คอลัมน์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ลำแสงในสถานการณ์มืดมิด

สัญญาณขาลงนั้นชัดเจนเสียจนไม่มีอะไรจะพูดมากไปกว่าที่คนเก่งคนดังทั้งหลายได้พูดไปแล้ว

คุณใบตองแห้งชี้ให้เห็นอะไรที่น่ากลัวในกระบวนการ “ขาลง” ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง “…เพราะคำว่า ‘ขาลง’ ไม่ได้อยู่แค่ คสช. ประยุทธ์ ประวิตร หรือรัฐบาล แต่มันรวมทั้งระบบ ทั้งสังคม คือทั้งระบบอำนาจ คสช. แม่น้ำ 5 สาย ระบบราชการ องค์กรอิสระ ไปจนถึงสื่อ คนดีมีศีลธรรม แม้แต่ศาสนา ขณะที่นักการเมืองก็เละไปก่อนหน้านี้แล้ว ฉะนั้น ‘ขาลง’ เป็นแค่จุดเริ่มต้น ต่อให้ คสช.หมดอำนาจไป ก็ยังลงไม่ถึงที่สุด มันจะเกิดความหักเห ปั่นป่วน วิบัติ Chaos อีกหลายรอบ…”

มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ คสช. เป็นคณะรัฐประหารที่แตกต่างจากคณะรัฐประหารทุกชุดที่ผ่านมาในประเทศไทย หนึ่งในเหตุผลเหล่านั้น และอาจจะสำคัญที่สุดก็คือ คสช.เป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมในการเมืองไทยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519 แม้ว่าการล่มสลายของ คสช.ก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกระบวนการเสื่อมโทรมของการเมืองไทย ดังที่คุณใบตองแห้งกล่าวไว้แล้ว แต่หากเราย้อนกลับไปคิดถึงการเมืองไทยนับตั้งแต่ 6 ตุลาคมเป็นต้นมา ก็จะเห็นได้ว่า คสช.เป็นจุดพลิกผันอันหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการเสื่อมโทรมทางการเมือง ที่กินระยะเวลายืดยาว โดยมองไม่เห็นจุดจบ

6 ตุลาคม 2519 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทยที่ “นองเลือด” ก่อนหน้านี้การสังหารเข่นฆ่าในการรัฐประหารมักกระทำกันเมื่อได้อำนาจอย่างเป็นทางการแล้ว จึงจะเข่นฆ่าบุคคลที่เป็นศัตรูที่มีพลังจะขัดขวางอำนาจของคณะรัฐประหาร เหยื่อถูก “เลือก” เป็นรายๆ ไป แต่ 6 ตุลาคมไม่ใช่อย่างนั้น เหยื่อคือฝูงชนที่กำลังประท้วงต่อต้าน และผู้ที่ถูกสังหารอย่างเหี้ยมเกรียมทั้งหมดถูกกระทำอย่างอุจาดในที่สาธารณะ โดยไม่ได้ “เลือก” เพื่อทำให้คนทั้งกลุ่มเกิดความสยดสยอง

Advertisement

การ “นองเลือด” กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการรักษาอำนาจของคณะรัฐประหารทั้งหลาย จุดเริ่มต้นของความเสื่อมโทรมทางการเมืองจึงน่ากลัวมาก

อันที่จริง การ “นองเลือด” ใน 6 ตุลาฯ เป็นผลมาจากความล้มเหลวทางการเมืองก่อนหน้า นั่นคือเมื่อเผด็จการทหารไม่สามารถแบ่งการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้แก่คนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้นในเศรษฐกิจใหม่ได้ในสัดส่วนที่น่าพอใจ เผด็จการทหารจึงถูกโค่นล้มไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แต่การเมืองแบบเลือกตั้งหลังจากนั้นกลับเปิดให้คนแปลกหน้าอีกสองกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เสมอกับคนชั้นกลางในเมือง หนึ่งคือ ผู้นำท้องถิ่นประเภทต่างๆ (ผู้มีการศึกษาในท้องถิ่น, เถ้าแก่, เจ้าพ่อ, กำนัน ฯลฯ) และสองคือ คนระดับล่าง (ชาวนาและแรงงานอุตสาหกรรมในเมือง)

จะกีดกันคน 2 กลุ่มนี้ออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เสมอหรือเท่ากับคนชั้นกลางในเมือง และชนชั้นนำได้อย่างไร ยังเป็นปัญหาสืบมาจนทุกวันนี้ กลับไปสู่เผด็จการทหาร 100% ก็เกินกว่าที่คนชั้นกลางในเมืองจะรับได้ ปล่อยให้การเลือกตั้งและประชาธิปไตยดำเนินไป ก็รับไม่ได้เหมือนกัน

Advertisement

ระบบการเมืองที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2521 ดูเหมือนจะสร้างความสมดุลที่น่าพอใจอยู่ระยะหนึ่ง ทั้งแก่คนชั้นกลางและชนชั้นสูง นั่นคือมีกองทัพและราชการเป็นฐานอำนาจอยู่ในวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจมาก มีผู้นำท้องถิ่นซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ แต่ไม่มีวันเข้ากุมอำนาจบริหารสูงสุดได้ เพราะมีนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการรับรองจากกองทัพและชนชั้นสูงอยู่ข้างบน สภาผู้แทนฯจึงถูกกองทัพประกับไว้ทั้งข้างบนและข้างล่างอย่างมั่นคงแน่นหนา

แต่ระบบนี้มีช่องโหว่ตรงที่จะหาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะเป็นนายกรัฐมนตรีตามระบบได้ยาก คือคนที่กองทัพให้การรับรอง (ซึ่งก็มักเป็นนายพล) ชนชั้นสูงพอใจและให้การรับรอง และคนชั้นกลางในเมืองพอใจหรือไม่รังเกียจ ช่องโหว่อีกอย่างหนึ่งก็คือ คน 3 กลุ่มที่ร่วมกันกลั่นกรองนายกฯนี้ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แตกแยกกันเองในกลุ่ม และไม่แตกแยกระหว่างกัน

แต่ 3 กลุ่มนี้ก็แตกกันเองภายใน และแตกกันระหว่างกลุ่มในต้นทศวรรษ 2530 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจไม่รับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งใหญ่ เปิดโอกาสให้สภาที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหลุดรอดออกมาจากการประกับของกองทัพโดยบังเอิญ เลือกหัวหน้าพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่เคว้งคว้าง แม้ว่านายกฯท่านนั้นจะริเริ่มนโยบายใหม่ๆ และประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู แต่ในที่สุดก็ถูกรัฐประหารโดยกองทัพ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากชนชั้นสูง และบางส่วนของคนชั้นกลางในเมืองใน พ.ศ.2534

การค้นหาระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพแต่รวมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนทุกกลุ่มอย่างไม่เท่าเทียมกันไม่ประสบความสำเร็จ ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง นำมาซึ่งผู้นำที่ชนชั้นสูงไม่ไว้วางใจได้เต็มที่ คนชั้นกลางในเมืองบางส่วนรู้สึกเหยียด และรู้สึกตัวว่าไร้อำนาจในการกำกับควบคุม เพราะเสียงในสภาย่อมอยู่เหนือกว่าในกฎหมาย การริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ของผู้นำอาจล่วงละเมิดเข้าไปในแดนที่กองทัพและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจเคยผูกขาดมาก่อน

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งแม้มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก แต่แฝงอำนาจกำกับควบคุมไว้มากกว่าเสียงของประชาชนเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและการเมืองย่อมถูกกำกับควบคุมด้วยอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง เช่นองค์กรอิสระซึ่งกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งไว้ให้ไม่หนีไปจากคนชั้นกลางในเมืองไปได้ อำนาจของชนชั้นสูงไม่ถูกถ่วงดุลใดๆ เหมือนเดิม เช่นแม้ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้ต้องทำ “กฎหมายลูก” เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ในเวลาเท่าไร อำนาจตุลาการเป็นอิสระโดยไม่มีกลไกใดๆ ที่จะบังคับให้ต้องรับผิด (accountable) ต่อตัวแทนของประชาชน และสังคมโดยรวม กองทัพอาจสูญเสียแดนผูกขาดของตนในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารภายใน ยังคงเป็นหน่วยงานอิสระที่จะสร้างพันธมิตรทางการเมืองของตนได้เอง ฯลฯ

การที่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเปิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันยิ่งขึ้นแก่คนหลากหลายกลุ่ม สามารถดำรงอยู่ได้ถึง 9 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย อำนาจกระจายออกไปสู่คนหลายกลุ่มอย่างสลับซับซ้อนขึ้น จนยากที่การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหารจะได้รับการสนับสนุนจากคนทุกกลุ่มอย่างพร้อมเพรียง มีความเห็นแตกแยกกันในหมู่คนทุกกลุ่มต่อการรัฐประหารใน 2549 และ 2557 ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่เห็นด้วยก็มี ไม่เห็นด้วยก็มี คนชั้นกลางที่เห็นด้วยก็มี ไม่เห็นด้วยก็มี และประชาชนระดับล่างลงไปก็มีทั้งเชียร์และคัดค้านเหมือนกัน แม้แต่ในกองทัพเอง ก็มีทหารที่ไม่เห็นด้วยแทรกอยู่

การรัฐประหารในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วเช่นนี้ ย่อม “เสียของ” เสมออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่ “เสียของ” ยิ่งกว่าการรัฐประหารก็อย่างที่คุณใบตองแห้งกล่าวไว้ การต่อสู้ทางการเมืองนำเอาสถาบันสำคัญๆ ทางการเมืองของไทยซึ่งไม่แข็งแกร่งอยู่แล้วล่มสลายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นสภา, สื่อ, กระบวนการยุติธรรม, ระบบราชการทั้งระบบ, ตำรวจ, ทหาร, การศึกษา (โดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย), องค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมาก, องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่, องค์กรทางศาสนา, หรือแม้แต่ “ศีลธรรม”, พรรคการเมือง, องค์กรอิสระทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

ดังนั้นการอยู่หรือการไปของ คสช.จึงเป็นเรื่องเล็ก เพราะรัฐไทยต่างหากที่กำลังจะพังลง และมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรหยุดยั้งกระบวนการเสื่อมโทรมทางการเมืองซึ่งนำไปสู่ความล่มสลายได้เลย

อํานาจดิบไม่อาจระงับยับยั้งได้ อย่างที่ คสช.พิสูจน์ให้เห็นแล้วใน (เกือบ) 3 ปีที่ผ่านมา การเปิดให้มีการแข่งขันทางการเมืองอย่างเสรี ก็ไม่น่าช่วยได้ ไม่ใช่เพราะไม่มีนักการเมืองที่สามารถเป็นผู้นำ แต่นักการเมืองในสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วนี้ จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสังคม โดยเฉพาะงานที่ก่อให้เกิดศัตรูจำนวนมากที่ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาหากพยายามหยุดยั้งกระบวนการเสื่อมโทรมทางการเมืองดังกล่าว สังคมไทยเองต่างหากที่ไม่พร้อมจะหยุดยั้งกระบวนการนี้ แม้ว่าคนกลุ่มต่างๆ ในเวลานี้เห็นพ้องกันว่าควร “ปฏิรูป” ประเทศครั้งใหญ่ แต่คนทุกกลุ่มก็เห็นพ้องกันด้วยว่า “คนอื่นทุกคนควรถูกปฏิรูปหมด แต่อย่ายุ่งกับกู”

หนทางเดียวที่จะยับยั้งความเสื่อมโทรมทางการเมืองได้ ก็ต้องอาศัยกำลังของสังคมไทยทั้งหมด ทำการเชื่อมโยงกันให้เกิดพลังในการกำกับควบคุมสถาบันทางการเมืองและสังคมอย่างได้ผล การปฏิรูปจากข้างบน ไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะการปฏิรูปจากข้างบนทำได้ก็โดยการประนีประนอมผลประโยชน์ของคนข้างบน ผลจึงมีข้อจำกัดมาก (ลองเปรียบเทียบการปฏิรูปของไทยในสมัย ร.5 กับการปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น) การปฏิรูปจากข้างล่างทำได้ยาก ทั้งภายใต้เผด็จการ และภายใต้ประชาธิปไตยซ่อนรูป เช่นใน รธน.40 หรือ 50 เจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน จะถูกพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติด้วยอำนาจของคนชั้นกลางและชนชั้นสูง ในรูปขององค์กรอิสระหรือตุลาการได้เสมอ เว้นแต่สังคมมีพลังที่จะกดดันอย่างได้ผลเท่านั้น

เพราะการปฏิรูปจากข้างล่างทำได้ยาก ผู้คนจึงมักคิดว่าต้องมี “องค์กรปฏิวัติ” ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นผู้นำ แต่จากประสบการณ์ของหลายประเทศที่สามารถเปลี่ยนสังคมผ่านองค์กรประเภทนี้ได้ ก็โน้มเอียงไปทางที่เปลี่ยนได้จำกัดเหมือนกัน เพราะองค์กรนำกลายเป็นเผด็จการของคนข้างล่าง หรือเผด็จการทหารที่จะเป็นผู้นำการปฏิรูปที่กลับดึงสังคมถอยหลัง

ในทางตรงกันข้าม การสนับสนุนให้ประชาชนออกมาสร้างกลุ่มและเครือข่าย เพื่อผลักดันความเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ตนเห็นว่าสำคัญ เพราะกระทบต่อตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม, การค้าที่เป็นธรรม, การศึกษา, วัฒนธรรม, ระบบภาษีก้าวหน้าที่จะสร้างความเป็นธรรมแก่สังคม, ระบบตุลาการที่ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบ เป็นอิสระ แต่ต้องรับผิดต่อสังคม (accountability), ระบบประกันสุขภาพ, สิทธิของแรงงาน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เสริมความเข้มแข็งและพลังของสังคมในการกำกับควบคุมสถาบันทางการเมืองทั้งสิ้น แม้เป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องเดียวก็จริง แต่ในทางปฏิบัติ จะเกิดการเกาะเกี่ยวกันของกลุ่มเคลื่อนไหว และอาจขยายจำนวนผู้คนที่เข้าร่วมไปได้เรื่อยๆ

ภายใต้สถานการณ์ที่ประชาชนขาดเสรีภาพ (แม้แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญใช้แล้ว) การเคลื่อนไหวอาจออกมาในรูปการเผชิญหน้ากับอำนาจ หรือร่วมมือกับอำนาจ แต่เป้าหมายหลักที่ขาดไม่ได้คือการเพิ่ม “พื้นที่” ของเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของประชาชน (การไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปหรือสภานิติบัญญัติของเผด็จการทหาร ไม่ได้ช่วยขยาย “พื้นที่” ดังกล่าวของประชาชนเลย ช่วยขยายแต่ “พื้นที่” ของตนเอง)

ดังนั้น แม้แต่การเคลื่อนไหวของ “ม็อบมีเส้น” ก็ไม่น่ารังเกียจแต่อย่างไร อย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรียนรู้การป้องกันตนเองด้วยมาตรการทางการเมือง

เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน คนไทยเคยชินและเรียนรู้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะประชาสังคมอาจจะมากที่สุด ไม่ว่าในที่สุดแล้วเอ็นจีโอไทยจะน่าสังเวชทางการเมืองสักเพียงใด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณูปการที่สำคัญซึ่งพวกเขาทำไว้ ก็คือการปลูกฝังการเคลื่อนไหวทางการเมืองขององค์กรประชาสังคมในลักษณะต่างๆ ให้แก่สังคมไทยในวงกว้าง จนกระทั่งก่อนหน้าที่เผด็จการทหารจะสถาปนาอำนาจเด็ดขาด องค์กรประชาสังคมไทยได้ขยายไปถึงระดับองค์กรที่มีฐานในชุมชน (Community Based Organization – CBO)

ดังนั้น การกลับมาสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับเล็กๆ ประเด็นโดดๆ และเกี่ยวกับท้องถิ่นเฉพาะ ฯลฯ พร้อมทั้งขยายการเคลื่อนไหวนี้ออกไปสู่ประชาชนจำนวนมากขึ้น พูดง่ายๆ คือการกลับไปฟื้นฟูและส่งเสริมภาคประชาสังคม (civil society) และเฝ้าระวังมิให้กลายเป็นภาค “ไม่ประชาสังคม” (uncivil society) อีก จึงไม่ใช่ความหวังที่เลือนรางเกินไป มีความเป็นไปได้ที่สังคมจะถูกปฏิรูปให้กลายเป็นแกนนำของการปฏิรูปสถาบันอื่นๆ ทั้งหมดในวันข้างหน้า

นี่คือลำแสงเพียงอันเดียวในสถานการณ์ที่มืดมิดของไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image