โดมเกลือ”ดัลลอล” ไขปริศนาต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิต

(ภาพ-Olivier Grunewald)

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากศูนย์เพื่อการวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (ซีเอ็นอาร์เอส) ของประเทศฝรั่งเศส นำโดยปูริกาซิออง โลเปซ-การ์เซีย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย เดินทางไปสำรวจเพื่อเก็บตัวอย่างจากพื้นที่บริเวณโดมเกลือดัลลอล ที่อยู่ภายในบริเวณทะเลทรายดานากิ ของประเทศเอธิโอเปีย อันเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับการยอมรับกันว่าเป็นแหล่งทุรกันดารมากที่สุดในโลก

โดมเกลือดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 128 เมตร เป็นแหล่งสะสมเกลือทะเลจากทะเลแดงจนกลายเป็นโดมขนาดใหญ่มีชั้นเกลือมหึมาปกคลุมอยู่หนาถึง 2 กิโลเมตร ด้านล่างของชั้นเกลือเป็นแหล่งแมกมาหรือหินหลอมเหลวที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีค่าพีเอชเป็นกรดสูงมาก และมีความเค็มจัดโดยรอบ โลเปซ-การ์เซียระบุว่า สัดส่วนของเกลือจากพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวสูงถึง 50% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าปริมาณเกลือในเดดซีถึง 2 เท่า ของเหลวในพื้นที่ดังกล่าวมีอุณหภูมิสูง บางครั้งเลยจุดเดือดของน้ำปกติคือ มีอุณหภูมิสูงถึง 118 องศาเซลเซียส มีไกเซอร์ หรือน้ำพุร้อน ที่มีน้ำซึ่งมีลักษณะเป็นกรดเดือดปุดๆ สลับกับก๊าซที่เป็นก๊าซพิษอยู่เป็นจำนวนมาก

โดมเกลือ

ทีมนักวิจัยที่ประกอบด้วยนักจุลชีวินวิทยา, นักธรณีวิทยา และนักวิชาการด้านผลึกศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการเรียงตัวของผลึกต่างๆ เดินทางไปสำรวจและเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 2 สัปดาห์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่เคยเดินทางมาสำรวจทำนองเดียวกันมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2016 เพราะต้องการตัวอย่างเพิ่มเติมจากโดมเกลือ, ทะเลสาบเค็มจัดใต้ดินและบ่อแมกนีเซียมคลอไรด์สีดำคล้ำ ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่า ภายใต้สภาพทุรกันดารถึงขีดสุดที่เปรียบได้เหมือนขุมนรกของโดมเกลือแห่งนี้มีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่

Advertisement

ตัวอย่างที่เก็บได้จากโดมเกลือดัลลอล ถูกนำมาศึกษาทดลอง ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนและจำแนกดีเอ็นเอด้วยกระบวนการดีเอ็นเอซีเควนซิ่ง แล้วก็ไม่ผิดหวัง เมื่อตรวจสอบพบสิ่งมีชีวิตอยู่ในสภาพลำเค็ญสุดขีดดังกล่าว มีทั้ง แบคทีเรียและอาร์เคีย (จุลชีพ เซลล์เดียว) ที่ไม่เพียงสามารถทนทานต่อสภาพทารุณสุดขีดของดัลลอลได้เท่านั้นยังสามารถขยายพันธุ์ได้อีกด้วย โลเปซ-การ์เซียระบุว่า ทีมวิจัยพบอาร์เคียหลากหลายชนิดมากที่ไม่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับที่เคยพบกันมาก่อน

ทีมวิจัยตั้งเป้าหมายระยะสั้นเอาไว้ว่าจะพยายามเพาะเลี้ยงจุลชีพเหล่านี้ในห้องทดลอง เพื่อศึกษาทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงมีขีดความสามารถในการปรับตัวสูงมากและสามารถยังชีพอยู่ได้ในสภาพสุดโต่งเช่นนั้น ในระยะยาว ทีมวิจัยยังต้องการเดินทางไปตรวจสอบและเก็บรวบรวมตัวอย่างเพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อไป เพราะเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตในสภาวะเช่นนี้คือภาพสะท้อนของสิ่งมีชีวิตในยุคเริ่มแรกบนโลก การทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จึงเท่ากับทำความเข้าใจว่า โลกก่อเกิดสิ่งมีชีวิตได้อย่างไรและสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นพัฒนาได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เมื่อราว 3,800 ล้านปีมาแล้วขณะที่โลกยังอยู่ในห้วงเวลาที่เรียกว่า อาร์เคียน อีอน หรือบรมยุคอาร์เคียน เปลือกโลกเพิ่งโผล่พ้นทะเลขึ้นมาเป็นแผ่นดินและทวีป อากาศยังร้อนจัด สภาวะแวดล้อมเต็มไปด้วยกรดและภาวะคุกรุ่นของภูเขาไฟ เริ่มปรากฏสิ่งมีชีวิตแรกขึ้นบนโลก เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ที่พัฒนาและวิวัฒนาการเป็นสิ่งมีชีวิตหลากหลายต่อมาในที่สุด

Advertisement

สภาพของดัลลอล คล้ายคลึงกับสภาพของโลกในยุคบรรพกาลดังกล่าวนั้น เหมือนกับเป็นการจำลองสถานการณ์ขึ้นมาใหม่ไม่มีผิดในทรรศนะของโลเปซ-การ์เซีย

ซึ่งอาจช่วยให้มนุษย์ได้คำตอบของคำถามยิ่งใหญ่ได้ในที่สุดว่า ชีวิตเริ่มต้นและวิวัฒนาการมาอย่างไรนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image