“นาซา” ลองใช้เรดาร์ เจอซาก “จันทรายาน-1”

(ภาพ-ISRO/NASA)

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา พบตำแหน่งของ “จันทรายาน-1” ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของอินเดีย นับตั้งแต่ขาดการติดต่อไปเมื่อปี 2552 โดยนาซาเปิดเผยว่า ค้นพบจันทรายาน-1 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ระหว่างที่ทีมของนาซาทดสอบเทคโนโลยีเรดาร์ใหม่ สำหรับนำไปใช้ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต

ทั้งนี้ จันทรายาน-1 เป็นยานสำรวจสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาดเล็ก โดยมีความยาวแต่ละด้านเพียง 5 ฟุตเท่านั้น ทำให้เป็นเป้าหมายที่สมบูรณ์อย่างยิ่งสำหรับการทดลองเรดาร์ของทีมนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการเจ็ท โพรพัลชั่น ซึ่งต้องการทดสอบว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในการเฝ้าระวังดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กนี้สามารถตรวจจับจากยานอวกาศที่โคจรอยู่รอบดวงจันทร์ได้หรือไม่ โดยวิธีนี้จะใช้เรดาร์ภาคพื้นดินจากโลกเป็นหลัก เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์แบบออพติคอลไม่สามารถเห็นอะไรก็ตามที่โคจรรอบดวงจันทร์ได้เพราะดวงจันทร์สะท้อนแสงออกมาจ้ามาก

จันทรายาน
จันทรายาน-1 ยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 เนื่องจากจันทรายาน 1 ขาดการติดต่อไปขณะอยู่ในวงโคจรบริเวณขั้วเหนือเมื่อปี 2552 ทีมของนาซาจึงยิงลำคลื่นไมโครเวฟแรงสูงขึ้นไปเหนือบริเวณตำแหน่งวงโคจรธรรมชาติบริเวณขั้วเหนือเล็กน้อย โดยใช้เสาอากาศขนาด 230 ฟุตของสำนักงานเพื่อการสื่อสารอวกาศห้วงลึกโกลด์สโตน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในการยิงลำคลื่นไมโครเวฟดังกล่าว แต่อาศัยกล้องโทรทรรศน์กรีนแบงก์ ขนาด 300 ฟุต ที่เวสต์เวอร์จิเนีย ในการตรวจจับสัญญาณเรดาร์ที่สะท้อนกลับมา

ทีมปฏิบัติการของนาซากังวลอยู่เหมือนกันว่าวิธีการนี้จะไร้ผล เนื่องจากในบางพื้นที่บนดวงจันทร์มีแรงดึงดูดสูงกว่าปกติ จนอาจดึงดูดยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียตกลงสู่พื้นผิวได้ แต่ในที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ของนาซาก็สามารถตรวจจับวัตถุ 2 ชิ้นที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันได้ด้วยวิธีการนี้ วัตถุชิ้นแรกนั้นอยู่ในวงโครจรของยานลูนาร์ รีคอนเนสแซนซ์ ออร์บิเตอร์ ยานสำรวจดวงจันทร์จากวงโคจรของนาซาที่รู้จักกันดี กับอีกชิ้นเป็นวัตถุขนาดเล็ก ซึ่งมีเส้นทางโคจรตรงกับวงโคจรของจันทรายาน-1

Advertisement

ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้นาซาแน่ใจได้ว่า วิธีการนี้สามารถใช้ในการติดตามยานต่างๆ ในวงโคจรของดวงจันทร์ได้ในภารกิจในอนาคต และยังใช้เป็นกลไกเพื่อความปลอดภัยเมื่อยานขาดการติดต่อได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image