“สตง.”ตั้งกก.เคาะวงเงินใช้งานคลื่น1800ทรูมูฟเอง-เหตุกทค.ป๊อดไม่กล้าตัดสินใจจนล่าช้ากว่า3ปี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการช่วยเหลือในการจัดส่งข้อมูลให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ช่วยตรวจสอบจำนวนเงินที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในช่วงที่มีการให้บริการอย่างต่อเนื่องตามมาตรการเยียวยา ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ของ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา สตง. ทำหนังสือมาเร่งรัดให้บอร์ด กสทช. เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ หลังจากล่าช้ามากว่า 3 ปี แต่ บอร์ด กทค. ได้ตอบกลับ สตง. ไปว่า ไม่สามารถเร่งรัดการพิจารณาให้แล้วเสร็จในเร็ววันได้ ทาง สตง. จึงแจ้ง กทค. มาเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า จะขอตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาในเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ พร้อมขอให้ กสทช. นำส่งข้อมูลต่างๆให้ สตง.

“การที่ สตง. เข้ามาตั้งทีมตรวจสอบในครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในการทำงาน ซึ่งบอร์ด กทค. ทุกคนก็ดีใจที่ สตง. เข้ามาช่วยตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาบอร์ดไม่กล้าลงมติรับรองตัวเลขที่จะให้ทางผู้ประกอบการจ่าย เนื่องจากกลัวลงมติไปแล้วจะโดนฟ้องกลับมา” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับจำนวนเงินที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ในช่วงที่มีการให้บริการอย่างต่อเนื่องตามมาตรการเยียวยา ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส ทางบอร์ด กทค. ได้มีมติให้ เอไอเอส นำส่งรายละเอียดกลับมายังบอร์ด กทค. ใหม่อีกครั้ง ภายหลังบอร์ด กทค. มีมติไม่รับคำอุทธรณ์ของ เอไอเอส ทั้งนี้คาดจำนวนเงินที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจากการใช้งานคลื่นความถี่ตามมาตรการเยียวยา บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ จะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน

นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้ บอร์ด กทค. ยังมีมติอนุมัติการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ตามที่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ร้องขอ แต่ทางทีโอทีต้องนำส่งแผนทางธุรกิจให้ คณะทำงาน ที่มีนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาว่าการดำเนินงานของทีโอทีขัดต่อหลักเกณฑ์ กสทช. หรือไม่ และบอร์ด กทค. ยังได้อนุมัติการยกเลิกสถานะผู้มีอำนาจเหนือตลาดให้แก่ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต จำกัด เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาด เนื่องจากในปัจจุบัน ทรู ออนไลน์ มีส่วนแบ่งการตลาดในระดับใกล้เคียงกับทางธุรกิจ ซึ่งการยกเลิกสถานะดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image