ครม.ไฟเขียวธีออส 2 เดินหน้าพัฒนาประเทศแบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีอวกาศ ชี้ไม่ใช่แค่ดาวเทียม

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มีนาคม มีมติเห็นชอบโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ “ธีออส 2” ตามที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เสนอ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อการปฏิรูประบบตัดสินใจและบริหารเชิงพื้นที่ของประเทศ ทั้งในเรื่องของการพัฒนาและนำส่งดาวเทียม การพัฒนาระบบผลิตภาพถ่ายและบริการภูมิสารสนเทศ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงระบบประยุกต์การใช้งาน 6 ด้านได้แก่ ด้านน้ำ ด้านการเกษตร ด้านภัยพิบัติ ด้านความมั่นคง ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการจัดการเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดความต่อเนื่องจากการประยุกต์ใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาดาวเทียมเพื่อทดแทน ต่อมาสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ได้นำรายงานการศึกษาต่างๆ ที่เคยมีมาตั้งแต่ปี 2556 มาทบทวน และรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจนได้ข้อสรุปว่าโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ธีออส 2 ต้องเป็นการพัฒนาแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำคือตัวดาวเทียมและการนำส่งกลางน้ำคือระบบคลังข้อมูลและบริการภาพถ่ายและผลิตภัณฑ์เพิ่มค่าที่ได้จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียมและปลายน้ำคือระบบประยุกต์ใช้งานของหน่วยงานตามภารกิจต่างๆของประเทศนอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมรวมถึงผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอวกาศและดาวเทียมของประเทศ

ดังนั้น ระบบธีออส 2 จึงไม่ใช่การจัดหาดาวเทียมแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นการพัฒนาต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อการปฏิรูประบบตัดสินใจและบริหารเชิงพื้นที่ของประเทศ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ โดยหลังจากนี้ ระบบธีออส 2 จะใช้เวลาในการดำเนินงาน 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2560 – 2564 ด้วยเงินลงทุน 7,800 ล้านบาท โดยกระบวนการที่เหมาะสมคือการประกวดราคาที่จะให้หน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนของประเทศต่างๆที่มีขีดความสามารถทางเทคนิคสามารถยื่นข้อเสนอได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โปร่งใส คุ้มค่าการลงทุน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image