โสเภณีในมุมกว้าง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ไม่น่าจะมีใครแปลกใจต่อปฏิกิริยาของหัวหน้าคณะรัฐประหารที่มีต่อรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า พัทยาเป็นเมืองหลวงของการค้ากาม … เพราะจะหวังให้เป็นอื่นได้อย่างไร

แต่แทนที่การชำระล้างภาพพจน์ของประเทศไทยด้วยคำพูดที่ไม่ต้องคิด เรามาดูธุรกิจโสเภณีในประเทศไทยอย่างซึ่งๆ หน้า อาจมองเห็นอะไรมากกว่ากฎหมายและศีลธรรม ที่จะนำมาคุยต่อไปนี้ ผมอาศัยข้อมูลจากสกู๊ปอันดีเยี่ยมของคุณชัยยศ ยงเจริญชัย ซึ่งเผยแพร่ในบางกอกโพสต์ออนไลน์ในวันที่ 26 ก.พ.2560

ผมเริ่มสนใจ “ปัญหาโสเภณี” มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2500 เมื่อประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งโสเภณีใหญ่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย (ญี่ปุ่น, เกาหลีและแน่นอนเวียดนามใต้ก็เคยครองตำแหน่งนี้ แต่ทั้งหมดเป็นผลมาจากสงคราม เมืองไทยไม่ได้เผชิญสงครามอย่างน้อยก็โดยตรง จึงนับว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ) แต่เมื่อศึกษาไปมากขึ้นก็พบว่า เรื่องมันซับซ้อนกว่า “ปัญหา” เพราะถ้าเราตั้งคำถามการศึกษาที่ “ปัญหา” ก็เท่ากับเราจำกัดคำตอบไว้แล้วตั้งแต่ต้น ไม่มีทางจะมองเห็นภาพที่กว้างกว่ากฎหมายและศีลธรรมไปได้

ยิ่งสนใจมากขึ้น ก็ยิ่งพบงานศึกษาของคนอื่น และพบว่ามีมิติอื่นๆ อีกมากในเรื่องนี้ ที่ผมนึกไปไม่ถึง นับตั้งแต่เพศสภาพ, เพศวิถี, วัฒนธรรม, เศรษฐกิจชนบท, ฯลฯ จนกระทั่งท้อใจ และเลิกติดตามไปนานหลายสิบปี เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ บางส่วนก็มาจากข้อมูล “โบราณ” ซึ่งอาจไม่จริงตามนั้นอีกแล้วก็ได้

Advertisement

ประเทศไหนๆ ในโลกก็ล้วนมีธุรกิจค้ากาม พูดอีกอย่างหนึ่ง เมืองใหญ่ที่ไหนๆ ในโลกปัจจุบันและอดีต ก็มีธุรกิจค้ากาม เพราะการค้ากามเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเมือง แต่การค้ากามในเมืองไทยปัจจุบัน (ตั้งแต่ช่วงประมาณ 2500 เป็นต้นมา) มีลักษณะผิดแผกจากเมืองใหญ่ในโลกทั่วไป คือมีการกระจุกตัวในบางเมืองจนธุรกิจประเภทนี้กลายเป็นตัวแทนของเมืองไปเลย เช่นพัทยา (และกรุงเทพฯ ในสมัยหนึ่ง) พอตกค่ำ กิจกรรมของเมืองทั้งเมืองล้วนเกี่ยวเนื่องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการค้ากาม ในขณะที่ในเมืองใหญ่อื่นๆ ธุรกิจค้ากามมักจำกัดตัวอยู่ในเขตที่เรียกว่า “โคมแดง” (หรือในเมืองไทยสมัยก่อนเป็น “โคมเขียว”) เท่านั้น

ลักษณะที่ผิดแผกเช่นนี้ สะท้อนว่าธุรกิจค้ากามในเมืองไทยสัมพันธ์ระดับโครงสร้างกับสังคมโดยรวม ไม่ใช่กิจกรรมที่บุคคลบางกลุ่มบางเหล่าเลือกทำด้วยเหตุผลเฉพาะตน

ลักษณะพิเศษของธุรกิจค้ากามไทยยังเห็นได้อีกด้านหนึ่งจากการที่ในเมืองเช่นพัทยา ลูกค้าส่วนใหญ่คือชาวต่างชาติ จีไอที่ถูกส่งมาพักผ่อน (หลังสงครามเวียดนามคือทหารนานาชาติที่เข้ามาฝึกคอบร้าโกลด์) หรือนักท่องเที่ยว ถึงมีคนไทยผสมอยู่ด้วย ก็มีจำนวนน้อย เพราะราคาบริการที่ตั้งกันในพัทยาเหมาะกับฐานะทางเศรษฐกิจของนักท่องเที่ยวมากกว่า ธุรกิจค้ากามในพัทยาไปผูกอยู่กับการท่องเที่ยวอย่างแยกไม่ออก หากการท่องเที่ยวสะดุดหยุดลง ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจค้ากามเท่านั้นที่ต้องเผชิญวิกฤตอย่างหนัก แต่ธุรกิจอื่นๆ ก็โดนผลกระทบอย่างรุนแรงไปด้วย เพราะส่วนใหญ่ของธุรกิจกลางคืนผูกตัวเองเข้ากับธุรกิจค้ากามดังที่กล่าวแล้ว

Advertisement

เมืองท่องเที่ยวโดยทั่วไป มีลูกค้าผสมคือทั้งนักท่องเที่ยวและชาวพื้นเมือง (ในหรือนอกท้องถิ่น) หากการท่องเที่ยวหยุดชะงักลง ก็ยังพออยู่รอดได้ระยะหนึ่งซึ่งอาจยาวพอสมควรทีเดียว รวมทั้งธุรกิจค้ากามก็ยังพอมีเวลาขยับขยายย้ายไปยังแหล่งอื่นได้

ผมไม่ได้หมายความว่าผู้ชายไทยไม่ซื้อกามนะครับ แต่ก็ซื้อตามแหล่งค้ากามในเมืองต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ ไม่ได้ซื้อในแหล่งที่มีการกระจุกตัวของธุรกิจประเภทนี้ในเมืองท่องเที่ยว อันที่จริงผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ตลาดของการค้ากามแก่คนพื้นถิ่นในประเทศไทยนั้นอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองในประเทศอื่นๆ ทั่วไป และตลาด “ภายใน” นี้ก็มีส่วนช่วยให้ธุรกิจค้ากามโดยรวมของไทยมีความยืดหยุ่นรับความผันผวนของธุรกิจท่องเที่ยวได้ดีขึ้น

หลังคำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้า คสช. สารวัตรตำรวจเมืองพัทยาก็ให้สัมภาษณ์ว่า สื่ออังกฤษเต้าตัวเลขเอง เพราะพัทยามิได้มีแรงงานในธุรกิจค้ากามมากถึง 27,000 คนหรอก ยิ่งกว่านี้ท่านยังกล่าวว่า ทางตำรวจได้พยายามควบคุมธุรกิจประเภทนี้ไว้ในระเบียบและกฎหมาย เช่นแหล่งบันเทิงต่างๆ รวมทั้งไม่ให้มีการเร่ขายตัวตามท้องถนน ส่วนการที่ผู้หญิงไทยเกิดไปชอบพอกับชาวต่างชาติ และไปมีเพศสัมพันธ์กันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเธอ ไม่เกี่ยวอะไรกับตำรวจ ตราบเท่าที่เขาทำอะไรกันในที่ลับ

เรื่องที่ลับที่แจ้งนี้ มีความหมายมากกว่าการควบคุมความอุจาด

น่าประหลาดที่ มุมมองต่อธุรกิจค้ากามในพัทยาเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่พัทยาเริ่มเฟื่องฟูด้วยธุรกิจนี้ เมื่อไทยทำข้อตกลงเปิดให้สหรัฐส่งจีไอมา “พักผ่อน” ในไทย ตั้งแต่ 2503 แล้ว

เราไม่รังเกียจการค้าประเวณี แต่รังเกียจความประเจิดประเจ้อของการซื้อขายในธุรกิจประเภทนี้ เพราะความน่ารังเกียจของการค้าประเวณี ไม่ได้อยู่ที่สองคนทำกิจกรรมทางเพศ แต่อยู่ที่เบื้องหลังความไม่เป็นธรรมทางสังคมต่างหาก เราไม่อยากมองตรงนี้ และไม่อยากให้คนอื่นเห็นตรงนี้เหมือนกัน

การจัดการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณี จึงกระทำด้วยหลักการข้างต้น การค้าหรือจัดให้ค้าประเวณีเป็นความผิดอาญา นับเป็นข้อกำหนดที่ลงโทษแรงงานในอาชีพนี้โดยยังไม่ถูกจับกุม เพราะเขาและเธอย่อมตกเป็นเหยื่อของหลายฝ่าย เพราะลอนอำนาจต่อรองของแรงงานในอาชีพนี้ไปจนสิ้นเชิง นับตั้งแต่ตำรวจ, ผู้ประกอบการหรือนายทุน, และลูกค้า และในความเป็นจริง คนทั้งสามกลุ่มนี้ก็ล้วนเอาเปรียบแรงงานในอาชีพนี้มากบ้าง น้อยบ้าง ทั้งสิ้น

แต่การจัดการด้านกฎหมายเช่นนี้ ย่อมดูดีจากภายนอกเท่านั้น เพราะเท่ากับ”ไม่มี”การค้าประเวณีที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย แม้ในความจริง ธุรกิจนี้เฟื่องฟูขนาดที่เมืองในประเทศไทยถูกชาวต่างชาติมองว่าเป็นนครหลวงแห่งธุรกิจค้ากามของโลก แต่กฎหมายทำให้สถานะนี้ไม่ประเจิดประเจ้อ เหมือน Happy Zone ในพัทยา ทุกอย่างดูถูกระเบียบ, รัดกุม, ถูกต้องดีงามไปหมด แต่ธุรกิจดำเนินต่อไปได้เป็นปรกติ เพราะมันมีแต่การใช้สิทธิส่วนตัว ตั้งแต่ตัดสินใจร่วมเพศกัน และตัดสินใจอนุเคราะห์กันด้วยเงินตรา

ไม่มีใครสนใจมองความผิดปรกติเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ทำให้เกิดโสเภณีเต็มเมือง หากเกิดความอื้อฉาวขึ้น ผู้ปกครองก็เพียงแต่ส่งสัญญาณให้ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ความผิดตกเป็นของบุคคลที่ค้าประเวณี เพราะเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย

แต่ความผิดปกติเชิงโครงสร้างก็ยังมีอยู่ และมีคนมองเห็นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานด้านธุรกิจค้ากาม คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม
ผู้อำนวยการมูลนิธิแรงงานภาคบริการกล่าวว่า ความจริงแล้วมีโสเภณีในพัทยามากกว่าที่สื่อฝรั่งประเมินไว้เสียอีก แต่จำนวนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ถึงจะปราบปรามอย่างไรก็ไม่ได้แก้ปัญหานอกจากทำให้คนเหล่านี้ตกงานและไม่มีเงิน ประเด็นที่แท้จริงอยู่ที่ว่า “รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ซึ่งบีบบังคับให้คนจำนวนมากต้องหันเข้าสู่อาชีพ
สกปรกนี้”

ผมจำได้ว่า หลายสิบปีมาแล้ว ผมเคยอ่านผลงานวิจัยของใครก็จำไม่ได้แล้ว ที่สำรวจคนในอาชีพนี้จำนวนหนึ่ง เพื่อหาเหตุปัจจัยที่ทำให้พวกเธอตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ ความยากจนถูกจัดเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคนจนทั้งหมดต้องหันเข้าหาอาชีพนี้ ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ช่วยทำให้ทางเลือกของคนจนมีจำกัด และยังมีเหตุปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้คนจนบางคนตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้ ในบรรดาเส้นทางที่มีไม่มากนัก แต่ความยากจนเป็นเหตุปัจจัยหลัก

สถานการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างแล้ว ผมไม่ทราบ มีงานวิจัยทำนองเดียวกันที่ทำในรุ่นหลัง ซึ่งสื่อรายงานว่าข้อสรุปก็คือ เด็กสาวในสมัยหลังไม่ได้เลือกอาชีพนี้เพราะจน แต่เพราะอยากรวยต่างหาก ผมไม่ได้อ่านงานวิจัยชิ้นนั้น และไม่แน่ใจว่าสื่อรายงานผลการวิจัยได้ตรง หรือแค่ขอเสนอข่าวให้คนชั้นกลางซึ่งเป็นลูกค้าของสื่อถูกใจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้เพียงอยากรวย ผมก็อยากทราบว่าความอยากรวยนั้นสัมพันธ์กับความยากจนหรือไม่ และอย่างไร (เช่นมีเด็กสาว 10 คนที่อยากรวย แต่มีคนหนึ่งที่เลือกเส้นทางนี้ ทำไม?)

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากชวนให้มองสถานการณ์ของคนจนในประเทศไทยปัจจุบัน ว่าเงื่อนไขในชีวิตของเขามีส่วนผลักดันให้เข้าสู่อาชีพนี้ได้อย่างไร ทั้งเพราะจน และอยากรวย

ใครคือคนจนในประเทศไทยปัจจุบัน ผมขอตอบว่าแรงงานภาคการเกษตรในชนบท (โดยเปรียบเทียบ เขามีโอกาสในการทำรายได้น้อยกว่าคนจนเมืองซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก) โดยมากของคนเหล่านี้ไม่มีที่ดินเพื่อการเกษตรของตนเอง และด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ไม่อยู่ในฐานะจะหางานนอกภาคการเกษตรได้ ทำให้เขามีงานทำตามฤดูกาลเท่านั้น รายได้จึงต่ำมาก

คนจนเช่นนี้มีจำนวนลดลงในประเทศไทยจนเหลือเป็นเพียงคนส่วนน้อย นั่นหมายความว่าในชีวิตจริง เขาต้องซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคในราคาที่แข่งกับเพื่อนบ้านซึ่งมีฐานะดีกว่าเขาทั้งนั้น เพราะไม่มีผู้ผลิตรายใดสนใจจะผลิตสินค้าป้อนแก่พวกเขาซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นตลาดเล็กนิดเดียว ซ้ำยังกระจายไปทั่วภาคชนบทไทย ดังนั้น แม้แต่ประหยัดที่สุดแล้ว ก็ยังต้องซื้อบะหมี่สำเร็จรูปซึ่งราคาไม่เหมาะกับรายได้ของเขาอยู่ดี

การไม่มีที่ทำกินของตนเองนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก แม้ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ฐานะของเกษตรกรไทยดีขึ้นอย่างมากเพราะการช่วยเหลือจากรัฐ แต่การช่วยเหลือเหล่านี้มีฐานอยู่ที่การมีที่ดินของตนเอง (หรือมีทุนพอจะเช่า) เช่นการอุดหนุนราคาพืชผลการเกษตร ย่อมให้แก่เกษตรกรที่มีกำลังผลิต ไม่ได้ให้แก่แรงงานซึ่งไม่ได้เป็นผู้ผลิตสู่ตลาด ความช่วยเหลืออื่นเช่นเมล็ดพันธุ์, น้ำ, ปุ๋ย, หรือความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแผนใหม่ ย่อมมุ่งไปยังเกษตรกรที่ทำการผลิต ไม่ใช่แก่แรงงาน จนในที่สุด แม้แต่การทำมาค้าขายของธุรกิจเกษตร เช่นการทำเกษตรพันธสัญญา ก็ย่อมทำกับเกษตรกรที่มีที่ดินในการเพาะปลูกหรือผลิต ดังนั้น แรงงานภาคเกษตรจึงไม่ได้รับอานิสงส์จากความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรกรรมนัก

ในทางตรงกันข้าม เพราะความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งการใช้เครื่องจักรในการผลิตมากขึ้น ยิ่งทำให้งานรับจ้างของแรงงานลดลง เพราะยากจนจึงอาจไม่ได้ส่งเสียให้บุตรหลานได้รับการศึกษาเพียงพอ (เช่น จบ ม.3 เพื่อทำงานโรงงานได้) ทำให้กำลังเลี้ยงปากท้องของครอบครัวต้องดักดานอยู่กับงานรับจ้างภาคเกษตรอยู่อย่างนั้นต่อไป ลูกสาวของเขาอาจแต่งงานเร็วและตั้งครรภ์ตั้งแต่วัยค่อนเยาว์ เพราะการแต่งงาน (หรือการมีสามี) ในครอบครัวคนจน หมายถึงช่วยลดปากท้องให้แก่ครอบครัว และอิสรภาพที่เพิ่มขึ้นของตัวผู้หญิงเอง เพราะวัยที่เยาว์ ก็มักทำให้ครอบครัวแตกแยก ในที่สุดกลับต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อสามีทิ้งไป

ในขณะที่ฐานะเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านดีขึ้นเห็นๆ เด็กในวัยเดียวกันกับลูกหลานคนจนใช้ชีวิตอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งใกล้เคียงกับเด็กในวัยเดียวกันของคนชั้นกลางในเมือง จะให้ลูกหลานของคนจนคิดฝันอะไรได้ นอกจากโอกาสของการ “เงยหน้าอ้าปาก” ให้เหมือนคนอื่นเขา ความ “อยากรวย” ของเด็กสาวลูกคนจนจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ ถึงอย่างไรชีวิตของคนจนในหมู่บ้านที่พอมีอันจะกิน ก็เป็นเสนียดอยู่แล้ว

หากโสเภณีที่มาจากครอบครัวคนจนดังที่กล่าวนี้ ได้อ่านหนังสือพิมพ์และพบว่า ผู้บริหารบ้านเมืองรู้สึกอับอายที่เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นนครหลวงของการค้ากาม ไม่แน่นะครับ เธออาจรู้สึกสะใจอยู่ลึกๆ ก็ได้ นี่คือ Weapons of the Weak หรืออาวุธของคนอ่อนแอ ที่ใช้ตอบโต้ความอยุติธรรมที่ต้องเผชิญมาตลอดชีวิตได้ดีอย่างคาดไม่ถึง

เรื่องธุรกิจค้ากามอาจมีมุมมองได้กว้างกว่ากฎหมายและศีลธรรม ผู้บริหารบ้านเมืองเหนือนายจ่าตำรวจขึ้นไป ควรมีมุมมองที่กว้างเช่นนี้ ไม่ว่าในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งชาวนาไร้ที่ดินไว้โดยไม่เหลียวแล หรือการปล่อยให้แรงงานภาคบริการต้องเผชิญโรคภัยไข้เจ็บที่อาจป้องกันได้ การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่ การถูกเอารัดเอาเปรียบจากทุน และการถูกทารุณกรรมโดยลูกค้า

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image