ศาลปกครองแก้ระเบียบ ฝ่ายชนะคดีชั้นต้นขอบังคับคดีได้ก่อนระหว่างอุทธรณ์ศาลสูง

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายสมชาย งามวงศ์ชน โฆษกศาลปกครอง พร้อมคณะโฆษกฯได้แถลงข่าวในโอกาสครบรอบ16 ปีเปิดทำการศาลปกครอง โดยได้ตอบข้อซักถามการบริหารจัดการคดีสำคัญ โดย น.ส.สายทิพย์ สุคติพันธ์ รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับรายละเอียดของการบังคับคดีว่า ในส่วนคดีที่ศาลชั้นต้นพิจารณาเสร็จแล้วอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีผู้ฟ้องคดีชนะในชั้นแรก หากต้องรอระยะเวลา30วัน ว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ หรือเมื่ออุทธรณ์แล้วจะต้องใช้ระยะเวลายืดยาวไปอีก จึงได้แก้ไขกฎหมายเรื่องของการบังคับคดีมีสาระสำคัญกำหนดให้คู่กรณีฝ่ายที่ชนะคดี สามารถยื่นคำขอต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด โดยชี้แจงเหตุผลอันสมควรว่าจำเป็นต้องมีการขอให้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองชั้นต้นในระหว่างที่ต้องรอการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด ศาลจะพิจารณาดูว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไรหรือไม่ ที่จะต้องกำหนดให้มีการปฏิบัติตามคำบังคับนั้นเลย ในระดับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตัวอย่างประเภทคดีที่เห็นได้ชัดคือ การฟ้องคดีว่ารัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าหรือละเลย แม้ชนะคดีแล้วแต่ยังต้องรอ ไปอีกเพราะยังมีการอุทธรณ์ยิ่งเป็นความล่าช้ามากขึ้น การแก้ไขกฎหมายนี้จึงเป็นผลโดยตรงให้คู่กรณีฝ่ายที่ชนะคดีให้มีการขอให้ปฏิบัติตามคำบังคับได้ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในศาลปกครองสูงสุด ขณะเดียวกันมีการออกระเบียบกำหนดลักษณะคดีที่จะยื่นคำขอเช่นนี้ได้ อาทิ คดีที่ศาลมีคำสั่งแล้วว่าหน่วยงานละเลย แล้วให้ปฏิบัติภายใน15วันหรือ30วัน ลักษณะนี้ยื่นได้เลย ส่วนลักษณะความจำเป็นที่ยื่นได้ เช่น เรื่องความเดือดร้อนรำคาญเรื่องกลิ่น เสียงรบกวน หรือเรื่องการคืนตำแหน่ง รวมถึงการยื่นขอให้ปฏิบัติตามคำบังคับครบถ้วนด้วย โดยกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ยังสามารถสั่งปรับเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำบังคับที่ศาลมีคำพิพากษาด้วย ซึ่งศาลจะต้องไต่สวนดูรายละเอียดนี่เป็นมาตรการอีกชั้นหนึ่ง ทำให้คำพิพากษาศาลปกครองได้รับการปฏิบัติให้เร็วขึ้น

“ตามรายงานสำนักบังคับคดี ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากมีบทบัญญัติเรื่องบังคับคดีแก้ไขออกไปแล้ว การปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองดูจะกระชับ กระฉับกระเฉงขึ้นเยอะ ดูจะมีความตื่นตัวว่าต้องเร่งหาวิธีปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ครบถ้วน เป็นเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรม” น.ส.สายทิพย์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาซึ่งมีคู่กรณีใช้ประโยชน์เยอะมาก เดิมขั้นตอนการขอค่อนข้างรัดกุมต้องมีการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริง จะต้องมีคำแถลงการณ์ความเห็นตุลาการผู้แถลงคดีแต่คดีบางประเภทมีความจำเป็นเร่งด่วนมาก เช่น สิทธิการสอบคัดเลือกหรือการขุดดินบ้านเกือบพัง จึงได้แก้ไขระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองฯ เรื่องทุเลาการบังคับคำสั่งปกครองให้มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ยังยืนยันเรื่องความรอบคอบว่าต้องฟังความคู่กรณี2ฝ่ายให้ครบถ้วนเพียงแต่เรากระชับขั้นตอนขึ้น คือ หากองค์คณะเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน อาจไม่ต้องรอฟังความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี จะช่วยให้ความเร่งด่วน คุ้มครองช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทันท่วงทีมากขึ้น จะทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมคล่องตัวขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image