เผย ‘บิ๊กตู่’ ย้ำปฏิรูปประเทศเริ่มที่ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ สกศ.รุก 7 แนวทางรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอและร่างกฎหมายเกี่ยวกับแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาของ กมธ.การศึกษาฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกรณีที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงประชามติ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงมา การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาถือว่ามีความพร้อมมากที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมีบัญญัติเป็นเจตนารมย์ด้านการศึกษาไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 54 และมาตรา 258 จ เป็นหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของชาติ ซึ่งข้อเสนอของ กมธ.การศึกษาฯ ที่ส่งเรื่องถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนใหญ่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการได้ทั้งสิ้น เนื่องจากสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560-2579 และจำเป็นต้องมีแผนการศึกษาแห่งชาติระยะ 20 ปี เป็นหลัก เพื่อสร้างความต่อเนื่องของนโยบายและยุทธศาสตร์การศึกษาชาติในระยะยาว และไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทางการเมือง จึงสามารถพัฒนาคนไทยที่มีคุณภาพสูงแบบเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือฟินแลนด์ เป็นต้น

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอถึงแนวทางปฎิรูปประเทศในทุกด้านต้องเริ่มจากปฏิรูปการศึกษาเสียก่อน จึงให้นโยบายช่วยกันส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานำไปสู่การสร้างนวัติกรรม การเร่งปฎิรูปการศึกษา และการปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ยุคดิจิทัล จึงจะสนองนโยบายประเทศไทย 4.0 ได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน” นายตวงกล่าว

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สกศ.ได้รับมอบจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการรับหลักการและข้อเสนอของ กมธ.การศึกษาฯ ตามนโยบายของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ โดยพิจารณาข้อเสนอร่วมกับผู้แทนกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องใน 7 วาระสำคัญ คือ 1.การดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก 2.กองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนและกองทุนเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพครู 3.การพัฒนากลไกและพัฒนาระบบผลิตครู 4.ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน 5.การปรับโครงสร้างบริหารจัดการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6.การปรับปรุงระบบการวิจัย เทคโนโลยีการศึกษา สื่อ และแหล่งเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และ 7.การจัดการอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อพัฒนากำลังคน และรองรับการพัฒนาประเทศ โดย สกศ.จะเร่งสรุปผลการพิจารณา ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ และความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อนำเสนอ ครม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image