แพทย์ประจำพระองค์ฯ เผยความประทับใจตลอด 41 ปีที่ถวายงาน ในหลวง ร.9

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ราชสกุล องคมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศล เป็นวันที่ 99 อาทิ ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ และครอบครัว ,มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร, มูลนิธิปราบวัณโรค, สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย, มูลนิธิช่วยการศึกษาเด็กพิเศษและเด็กด้อยโอกาส ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท วรรณสรณ์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด, บริษัท นิปปอน สตีล แอนด์ ซูมิโตโม เมทัล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท อลิอันซ์อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท โคเรีย เซอร์เจอรี่ เซอร์วิส ไทยแลนด์, บริษัท พีทีที เมนเทนแนนซ์ แอนด์ เอนจิเนียริง จำกัด และบริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด ร่วมเป็นเจ้าภาพ

ในเวลา 10.30 น. ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นประธานบำเพ็ญกุศลพระบรมศพ และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์

S__3391711
ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ (ซ้าย) และภรรยา

ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กล่าวภายหลังร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลพระบรมศพ ว่า ได้มีโอกาสถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชตั้งแต่ปี 2518 ที่ทรงมีพระอาการประชวร จากนั้นก็ถวายงานเรื่อยๆมาจนปี 2530 ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ และปี 2535 ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นแพทย์ประจำพระองค์เต็มตัว และถวายงานเรื่อยมาจนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ทั้งนี้ ตนมีโอกาสได้ตามเสด็จในทุกหนแห่งและตลอดเวลา จึงได้เห็นพระองค์ทรงงานหนักและตรากตรำ อาทิ พระดำเนินข้ามท้องนา เป็นการทรงงานที่เข้าใจประชาชนจริงๆ และนอกเหนือจากการทรงงานเพื่อประชาชน พระองค์ได้พระราชทานคำสอนเกี่ยวกับแนวทางการทำงานและดำเนินชีวิตกับข้าราชบริพารที่ติดตาม อย่างตนที่พระองค์รับสั่งว่า “ถึงเป็นหมอก็ต้องรู้เรื่องอื่นด้วย” จากนั้นพระองค์ก็พระราชทานการสอนอ่านแผนที่ สอนดูระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงศึกษาข้อมูลทางกายภาพก่อนเสด็จฯพื้นที่จริง นอกจากนี้ยังได้พระราชทานคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต อย่างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ความกตัญญูต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่พระองค์ทรงปฏิบัติให้เห็นได้อย่างน่ารักมาก เวลาที่สมเด็จย่าทรงมีพระอาการประชวร ไม่ว่าจะประทับที่โรงพยาบาลศิริราช ที่โรงพยาบาลที่ดอยตุง พระองค์ก็จะเสด็จฯไปเฝ้าฯและรับมา แม้จะทรงงานหนักเพียงใดก็ทรงมีความกตัญญู

“อาจไม่มีใครรู้ว่าหลายๆโครงการพระราชดำริ เกิดขึ้นตอนที่ในหลวงร.9 ประทับเพื่อถวายการรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช อย่างที่สำเร็จไปแล้วคือโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมภายในโรงพยาบาลศิริราช ที่พระองค์เสด็จลงมาทอดพระเนตรและพระราชทานแนวทางแก้ปัญหาว่า ให้สร้างพนังกั้นทางระบายน้ำไม่ให้น้ำจากพรานนกเข้ามาได้ ซึ่งพอน้อมนำมาปฏิบัติ ทำให้เดี๋ยวนี้น้ำไม่ท่วมโรงพยาบาลศิริราชแล้ว ส่วนโครงการที่ยังไม่สำเร็จคือ โครงการสร้างทางยกระดับจากสะพานพระราม 8 ผ่านบริเวณหน้าโรงพยาบาลศิริราชไปยังท่าพระ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร” ศ.เกียรติยศ นพ.สงครามกล่าว

Advertisement

S__3391700

ทั้งนี้ สำนักพระราชวังแจ้งสรุปยอดรวมประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมโกศ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม หลังปิดในเวลา 21.10 น. มีจำนวนทั้งสิ้น 30,404 คน รวม 132 วัน มี 5,245,150 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 2,251,624 บาท รวม 132 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 439,714,558.59 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการสักการะพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมโกศ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดำเนินมาเป็นวันที่ 133 ประชาชนจากทั่วประเทศแต่งกายชุดดำสุภาพ มาต่อแถวรอกราบถวายสักการะไม่ขาดสาย โดยสำนักพระราชวังเปิดประตูวิเศษไชยศรีให้ประชาชนเข้าตั้งแต่เวลา 04.45 น. จากปกติเวลา 08.00 น. ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดตลอดทั้งวัน

Advertisement

S__3391699
นางฉัตรพร ธรรมวิริยารักษ์ ครูชั้น ป.4 โรงเรียนทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ กล่าวภายหลังนำนักเรียน ชั้น ป.4-ม.3 พร้อมคณะครูรวม 205 คน มาต่อแถวกราบพระบรมศพตั้งแต่เวลา 09.45 น. ได้เข้ากราบเวลา 12.45 น. ว่า ภายหลังสอบปลายภาคการศึกษาเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม จึงถือโอกาสพานักเรียนมากราบพระบรมศพ เพื่อแสดงความจงรักภักดี จากที่คุยกับนักเรียนและครูหลายคนไม่เคยมีโอกาสมากราบพระบรมศพ ตนจึงเป็นตัวตั้งตัวตีจัดกิจกรรมนี้ แม้จะมีปัญหาอุปสรรคมาก ไม่มีงบประมาณสนับสนุน แต่อยากพานักเรียนมา จึงได้ประสาน ขสมก.ขอให้นำรถเมล์ฟรีมารับมาส่งโดยมีคณะครูดูแล จึงได้รับการอนุมัติจากผู้ปกครองและผอ.โรงเรียน ทั้งนี้ ตนมากราบพระบรมศพเป็นครั้งแรก รู้สึกรักและประทับใจทุกครั้งที่ได้เห็นพระราชกรณียกิจพระองค์ จึงอยากพาเด็กมา นอกจากนี้ ที่โรงเรียนยังสอนเรื่องการออมให้เด็ก โดยจะมีธนาคารออมสินเข้ามาเก็บรวบรวมเงินฝากทุกเดือน บางคนเก็บเงินได้เป็นหลักพันบาทแล้ว ทั้งหมดนี้เพื่ออนาคตของตัวเขาเอง

ขณะที่ ด.ญ.ดวงกร สกุลวีรวรรณ นักเรียนชั้นป.4/1 โรงเรียนทุ่งสองห้อง กล่าวว่า ครั้งหนึ่งได้ไปดูนิทรรศการที่ศูนย์จัดแสดงแห่งหนึ่ง ได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงทำเพื่อประชาชน ชื่นชอบโครงการพระราชดำริเป็นพิเศษคือ ฝนหลวง เพราะได้ช่วยชาวนาให้ปราศจากความแห้งแล้ง ทั้งนี้ คุณแม่จะสอนเรื่องความประหยัดพอเพียงอยู่ตลอด อย่างการปิดไฟเวลาเข้าห้องน้ำช่วงกลางวัน ปิดน้ำระหว่างแปรงฟัน แบ่งเงินเป็นสัดส่วนเก็บออมทุกวัน

ด.ญ.ดวงกร-นางฉัตรพร
ด.ญ.ดวงกร-นางฉัตรพร

น.ส.ศิราณี ศรีสมพร อายุ 30 ปี ชาว ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย เพิ่งลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิเวลา 03.00 น. ก็รีบมาต่อแถวกราบพระบรมศพในเวลา 07.00 น.กล่าวด้วยน้ำตาคลอเบ้า ว่า ตนเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลียได้ 4 ปีแล้ว พอทราบข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต พวกเราที่ไปเรียนอยู่ที่นั่นและคนไทยที่ไปทำงานอยู่ที่ออสเตรเลียรู้สึกเสียใจร้องไห้ คนไทยที่นั่นได้ไปรวมตัวกันที่สวนสาธารณะในเมืองซิดนีย์จำนวนมากเพื่อจุดเทียนไว้อาลัย และไปร่วมทำบุญตักบาตร มีพระสงฆ์มาสวด ล่าสุดสวรรคตครบ 100 วันก็ได้ร่วมกันทำบุญอุทิศกุศลถวาย มีการทำริบบิ้นดำแจก ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาก็ไม่มีงานเลี้ยงสังสรรค์เพราะทุกคนรู้สึกเศร้าอยู่ ทุกวันนี้คนไทยที่ออสเตรเลียก็ยังใส่ชุดไว้ทุกข์ด้วย อย่างไรก็ตาม วันนี้ได้ส่งภาพบรรยากาศไปให้เพื่อนๆ ที่ออสเตรเลียดู ซึ่งพวกเขาก็อยากมาด้วยมากแต่ติดเรียน จึงไม่สามารถเดินทางกลับมาพร้อมกันได้

“ช่วงที่อยู่บ้าน จ.หนองคาย พ่อกับแม่มีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ และเลี้ยงปลาขาย ขณะที่เรียนมหาวิทยาลัยในไทยก็ช่วยพ่อแม่เลี้ยงด้วย โดยยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ ทุกวันนี้พ่อกับแม่ก็ยังเลี้ยงไก่ไข่และปลาขายอยู่ พอเรียนจบได้ระยะหนึ่งจึงเดินทางไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย แต่ก็ยังคงนำคำสอนของพระองค์ไปใช้ โดยเฉพาะเรื่องความเพียรและความขยันอดทน เพราะคนเราถ้าไม่มีความเพียร ไม่ขยัน ก็ไม่มีกิน หลังเลิกเรียนบ่าย 3 จึงไปทำงานที่ร้านอาหารถึง 4 ทุ่ม เพื่อนำเงินมาเป็นค่าที่พัก” น.ส.ศิราณีกล่าว

น.ส.ศิราณี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image