นักวิทย์ฮาวาร์ดค้นพบวิธีใช้ ‘สเต็มเซลล์’ รักษา ‘หูหนวก’

(ภาพ-pixabay)

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสำนักการแพทย์ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา นำโดย รองศาสตราจารย์ เจฟฟรีย์ คาร์ป นักวิชาการประจำโรงพยาบาลบริกแฮมแอนด์วีเมนส์ของสำนักการแพทย์ เผยแพร่ผลงานการค้นพบวิธีใหม่ในการรักษาอาการสูญเสียการได้ยินของมนุษย์โดยอาศัยสเต็มเซลล์ ในวารสารวิชาการเซลล์รีพอร์ต เมื่อเร็วๆ นี้

ภายในหูชั้นใน (คอคเคลีย) ของคนเราจะมีเซลล์สำหรับสร้างขนขนาดเล็กอยู่ราว 15,000 เซลล์ เส้นขนขนาดเล็กดังกล่าวแต่ละเส้นจะทำหน้าที่เป็นตัวจับการสั่นสะเทือนของอากาศที่ก่อให้เกิดเสียง เปลี่ยนการสั่นสะเทือนดังกล่าวเป็นสัญญาณไฟฟ้าซึ่งจะส่งไปยังสมองที่จะประมวลผลเป็นการได้ยินขึ้นมา

การสูญเสียการได้ยินเกิดขึ้นกับคนเป็นจำนวนมาก ประเมินกันว่ามีคนมากถึง 360 ล้านคนทั่วโลกมีปัญหาดังกล่าวนี้จากหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การฟังเสียงดังมากๆ นานเกินไป เรื่อยไปจนถึงการเกิดผลกระทบจากรับประทานยาหรือการรักษาทางการแพทย์ และความชราภาพ จะส่งผลให้เซลล์สร้างขนขนาดเล็กในหูชั้นในดังกล่าวตายลง ในสัตว์อื่นๆ หลายชนิดจะสามารถฟื้นฟูการได้ยินได้ด้วยการสร้างขนขนาดเล็กดังกล่าวขึ้นมาใหม่ แต่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความสามารถในการได้ยินเกิดขึ้นตามมา

คาร์ปและทีมวิจัยของฮาร์วาร์ด สามารถกระตุ้นให้เส้นขนเล็กๆ ดังกล่าวงอกขึ้นมาใหม่ได้ โดยการกระตุ้นสเต็มเซลล์ในคอคเคลีย ที่เรียกว่า “แอลจีอาร์5” ด้วยกระบวนการบำบัดด้วยยาที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก “แอลจีอาร์5” เป็นสเต็มเซลล์แบบเดียวกับที่พบในระบบลำไส้ของคนเรา ทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างพื้นผิวภายนอกของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายขึ้นมาใหม่ในทุกๆ 5 วัน

Advertisement

ทีมวิจัยยังได้รับบริจาคหูชั้นในของมนุษย์จากผู้ป่วยมะเร็งรายหนึ่ง สำหรับใช้ในการทดลองครั้งนี้ที่แสดงให้เห็นว่าวิธีการใช้ยากระตุ้นดังกล่าวนี้สามารถช่วยให้เส้นขนในคอคเคลียงอกใหม่ขึ้นมาได้สำเร็จ

คาร์ปและทีมวิจัยกำหนดการทดลองขั้นต่อไป โดยเริ่มนำเอาข้อมูลทั้งหมดมาใช้ในการทดลองเชิงคลินิกในผู้ป่วยที่เป็นมนุษย์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มระยะแรกได้ภายใน 18 เดือนข้างหน้า หลังจากนั้นก็อาจให้บริการบำบัดนี้ผ่านทางบริษัทเริ่มต้นกิจการ (สตาร์ตอัพ) ที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้นใช้ชื่อว่า “ฟรีเควนซี เธอราพิวติคส์” ต่อไป

นิโคลัว รีด ผู้สอนวิชาการแพทย์ด้านโสตศอนาสิก ประจำสำนักการแพทย์จอห์นส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ยอมรับว่าวิธีการบำบัดการสูญเสียการได้ยินของทีมวิจัยนี้ ถือเป็นวิธีการแบบใหม่ที่เป็นกระบวนการตามธรรมชาติ และจากการพิจารณากระบวนการทั้งหมดก็ยังไม่เห็นประเด็นในเชิงลบใดๆ

Advertisement

ในขณะที่ ลาร์รี เมดเวทสกี ประธานภาควิชาวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการได้ยิน การพูดและภาษา ของมหาวิทยาลัยกัลลอเดท ในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า การสูญเสียการได้ยินไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะเป็นอาการเบื้องต้นที่จะนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ เมื่ออายุมากขึ้น รวมทั้ง อัลไซเมอร์, ทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มหรืออื่นๆ และก่อให้เกิดภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม

หากวิธีการนี้ใช้ได้จริงก็จะเป็นการช่วยยกระดับ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนเป็นจำนวนมากดีขึ้นได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image