‘ห้ามเจ็บ ห้ามตาย ห้ามมีปากเสียง’ มองความเป็นธรรมในปัญหาแรงงาน

ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมของแรงงานเป็นเรื่องที่มีการศึกษาและต่อสู้กันมายาวนาน เพราะแต่ละฝ่ายย่อมมีความต้องการหลากหลาย ลูกจ้างย่อมต้องการค่าตอบแทนที่เพียงพอ แต่หากขึ้นสูงก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มและไม่ดึงดูดการลงทุน

ปัญหามีมากมายหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ไม่แน่นอน และเข้าถึงการคุ้มครองและสวัสดิการของภาครัฐได้ยาก

ประเด็นส่วนหนึ่งจากการสนทนาภาคีความเป็นธรรม “…นอกระบบ : ห้ามเจ็บ ห้ามตาย ห้ามเถียง” ซึ่งทางเครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรมได้ทำรายงานสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมออกมา

17098176_10212665765857905_6173821620179524777_n

Advertisement

แรงงานนอกระบบ ไม่จ่ายภาษีทำไมต้องดูแล?

ดร.ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ นำเสนอรายงานซึ่งเกิดจากการทำวิจัย โดยชี้ว่าปัญหาเรื่องแรงงานนอกระบบเป็นประเด็นสำคัญ แต่ความเป็นจริงที่พบคือ บางคนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นแรงงานนอกระบบหรือในระบบ

“เราพยายามทำให้เห็นว่าใครเป็นแรงงานนอกระบบ บางคนไม่คิดว่าตัวเองเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น ฟรีแลนซ์ที่คิดว่าตัวเองมีสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน”

แรงงานนอกระบบเป็นคำที่ถูกใช้เมื่อไม่นานมานี้ หมายถึงคนที่ไม่อยู่ในระบบการจ้างงาน ที่มีการคุ้มครองแรงงานหรือไม่มีหลักประกันจากการทำงาน อาจเรียกได้ว่าเป็นแรงงานที่ทำงานอยู่ในระบบเศรษฐกิจนอกภาคทางการ ไม่มีการลงทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไปโดยปริยาย

แม่ค้าหาบเร่ วินมอเตอร์ไซค์ แรงงานก่อสร้าง ล้วนเป็นแรงงานนอกระบบที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกภาคทางการ

“เราบอกว่าแรงงานนอกระบบไม่จ่ายภาษีเพราะไม่ลงทะเบียนแล้วทำไมต้องดูแล แต่เมื่อดูตัวเลขคนเสียภาษีอากรจริงมีอยู่จำนวนไม่มาก เพราะรายได้ไม่ถึง เช่น เงินเดือนไม่ถึง 25,833 บาท รายงานข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้ประจำปี 2555 ระบุว่ามีผู้เสียภาษีเพียง 3.25 ล้านคน จากจำนวนผู้ยื่นภาษี 10 ล้านคน หมายความว่าแรงงานในระบบ 6.5 ล้านคนก็ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ด้วยเช่นกัน

“การบอกว่าแรงงานนอกระบบไม่ได้เสียภาษีเงินได้จึงไม่ต้องดูแลเท่าผู้จ่ายภาษีเป็นแนวคิดผิดเพี้ยน เพราะแรงงานในระบบส่วนมากก็มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีเงินได้ และไม่ว่าใครก็ต้องเสียภาษีทางอ้อมในรูปแบบอื่นๆ ด้วยกันทั้งสิ้น”

ชาวนา แรงงาน เกษตรกร ชนบท

รายงานการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2558 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าแรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งมีการศึกษาไม่เกินประถมศึกษา และมีค่าเฉลี่ยอายุค่อนข้างสูง

“แล้วแรงงานนอกระบบจะอยู่อย่างไร ยกตัวอย่างว่า หากเป็นคนสูงอายุ การศึกษาน้อย แล้วเจ็บป่วย ไม่มีรายได้แน่นอน ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมและเป็นหนี้ สถานการณ์แรงงานไทย 38 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 21 ล้านคน ค่าเฉลี่ยรายได้ประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน ปัญหาที่พบส่วนมากคืออุบัติเหตุในที่ทำงาน ขณะที่สวัสดิการเข้าไม่ถึง ขณะที่มีประกันสังคมมาตรา 40 ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ แต่คนทำงานค่าแรงวันละ 300 บาท จะส่งเงินประกันสังคมได้ไหม ขณะที่สิทธิประโยชน์น้อยกว่า และเมื่ออายุมากกว่า 60 ปีก็จะหลุดออกจากประกันสังคม ต้องพึ่งตัวเอง คนกลุ่มนี้จึงไร้เสียงและไร้ตัวตน”

สถานการณ์ความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏผ่านแรงงานนอกระบบในภาพรวมคือ 1.ทำงานหนักแต่รายได้น้อยและรายจ่ายกับหนี้สินมาก 2.มีความเสี่ยงจากการทำงาน มีเพียงส่วนน้อยที่เข้าถึงสวัสดิการคนทำงาน 3.การไร้ตัวตนถูกมองข้าม ทำให้ไร้ปากเสียง ไร้อำนาจต่อรอง ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเข้าไม่ถึงพื้นที่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่กระทบกับตนเอง

“การยกระดับความเป็นธรรม ต้องเริ่มด้วยการทำให้นโยบายคุ้มครองคนทำงานที่มีอยู่เดิมครอบคลุมแรงงานนอกระบบได้มากขึ้น สอดคล้องกับธรรมชาติของแรงงานนอกระบบ และทำให้คนทำงานทุกคนทั้งนอกระบบและในระบบเข้าถึงคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน” ดร.ศยามลกล่าว

ศยามล เจริญรัตน์-แล ดิลกวิทยรัตน์-ธานี ชัยวัฒน์
ศยามล เจริญรัตน์-แล ดิลกวิทยรัตน์-ธานี ชัยวัฒน์

รายได้ที่เพียงพอ แค่ไหนถึงพอ?

ค่าแรงขั้นต่ำซึ่งเป็นจำนวนน้อยที่สุดตามกฎหมายกำหนด แต่หากมองว่าต้องหาเงินได้เดือนละเท่าไหร่จึงจะสามารถมีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาจต้องดูจาก “รายได้ที่เพียงพอ” ซึ่งแตกต่างไปตามแต่ละพื้นที่

ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สรุปเอกสารเรื่อง “การทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับรายได้ที่เพียงพอของแรงงานและบททดลองการคำนวณระดับรายได้ที่เพียงพอของแรงงานไทย” โดย ปรเมศร์ รังสิพล, แบ๊งค์ งามอรุณโชติ และถิรภาพ ฟักทอง

เริ่มจากนิยามของรายได้ที่เพียงพอ มีความเป็นจริงที่สังคมต้องยอมรับ

1.นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกกำหนดขึ้น “ไม่เท่ากับ” ต้นทุนการใช้ชีวิตที่แท้จริงซึ่งแรงงานต้องแบกรับ
2.หลักเกณฑ์ซึ่งถูกจัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดคือ เส้นความยากจน (poverty line) โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งคำนวณภายใต้แนวคิดมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำของสังคม

“รายได้ที่เพียงพอคือระดับรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูแรงงานและครอบครัวของพวกเขาได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สามารถใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมในพื้นที่ของตน”

บททดลองการคำนวณรายได้ที่เพียงพอในประเทศไทย คณะผู้วิจัยคำนวณจากค่าใช้จ่าย 11 หมวด 1.อาหารและเครื่องดื่มทุกประเภท 2.ที่อยู่อาศัย 3.เครื่องแต่งบ้านเบ็ดเตล็ด และการดำเนินการในครัวเรือน 4.เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย 5.ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล 6.ค่ายาและเวชภัณฑ์ 7.การซื้อ/ซ่อมพาหนะและการเดินทาง 8.การท่องเที่ยว 9.ค่าบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต 10.การอ่าน บันเทิง กิจกรรมทางศาสนา 11.เงินออม

ผลลัพธ์การคำนวณรายได้ที่เพียงพอต่อเดือนของประเทศไทยปี พ.ศ.2556 พบว่า กทม.และปริมณฑล 12,509 บาท ภาคกลาง 8,807 บาท ภาคเหนือ 5,103 บาท ภาคอีสาน 5,913 บาท ภาคใต้ 8,191 บาท เฉลี่ย 8,857 บาท

ซึ่งเป็นการคำนวณโดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2556

โดย อ.ธานีมีข้อเสนอแนะต่อการคำนวณนี้หลายประเด็น เช่น การใช้ระดับรายได้ที่เพียงพอมีข้อดีคือ ไม่ต้องไปผูกโยงกับการประเมินระดับการพัฒนาขององค์กรระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่การถกเถียงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนา

“ระดับรายได้ที่เพียงพออย่าง ‘สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ นั้น หมายถึงการดำรงอยู่อย่างเป็นปัจเจกหรือการดำรงอยู่ในสังคม เพราะสังคมไทยให้ความสำคัญกับชุมชนมาก ถ้าเน้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในมิติชุมชนก็จะมีค่าใช้จ่ายทางสังคมเพิ่มเข้ามา

“อีกทั้งมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมในพื้นที่อาจต้องมีการสำรวจละเอียด เช่น พื้นที่ที่มีโรงพยาบาลรัฐตั้งอยู่อาจมีค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลถูกลง หรือพื้นที่เมืองที่มีค่าใช้จ่ายการเดินทางสูงกว่า อาจต้องมีหน่วยงานเก็บข้อมูลอย่างละเอียด

“การพัฒนาที่เน้นความเท่าเทียมเชิงพื้นที่จะช่วยทำรายได้ที่เพียงพอมีความใกล้เคียงกันระหว่างพื้นที่ การย้ายถิ่นฐานจะลดลง ความขัดแย้งจะลดลง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สูงขึ้น” ธานีกล่าว

วินมอเตอร์ไซค์ จักรยานยนต์รับจ้าง แรงงานนอกระบบ

สู้ด้วยวาทกรรม อีกทางเคลื่อนปัญหาแรงงาน

“เวลาพูดถึงปัญหาแรงงานนอกระบบที่ลูกจ้างไม่มีช่องทางเข้าถึงการคุ้มครอง คล้ายว่าหากจะมีรายได้เพียงพอก็ต้องอยู่ในระบบ แล้วแรงงานในระบบไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ไม่เพียงพอหรือ ถ้าง่ายอย่างนี้ก็ทำทุกอย่างให้อยู่ในระบบ ขยายอำนาจรัฐให้ใหญ่ขึ้น แต่นั่นจะเป็นทางออกหรือเปล่า”

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวและว่า มีคำที่ลวงเราตลอดมาคือ “ประกันสังคม” ฟังคล้ายเป็นกฎหมายที่คุ้มครองคนทั้งสังคม และ “กฎหมายคุ้มครองแรงงาน” เหมือนจะคุ้มครองแรงงานทุกคน แต่แรงงานนอกระบบไม่ถูกนับรวม ฉะนั้น สิ่งที่นโยบายรัฐทำคือการคุ้มครองและการประกันลูกจ้างเท่านั้น จึงอย่าเรียกว่าประกันสังคม เพราะประกันเฉพาะลูกจ้าง

แล้วทำอย่างไรความหมายของการคุ้มครองจึงจะคุ้มครองคนทั้งสังคม?

“ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ง่าย ในภาพรวมเป็นปัญหาความด้อยโอกาส ความยากจน คนเข้าไม่ถึงสวัสดิการและบริการต่างๆ หากแรงงานนอกระบบเข้าในระบบปัญหานี้ก็ไม่ได้หายไป คนที่มีทุนมากกว่าก็เข้าถึงสวัสดิการได้มากกว่า ถ้าเรียนน้อย ยากจน การเข้าสู่สถานประกอบการก็ยาก ยิ่งคนต่างด้าวคนไม่มีสัญชาติยิ่งเข้าไม่ถึงอาณาบริเวณที่ได้รับคุ้มครอง แต่การเข้าระบบก็ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด ขั้นต้นต้องยอมรับว่า ถ้าทำให้ตัวระบบขยายมาครอบคลุมคนนอกระบบได้เรื่อยๆ จะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

“ถ้าเราทำลายมายาคติเรื่องแรงงานในหรือนอกระบบได้ ปัญหาที่แท้จริงคือ ‘อำนาจต่อรอง’ ที่จะทำให้ขอบเขตอำนาจระบบขยายมาครอบคลุมเรา หรือไม่มันก็หายไป ถ้ารวมกันไม่ได้ อำนาจต่อรองก็ไม่มี การขยายขอบเขตระบบให้ครอบคลุมก็เกิดไม่ได้

“จริงๆ เราไม่ได้ต่อรองกับรัฐอย่างเดียว เรากำลังแสวงหาอำนาจต่อรองของตัวเราต่อสังคม การสร้างวาทกรรมขึ้นมาสู้ก็เป็นอำนาจต่อรอง เช่น ลูกจ้างรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิ คนนอกโรงงานมองว่าเป็นเรื่องรับไม่ได้ เป็นการก่อกวน เรื่องใหญ่ที่สุดคือ คุณต้องสู้กับวัฒนธรรมหรือค่านิยมที่หยั่งรากลึกยาวนาน การเอาชนะอำนาจรัฐอาจง่าย แต่การเอาชนะอำนาจที่ปลูกฝังในสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย การศึกษาอย่างเดียวไม่พอ”

อ.แลสรุปขั้นต้นและโยนหินถามต่อไปถึงแนวทางการขยายขอบเขตอำนาจการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องทำไปอีกต่อเนื่องยาวนาน

เป้าหมายอาจไม่ใช่แค่เพียงยกระดับการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ แต่หมายรวมถึงแรงงานในระบบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

นั่นหมายถึงความเป็นธรรมของคนทำงานทุกประเภท

แรงงานนอกระบบ ก่อสร้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image