เลขาฯสพฉ.คนใหม่แจงไม่เกี่ยว ‘ธรรมกาย’ เหตุถอนตัวจากทีมแพทย์ผู้รักษา ‘ธัมมชโย’ แล้ว

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วตนเป็นหนึ่งในทีมแพทย์ที่ได้เข้าไปดูแลอาการป่วยของพระไชยบูลย์ สุทธิผล หรืออดีตอดีตพระเทพญาณมหามุนี แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้เข้าไปดูแลอีกเลย หลังจากที่ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลรักษา การดูแลรักษาตอนนี้น่าจะเป็นทีมแพทย์ที่อยู่ในวัด ตนเป็นเพียงคนภายนอก ส่วนตอนนี้มีทีมแพทย์ดูแลหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ และไม่ทราบว่าท่านอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ตนให้การดูแลประมาณเกือบปี ในสายตาของตนและคณะแพทย์เห็นว่าท่านอาพาธจริง แต่จนถึงตอนนี้ผ่านมาแล้วประมาณ 1 ปี ตนไม่ทราบว่าอาการเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อปีที่แล้วทีมแพทย์แถลงอาการอาพาธแล้วพบว่ามีปัญหาที่ขา ล่าสุดตอนนี้ไม่มีเครื่องไฮเปอร์ บาริก ที่จะดันออกซิเจนแล้วจะกระทบต่ออาการอาพาธหรือไม่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสงสารท่าน พอมีสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรุนแรง หรือความไม่เข้าใจกันนั้น ตอนนี้ตนไม่ทราบว่าท่านได้รับการดูแลที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เพราะตนหรือใครก็ตามเข้าไปในวัดไม่ได้ ไม่รู้ว่าท่านอยู่ตรงไหน อย่างไรก็ตาม ตามสิทธิของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นนักโทษในคุก หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่กักกันก็ควรได้รับการดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสม

“ตั้งแต่ตอนนั้นเราตรวจแล้ว วินิจฉัยแล้ว ให้ความเห็นไปแล้วกับทีมแพทย์ที่อยู่ในวัดไปแล้วเราก็ถอนตัวออกมา และกระบวนการเหล่านี้ก็อยู่ในการดูแลของแพทยสภา ซึ่งขณะนี้ทีมแพทย์ที่เคยไปดูแลก็ไม่ได้อยู่แล้ว เพราเราไปเป็นทีมแพทย์ที่ปรึกษาเท่านั้น พอมีคดีความต่างๆ ทีมแพทย์ก็ไม่สามารถเข้าไปได้อีก” ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเชื่อมโยงภาพการแถลงอาการอาพาธของพระไชยบูลย์ กับการเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ สพฉ. จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ตนไม่ได้กังวลอะไร เพราะสิ่งที่ทำนั้นทำแบบมืออาชีพ ตนเป็นแพทย์ตรวจคนไข้มาทุกชาติ ศาสนา ตอนอยู่โรงพยาบาลกรุงเทพมีการดูแลคนไข้อาหรับ ไปส่งต่างประเทศ ออกใบรับรองแพทย์ทุกวัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์ วันนี้มาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารซึ่งเป็นคนละส่วนกัน ส่วนใครจะเอามาเชื่อมโยงย่างไรนั้นตนไม่ก้าวล่วง และไม่ฟ้องร้องเพราะคิดว่าเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจมากกว่า ไม่ใช่เจตนาร้ายทั้งนี้ ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดได้ แต่ขอให้ดู 1. งานที่ตนทำมาในอดีต และ 2 . ความที่ตั้งในจะทำในอนาคต ต้องเรียนว่าก่อนหน้านี้ตนทำงานได้ค่าตอบแทนที่มากและมาทำตรงนี้ได้ค่าตอบแทนที่น้อยลงไปกว่าเดิมมากถึง 6 หลัก แต่ก็มา เพราะตั้งใจอยากจะพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

Advertisement

“ในมุมมองของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินที่ผ่านมาได้เข้าไปร่วมปฏิบัติการในการช่วยเหลือผู้ป่วยในหลายเหตุการณ์อยู่แล้ว เช่น การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง ความขัดแย้งหรือความรุนแรงจากเหตุใดๆ ก็ตาม สพฉ.จะเป็นกลางในการดุแลทุกฝ่ายที่มีการเจ็บป่วย ไม่ก้าวก่ายการทำงานของหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะภาครัฐ แต่ สพฉ.จะทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุนให้ผู้เจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม พื้นที่วัดพระธรรมกายนั้นเป็นอำนาจของทางจังหวัดที่จะสั่งการ ส่วน สพฉ.ก็ทำหน้าที่สนับสนุน” เลขาธิการ สพฉ.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image