นฐานแก่ชีวิตและอุปนิสัย มั่นคง เข้มแข็ง อาทิ สร้างบุคลิก อุปนิสัยที่ดีงาม และครูต้องสอนให้เด็กมีน้ำใจ เช่น คนเรียนเก่ง ช่วยติวเพื่อนที่เรียนล้าหลังมิใช่สอนให้คิดแต่จะแข่งขัน (Compete) กับเพื่อน เพื่อให้คนเก่งได้ลำดับดีๆ เช่น สอบได้ที่ 1 ของชั้น แต่ต้องให้เด็กแข่งขันกับตนเอง

หากย้อนกลับไปดูด้านคุณภาพการศึกษาไทย หลังจากไทยเข้าร่วมการประเมิน PISA ปี 2543 ปรากฏว่าคุณภาพของเด็กไทยไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย จากข้อมูลพบว่านักเรียนของไทย สังกัด สช. อปท. มีคะแนนค่อนข้างต่ำมาก ส่วนกลุ่มสูง ได้แก่ โรงเรียนสาธิต โรงเรียนโครงการวิทย์และโครงการพิเศษต่างๆ ตรงข้ามที่น่าสังเกต มีนักเรียนจากกลุ่มประเทศยากจน คือ เวียดนาม จีน เอสโตเนีย ซึ่งยากจน 25% ของโลก ชนะเด็กในประเทศที่ร่ำรวย และเด็กจากเวียดนาม 77 คน ทำคะแนนติดระดับ Top ของโลก

คุณภาพการศึกษาของไทยถึงเวลาต้องคิดและหานวัตกรรมใหม่ๆ มาแก้ มาเสริม อาจจะต้องใช้เวลาเพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงศึกษาธิการได้นำหลักการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC (Professional Learning Community) มาใช้ในการพัฒนาครู เพราะครูเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณภาพทางการศึกษา ข้อมูลสำรวจจากเขตพื้นที่น่าเชื่อถือได้พบว่า 101 เขตพบว่าครูขาดเทคนิคและวิธีสอนที่ถูกต้องและเหมาะสม 61 เขต ขาดครู หรือมีแต่ไม่ครบชั้น 58 เขต ครูมีภาระงานมากเกินไป และ 31 เขต ครูขาดทักษะด้าน IT และเทคโนโลยี พร้อมสื่ออุปกรณ์

Advertisement

นอกจากนั้นยังพบว่าครูไทยเราควรได้รับการพัฒนา เช่น การออกแบบการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้เด็กเป็นสำคัญ มีความหลากหลาย ความสนใจของสภาพผู้เรียน และการเน้นผู้เรียนเป็นรายบุคคล กิจกรรมที่เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติ เช่น โครงงาน Active Learning หรือ Project Learning กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนฝึกทักษะ คิดวิเคราะห์ และรู้จักตั้งคำถาม กิจกรรมการสอนที่ใช้สื่อเทคโนโลยี กิจกรรมการสอบที่เชื่อมโยงกลุ่มสาระฯ

และกิจกรรมการติดตามประเมินผลการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และข้อมูลย้อนกลับด้านที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน มีข้อมูลที่น่าสนใจ

จากการสำรวจของเขตพื้นที่การศึกษา พบว่า

65 เขต นักเรียนขาดแรงจูงใจ ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน
51 เขต มาจากนักเรียนขาดความพร้อม ยากจน มีปัญหา
46 เขต นักเรียนขาดทักษะ การคิดและวิเคราะห์
46 เขต นักเรียนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น
43 เขต นักเรียนมีความรู้ที่แตกต่างกัน
43 เขต นักเรียนมีปัญหาการอ่าน เขียน และการสื่อสาร
12 เขต มีจำนวนนักเรียนต่อชั้นมากเกินไป

จากข้อมูลและสภาพปัญหาที่เกิดจากครู และปัญหาที่มาจากผู้เรียน กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ.และสำนักพัฒนาครู โดยมี ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ผอ.สำนัก ได้นำหลักการชุมชนแห่งการเรียนรู้ PLC มาขับเคลื่อนพัฒนาครู โดยอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 และได้เชิญท่านนราพร จันทร์โอชา ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่ทั่วประเทศ มีการทำกิจกรรม ปฏิบัติ หาปัญหาและร่วมหาแนวทางแก้ไข จัดเป็นกลุ่มเป็นเขตๆ ซึ่งการจัดครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ให้ ผอ.เขต Work Shop จากเดิมที่มักจะให้ผู้บริหารนั่งฟังจากวิทยากรบรรยาย

หลักของ PLC ต้องการพัฒนาครู พัฒนาตนเอง ใช้เครือข่ายในโรงเรียนในชุมชน เรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูล เรียนรู้จากเพื่อนครูด้วยกัน สุดท้ายร่วมกันประเมิน ร่วมกันแก้ปัญหา โดยครูไม่จำเป็นต้องทิ้งห้องเรียน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปอบรมนอกสถานที่ สามารถประหยัดงบประมาณ ประหยัดเวลา เป็นต้น

PLC จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาครูได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะสามารถทำได้ทันที การพัฒนาวิชาชีพครูจะควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้เรียน การตรวจสอบ ทบทวนการปฏิบัติงานของครู จะมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน พัฒนาครูโดยการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันปรับปรุง การทำงานของครู พัฒนาครู โดยการปฏิบัติงานจริงของครู พัฒนาครูโดยให้มีการเรียนรู้ด้วยกันแบบกัลยาณมิตร

นอกจากนั้นแล้ว สำนักพัฒนาครูได้นำแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 ซึ่งพระองค์ทรงให้หลักคิดและหลักการไว้ 9 ปัจจัย คือ

1.หลักทางภูมิสังคม คือ การสร้างความเข้มแข็งของคนในพื้นที่ต่างๆ ให้พร้อมตามสภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

2.หลักระเบิดจากข้างใน คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว ชุมชน พร้อมก่อน ออกสู่ภายนอก ไม่ใช่เอาจากข้างนอกเข้ามา ขณะที่คนในพื้นที่ไม่พร้อม

3.หลักการมีส่วนร่วม ทรงเน้นร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งครู ผู้บริหาร นักเรียนและชุมชน

4.หลักประโยชน์ส่วนรวม มุ่งเน้นให้ทุกคนเสียสละ เพื่อส่วนรวมเป็นสำคัญ ทั้งครู นักเรียน และชุมชน

5.หลักคำนึงถึงองค์รวม คือ การมองให้ทุกอย่างเชื่อมโยง ซึ่งกันและกัน ไม่แยกกันทำ แยกกันคิด ถ้าทำเช่นนี้ ก็จะสร้างปัญหา สร้างความขัดแย้ง

6.หลักทำตามลำดับขั้น คือ ต้องมีการวางแผนเป็นระบบ มีการตระหนักให้ความสำคัญ เน้นความเข้าใจกัน เห็นใจกัน เน้นความสะดวก เรียนง่าย รวดเร็วแต่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

7.หลักไม่คิดตำรา เน้นการเป็นผู้ให้ของครู การเสียสละ เปิดเผยใจที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น จากสังคม และแหล่งเรียนรู้ อื่นๆ

8.หลักการพึ่งตนเอง ทั้งครู/ผู้บริหาร/นักเรียน และชุมชน ต้องคิดต้องวางแผน หาแนวทางในการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด จะส่งผลให้ชุมชนและชาติเข้มแข็ง

9.หลักการประหยัดและเรียบง่าย ใช้หลักคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง พึ่งพาตนเอง ส่งผลให้ไม่เสียเวลา ไม่เสียเงิน

จะเห็นได้ว่าการที่กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. สำนักพัฒนาครู ได้คิดนวัตกรรม PLC เข้ามามีบทบาทผลักดัน เพื่อพัฒนาครู นับว่าเป็นแนวทางใหม่ มิติใหม่ ในการปฏิรูปการศึกษา เพราะกับดักหนึ่ง ของการศึกษาไทย คือครูจะต้องมีความรู้ และปรับเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกด้วย และที่ต้องชื่นชมเป็นพิเศษ คือ กระทรวงศึกษาธิการจะส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมครู ทุก 5 ปี 10 ปี 20 ปี และให้ครูทุกคนได้รับการพัฒนา โดยกระทรวงจะจัดสรรงบประมาณเป็นรายหัว หัวละ 10,000 บาท ให้กับครูทุกคน สำหรับการอบรมและพัฒนา และที่น่าชื่นชมแนวคิดนี้เป็นการสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) ด้านที่ 3 และที่ 4 คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน เพื่อพัฒนาคนและเสริมสร้างศักยภาพคน เพื่อพัฒนาคนและสังคมไทย

ขอชื่นชมท่านธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์, ท่านนราพร จันทร์โอชา, ท่านการุณ สกุลประดิษฐ์, ท่านบุญรักษ์ ยอดเพชร รวมถึงทีมงานมูลนิธิยุวสถิรคุณ นำโดย ม.ล.ปริยดา ดิศกุล และชื่นชม ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ผอ. ส.พ.ค. สพฐ. และคณะที่ได้คิด ได้สร้างนวัตกรรม PLC มาขับเคลื่อน เพื่อคุณภาพการศึกษาของไทย ให้ออกจากห้อง ICU

นี่คือความหวัง แต่สิ่งที่ผู้เขียนห่วงใยอยู่เสมอว่าเรามีโครงการและนวัตกรรมดีๆ มากมาย กลัวอย่างเดียว คิดแล้วตั้งคิดแล้ววางคิดแล้วไม่มีใครขับเคลื่อน และติดตามงานนี้ ผอ.เขตทุกเขตต้องรับผิดชอบเต็มตัว งานนี้ถ้า ผอ.เขตเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจังและจริงใจ แล้วเชื่อว่า PLC คือ นวัตกรรมใหม่ เพื่อการศึกษาไทยอย่างแท้จริง

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ โรงเรียนดาวนายร้อย
และกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนวรนารีเฉลิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image