อ่านที่นี่!! “ยูเอ็น”จ่อซัก-“ไทย”เตรียมตอบ คำถาม”สิทธิพลเมือง-การเมือง”


หมายเหตุ – ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม มีการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในการนี้คณะตัวแทนไทยต้องเสนอรายงานการปฏิบัติการพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง หรือ “ไอซีซีพีอาร์” ฉบับที่ 2 และตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีทั้งหมด 28 ข้อ “มติชน” ได้คัดคำถามและคำตอบเฉพาะเกี่ยวกับสิทธิในการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรวมกลุ่ม และการชุมนุมโดยสงบ ที่คณะกรรมการตั้งคำถาม และคณะตัวแทนไทยเตรียมคำตอบไปมานำเสนอ

– กรุณาชี้แจงว่าเมื่อใดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อเดือนมีนาคม 2559 จะมีผลบังคับใช้ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการในการส่งเสริมการอภิปรายสาธารณะ เพื่อทำให้มั่นใจว่าทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงตัวแทนภาคประชาสังคม สมาชิกพรรคการเมือง และสื่อมวลชน จะมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตอบโต้หรือจับกุม กรุณาแสดงความเห็นต่อรายงานที่ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 จำกัดการออกความเห็นของบุคคลและกลุ่มบุคคลต่อร่างฯ

จากกำหนดการ ภายหลังจากการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องปรับปรุงแก้ไขบทเฉพาะกาล (มาตรา 272) ตามคำถามเพิ่มเติมซึ่งได้รับความเห็นชอบระหว่างการลงประชามติ การปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญในภายหลังและได้ส่งกลับไปยังคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการเสนอ เพื่อรอพระบรมราชานุญาต ซึ่งคาดว่าจะได้มีการประกาศใช้ภายในสิ้นปีนี้

รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ในระหว่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ได้รับข้อมูลจากทุกภาคส่วนในสังคม ก่อนจะมีการลงประชามติ อาสาสมัครจะถูกส่งไปตามบ้านเรือนเพื่อไปเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน มีการจัดสัมมนาประชาชนและโต้วาทีในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญโดยสถาบันวิชาการต่างๆ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีความเห็นค้านด้วย

วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 คือ เพื่อรับรองว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นไปด้วยความเป็นกลางและเป็นระเบียบเรียบร้อย มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติฯ ได้ประกันถึงเสรีภาพของปัจเจกบุคคลทุกคนในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริตและเป็นไปตามกฎหมาย ข้อห้าม (ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 61) เป็นเพียงการลดความเห็น หรือการกระทำที่อาจยุยงให้เกิดความบาดหมางและปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในสังคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการออกเสียงประชามติได้

Advertisement

ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามาตรา 61 ของพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ไม่ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เพราะหลักสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกยังคงได้รับการรับรองอยู่ มาตรา 61 เคารพการแสดงความคิดเห็นและมุมมองของประชาชนอย่างสร้างสรรค์ แต่มีเพียงข้อห้ามในการแสดงออกที่หยาบคาย รุนแรง และมีลักษณะข่มขู่ ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น และเป็นการปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก และเป็นการก่อกวนกระบวนการลงประชามติ ข้อห้ามดังกล่าว ในมุมมองของศาลแล้ว มีความสมเหตุสมผล โดยคำนึงถึงบริบทปัจจุบันของประเทศ ซึ่งต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความสมานฉันท์ในสังคม ศาลยังมองว่าขอบเขตของข้อห้ามมีความชัดเจน ดังนั้น จึงไม่สร้างความสับสนแก่ประชาชน และข้อห้ามเป็นการใช้โดยทั่วไปโดยไม่เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ศาลยังยืนยันว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจโดยมิชอบในประเด็นนี้สามารถฟ้องร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ

ระบบการเลือกตั้ง/การสรรหาแบบใหม่ ได้กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิออกเสียงและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความโปร่งใส (ตัวอย่างเช่น (1) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ถูกถอดถอนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเลือกตั้ง (2) ผู้ที่ต้องโทษในฐานทุจริตเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้สมัคร) และป้องกันคติการเอาพวกพ้อง (ตัวอย่างเช่น ผู้ที่เป็นคู่สมรส พ่อแม่ หรือลูกของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้สมัคร) ในขณะที่บางคนอาจจะคิดว่าการกำหนดเช่นนี้เป็นการจำกัดสิทธิในการเลือกตั้งหรือได้รับการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ได้ตกลงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายรวมถึงระบบดังกล่าวนี้ด้วย

– กรุณาระบุจำนวนของการดำเนินคดีอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาท (มาตรา 326-328 ของประมวลกฎหมายอาญา)

Advertisement

แม้ว่ารัฐบาลได้บันทึกจำนวนการดำเนินคดีทางอาญาสำหรับคดีที่เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326-328 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเอาไว้ แต่ไม่ได้มีการบันทึกจำนวนการดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักหนังสือพิมพ์ และภาคประชาสังคมอื่นๆ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้จำแนกข้อมูลตามประเภทของผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลย ข้อท้าทายทางเทคนิคอีกประการหนึ่งคือ คำจำกัดความ และขอบเขตที่ชัดเจนของกลุ่มคนบางประเภท โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน และอยู่ระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 คือ กำหนดความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ (Hacking) การฟิชชิ่ง (Phishing) การหลอกลวงข้อมูล (Forgery) การพนัน (Gambling) และการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร (Pornography) พระราชบัญญัติฯ ได้ร่างขึ้นอย่างสอดคล้องกับหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี ทั้งนี้ พระราชบัญญัติฯ ไม่ได้ห้ามเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

ปัจจุบันจำนวนของกรณีการหมิ่นประมาทที่กระทำในโลกไซเบอร์หรือสื่อโซเชียลมีเดียได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การฟ้องร้องคดีต่อผู้ต้องหาตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ โดยเชื่อมโยงกับมาตรา 326 และ 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดฐานหมิ่นประมาท) เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีของศาลบางคดีเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะตีความและผลักดันให้ใช้พระราชบัญญัติฯ นี้ ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของพระราชบัญญัติฯ ซึ่งประกอบด้วย

ในเดือนกันยายน 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้ยกฟ้องนักข่าวภูเก็ตหวาน 2 คน จากความผิดฐานหมิ่นประมาท และกระทำการขัดกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยศาลระบุว่าการเผยแพร่ข่าวของบุคคลดังกล่าวไม่เป็นความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท แต่เป็นเพียงการทำซ้ำถ้อยคำจากสำนักข่าวอื่น นอกจากนี้ ศาลยังได้เน้นย้ำว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มิได้มุ่งประสงค์ที่จะลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากสามารถลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว

ในเดือนตุลาคม 2559 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษายกฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย ในความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยศาลพิพากษาว่าการที่นายวัฒนาวิจารณ์สมาชิกคณะรัฐมนตรีโดยการโพสต์ในเฟซบุ๊กเป็นการแสดงออกตามกรอบมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ดังนั้น จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

พระราชบัญญัติฯ กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดคำนิยามที่มีความชัดเจนขึ้นในแต่ละมาตรา และรับรองว่าจะถูกนำไปตีความได้ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของพระราชบัญญัติฯ ปัจจุบัน ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฯ กำลังอยู่ในช่วงการพิจารณาในวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

– กรุณาตอบสนองต่อข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลพยายามจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน และคำสั่งที่ 7/2557 และ 3/2558 และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ถูกนำมาใช้เพื่อกักขังบุคคลซึ่งแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสงบ กรุณาแสดงความคิดเห็นต่อรายงานที่ว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบถูกจำกัด รวมถึงการสั่งห้ามกิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับความคุ้มครองแบบเดียวกับประชาชนทุกคนในประเทศไทยภายใต้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งประเทศไทยได้ประสบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดข้อจำกัดบางอย่างเพื่อป้องกันความแตกแยกในสังคมและความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการยอมไม่ได้ที่จะอนุญาตให้ประชาชนกระทำการยุยงให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกัน เพียงเพราะพวกเขาอาจมีความเห็นต่างทางการเมือง

สิ่งสำคัญอีกประการคือ ต้องแยกแยะระหว่างการโต้เถียงกันอย่างสร้างสรรค์กับการแสดงออกถึงความเกลียดชังที่มีนัยยะทางการเมืองซึ่งมุ่งสร้างความรุนแรงและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลไม่เคยมีเจตนาที่จะกำหนดข้อจำกัดต่อประชาชนคนธรรมดาที่มีเจตนาบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องการจะเข้าร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศอย่างสร้างสรรค์แต่อย่างใด

มาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีวัตถุประสงค์ที่จะห้ามการใช้ถ้อยคำ การเขียน หรือวิธีการอื่นใดซึ่ง (1) นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายของประเทศหรือรัฐบาลด้วยการใช้กำลังหรือความรุนแรง (2) ทำให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบและความไม่พึงพอใจในหมู่ประชาชนในลักษณะที่เป็นการก่อความไม่สงบในประเทศ และ (3) ทำให้ประชาชนฝ่าฝืนกฎหมายของประเทศ มาตรานี้ไม่ได้ใช้กับคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่มุ่งป้องกันการแสดงออกซึ่งความเกลียดชังที่ปลุกเร้าความรุนแรงในสังคม

คำสั่ง คสช.ที่ 7/2557 และคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นคำสั่งที่มีลักษณะคล้ายกันคือ มุ่งรักษาไว้ซึ่งสันติสุข ความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยที่จำเป็น โดยการจำกัดการรวมกลุ่มทางการเมืองของกลุ่มบุคคลที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

– กรุณาอธิบายว่า ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ซึ่งระวางโทษจำคุกแก่บุคคลใดที่ชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่มากกว่า 5 คนขึ้นไป สอดคล้องกับกติกาฯ อย่างไร กรุณาอธิบายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการอนุญาตการชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่มากกว่า 5 คนขึ้นไป

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้รวมเอาสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติไว้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติไว้ในมาตรา 44 โดยมีการห้ามการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว เว้นแต่กำหนดไว้เป็นกฎหมาย เพื่อที่จะรักษาความมั่นคง ความปลอดภัยของประชาชน สันติสุข ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น

ข้อจำกัดบางประการเกี่ยวกับสิทธิในการชุมนุมเป็นข้อจำกัดเพียงชั่วคราวและตั้งอยู่บนพื้นฐานความจำเป็นในการรักษาความสงบและหลีกเลี่ยงการขยายความรุนแรงในสังคม ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นแล้วจึงได้กำหนดข้อจำกัดบางประการ ซึ่งรวมถึงการออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ในรักษาความสงบและหลีกเลี่ยงความรุนแรง จวบจนปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ได้จำกัดและใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้จัดกิจกรรมสาธารณะตราบเท่าที่ไม่เป็นการจุดชนวนการแบ่งแยกทางสังคมและปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรงขึ้นอีก

กลุ่มใดที่ต้องการที่จะจัดกิจกรรมสาธารณะตามปกติ ขอให้แจ้ง หรือปรึกษากับเจ้าหน้าที่รัฐล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกระงับ การขอให้แจ้งนี้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งได้เริ่มต้นใช้เมื่อปี พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักการและกฎเกณฑ์ในการชุมนุมสาธารณะภายในประเทศเพื่อรับรองความสงบเรียบร้อยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ในขณะเดียวกันก็เป็นการเคารพสิทธิของประชาชนในเสรีภาพในการชุมนุม กฎหมายยังได้จัดทำระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าซึ่งมุ่งคุ้มครองสถานที่ของรัฐบาลและสถานที่สาธารณะที่สำคัญ และรักษาความปลอดภัยของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม รวมทั้งบุคคลที่อยู่โดยรอบ

คำร้องขอจัดการชุมนุมสาธารณะเกือบทั้งหมดได้รับความเห็นชอบ ยกเว้นการรวมกลุ่มสาธารณะเพียงไม่กี่เรื่องที่เป็นการจูงใจ ทำให้ไขว้เขว และปลุกปั่นทางการเมือง การชุมนุมเดินขบวนโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการแจ้งเตือนล่วงหน้า

รวมทั้งการจัดการประท้วงอย่างสันติโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้จัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายสำหรับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงการอภิปรายในเรื่องการควบคุมฝูงชนและการใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะโดยคำนึงถึงมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image