คอลัมน์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดอว์ซู-ในจอและนอกจอ (1) โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์

ความผิดหวังต่อดอว์ออง ซาน ซูจี กำลังเปลี่ยนภาพพจน์ของเธอจากนางเอกมาเป็นนางร้ายอย่างรวดเร็ว ยิ่งเมื่อเธอนิ่งเฉยต่อจดหมายเตือนของเพื่อนสมาชิกรางวัลโนเบลที่ให้เธอใส่ใจต่อความไม่เป็นธรรมที่มุสลิมในรัฐยะไข่ได้รับ ก็ยิ่งดูเหมือนเธอถูกมติมหาชนขับไล่ออกไปจากสโมสรโนเบลเสียแล้ว

ชีวิตไม่ใช่นางเอก แต่ชีวิตก็ไม่ใช่นางร้าย

นางเอกและนางร้ายเป็นวิธีการนำเสนอของสื่อ ให้ง่าย ให้ชัด ให้เร้าใจ ให้น่าซื้อ แต่เมื่อเอาคนจริงๆ ไปทาบลงบนบริบทที่เธอหรือเขาต้องเผชิญในชีวิตจริง รวมทั้งมองเธอหรือเขาเป็นผลผลิตของประสบการณ์จริงที่ผ่านมาในชีวิต คนเราก็แค่นี้แหละครับ ไม่มีใครเป็นนางเอกนอกจอ และไม่มีใครเป็นนางร้ายนอกจอ

ต่อไปนี้ในบทความจะพยายามทำสองอย่างนั้นแก่ดอว์ซู เพื่อรื้อมโนภาพนางเอกของเธอทิ้งเสีย แต่ก็ไม่หวังว่าจะทำให้มโนภาพนั้นเปลี่ยนไปเป็นนางร้าย เพราะในแต่ละพฤติกรรมของมนุษย์ ย่อมมีมุมมองได้เกินกว่าหนึ่งอย่างเสมอ

Advertisement

แต่ก่อนจะเข้าถึงบริบททางการเมืองและสังคมพม่าซึ่งดอว์ซูต้องเผชิญ ผมต้องขอบคุณ Marie Lall ซึ่งเป็นผู้เขียน Understanding Reform in Myanmar เป็นอย่างสูง เพราะด้วยการวิจัยที่ดีเยี่ยมของเธอ ทำให้ผมได้ข้อมูลละเอียดที่ไม่ได้พบในแหล่งข่าวทั่วไป จนทำให้สามารถนำไปสู่ข้อสรุปข้างต้นได้

คนไทยจำนวนมากมักเข้าใจว่า การต่อสู้อย่างกล้าหาญของดอว์ซูทำให้เผด็จการทหารพม่าต้องยอมปฏิรูป แต่เหตุการณ์ที่เป็นจริงมิใช่เช่นนั้น การปฏิรูปเริ่มขึ้นตั้งแต่ดอว์ซูยังถูกกักบริเวณในบ้านหลายปี (ไม่ต่ำกว่า 4 ปี) แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความกล้าหาญและจุดยืนทางการเมืองอันสง่างามของเธอในช่วงนั้น ช่วยให้นโยบายกดดันหรือแซงก์ชั่นพม่าของมหาอำนาจตะวันตก สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศตนเอง

เท่าที่เรามีข้อมูลในปัจจุบัน แรงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารพม่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำโดยเจตนาของใคร แต่เป็นผลรวมของอุบัติการณ์ทางการเมืองของการแย่งอำนาจกันในหมู่ผู้นำเผด็จการ และอุบัติภัยทางธรรมชาติที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น

Advertisement

นั่นคือการปลดและจับกุมนายพลขิ่นยุ้นต์ใน 2004 (2547) เขาเป็นหนึ่งในสามอำนาจหลักที่คุมกองทัพ รับผิดชอบงานด้านข่าวกรอง และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงมีแขนขาของงานข่าวกรองกระจายอยู่ทั่วประเทศ ระบบบริหารของกองทัพพม่าตั้งแต่สมัยเนวินแล้ว ผูกติดอยู่กับตัวบุคคล ไม่มีระบบบริหารอิสระที่พร้อมจะรับการเปลี่ยนหัวได้ง่ายๆ ฉะนั้นเมื่อโค่นขิ่นยุ้นต์ลง ก็จำเป็นต้องโค่นระบบข่าวกรองทั้งหมดที่เขาสร้างไว้ลงด้วย ลูกน้องของเขาเกือบทั้งหมดถูกปลด หรือถูกจับกุมสอบสวน

หลังจากนั้นระบบข่าวกรองของกองทัพกลายเป็นช่องโหว่ เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น เกิดกลุ่มประชาสังคมและกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีฐานในชุมชนหลายองค์กร โดยไม่ถูกกองทัพจับกุมหรือปราบปราม แม้ต้องทำงานอย่างระมัดระวังก็ตาม

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า จะด้วยแรงจูงใจอะไรก็ตาม ขิ่นยุ้นต์เป็นเพียงหนึ่งในสามเสาหลักของกองทัพ ที่มองเห็นว่าพม่าต้องปรับเปลี่ยนบางอย่าง ในขณะที่ตานฉ่วยและหม่องเอไม่ได้คิดเช่นนั้น ขิ่นยุ้นต์เสนอโรดแมป 7 ขั้นตอน ที่จะนำพม่ากลับสู่ภาวะปกติ แต่เป็นโรดแมปที่ไม่มีตารางเวลาอยู่ในนั้น หนึ่งในขั้นตอนของโรดแมปที่ขิ่นยุ้นต์ได้ลงมือปฏิบัติจริงคือ พยายามยุติการสู้รบกับกองกำลังของชนกลุ่มน้อย (ซึ่งขณะนั้นไม่เหลือกองกำลังใดที่เข้มแข็งพอจะคุกคามรัฐพม่าได้แล้ว ยกเว้นแต่เป็นนายหน้าให้แก่กำลังอำนาจของเพื่อนบ้าน)

นี่อาจเป็นเหตุผลที่ขิ่นยุ้นต์ทุ่มความพยายามไปสู่การทำสัญญาหยุดยิงกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่รัดกุมที่กองทัพกำหนดมาอย่างเด็ดขาด เช่น เปิดการเจรจาทวิภาคี ไม่ยอมให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยรวมกลุ่มกันเพิ่มอำนาจต่อรอง ยังไม่มีการเจรจาด้านการเมืองหรือข้อสัญญาว่าจะมีในอนาคตแต่อย่างไรทั้งสิ้น แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดผลดีแก่ประชาชนในท้องถิ่น เมื่อกองกำลังส่วนหนึ่งยอมทำสัญญาหยุดยิง เพราะทำให้ชีวิตปกติของผู้คนเริ่มกลับคืนมาบ้าง ในขณะเดียวกันความสงบในระดับหนึ่งก็เป็นประโยชน์แก่นายทหารของกองทัพด้วย เพราะสามารถร่วมหุ้น, กินหัวคิว, รับค่าคุ้มครอง ฯลฯ จากบริษัทต่างชาติ ซึ่งได้รับสัมปทานดูดทรัพยากรในอาณาบริเวณที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยเคยปฏิบัติการ ว่ากันว่าตัวขิ่นยุ้นต์เองได้ “กำไร” มหาศาลทีเดียวจากสัญญาหยุดยิงที่ตนเองสู้เจรจามาได้

อีกสองเหตุการณ์ที่มีส่วนเปิดฉากการปฏิรูปในพม่าเกิดขึ้นในเวลาใกล้กัน เหตุการณ์แรกคือ การปฏิวัติผ้าเหลืองใน 2007 (2550) การที่กองทัพพม่าใช้กำลังป่าเถื่อนปราบปรามผู้แข็งข้อทางการเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ และการปราบปรามในครั้งนี้ พระและผู้คนที่ถูกสังหารกลางถนนยังมีน้อยกว่าการประท้วงของนักศึกษาใน 1988 (2531) ด้วยซ้ำ (แต่ยกกำลังไปจับพระสึก และสังหาร หรือส่งฟ้องจนต้องจำคุก ในเวลากลางคืน อาจมีมากกว่า แต่ไม่มีประจักษ์พยาน) แต่โลกเปลี่ยนไปแล้ว มีผู้สื่อข่าวที่แฝงเข้ามากับนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งสามารถส่งเรื่องและภาพ (ทั้งนิ่งและเคลื่อนไหว) ออกไปนอกประเทศได้ นักท่องเที่ยวและคนพม่าเองถ่ายภาพจากโทรศัพท์มือถือไว้ได้ และลักลอบส่งผ่านอินเตอร์เน็ตออกไปต่างประเทศอีกมาก ดังนั้นปฏิกิริยาของโลกจึงแรงมากกว่าที่ระบอบทหารพม่าคาดคิดไว้ ทำให้เริ่มรู้สึกกันขึ้นว่ากองทัพจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบอบปกครองของตนให้พอเป็นที่รับได้แก่โลกบ้าง แต่ก็ไม่ไว้วางใจประชาชน องค์กรประชาสังคมทั้งในและต่างชาติ หรือรัฐบาลต่างชาติที่ในทรรศนะของนายทหาร “แทรกแซงการเมือง” พม่าตลอดมา

ปีถัดมาคือ 2008 (2551) คือปีของไต้ฝุ่นนาร์กีส ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นใหญ่เกินกว่ารัฐบาลทหารพม่าจะรับมือไหว (ตายกว่า 8 หมื่น สูญหายกว่า 5 หมื่น ผู้คนได้รับผลกระทบ 2.4 ล้านคน มีคนไร้บ้านจากพายุถึงกว่า 8 แสนคน ที่นากว่า 3 ล้านไร่ถูกน้ำเค็มท่วม) รัฐบาลตอบสนองต่อภัยพิบัติครั้งนี้อย่างงุ่มง่ามเต็มที เพราะไม่มีทั้งกำลังคนหรือกำลังทรัพย์จะทำให้ดีกว่านี้ได้ แม้ว่าไม่อนุญาตให้ชาติตะวันตกลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปในระยะแรก ก็ด้วยเหตุที่หวาดระแวงทางการเมือง แต่รัฐบาลทหารรับความช่วยเหลือจากเพื่อนอาเซียนโดยไม่รีรอ และต่อมาในภายหลังก็ยอมรับความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก รวมแม้แต่จากสหรัฐซึ่งลำเลียงวัสดุสิ่งของและอาหารทางอากาศเข้าไปจำนวนมาก

ถึงมีสิ่งของแล้ว การกระจายความช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างรีบด่วนให้ถึงมือผู้ประสบภัย ก็ยังทำได้อย่างงุ่มง่ามนั่นเอง ปราศจากองค์กรภาคประชาชนในท้องถิ่น การกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึงทำไม่ได้เลย (แม้ในประเทศไทยเอง ถึงมีองค์กรภาคประชาชนแต่ก็อ่อนแอ การกระจายความช่วยเหลือให้ถึงมือผู้ประสบภัยอย่างเป็นระบบก็ทำอย่างไม่เคยดีสักที ลองนึกถึงสึนามิในภาคใต้ของไทยใน 2004 (2547) หรือน้ำท่วมใหญ่ใน 2011 (2554) ดูเถิด)

ผลที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์เช่นนี้ โดยไม่มีใครเจตนาก็คือ ความหวาดระแวงของรัฐบาลทหารต่อความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกลดลง อย่างน้อยก็มองเห็นว่าพม่าสามารถรักษาระดับความสัมพันธ์นั้นไว้ในระยะห่างที่ตนปรารถนาได้

ท่ามกลางความงุ่มง่ามของรัฐบาลทหาร ประชาชนพม่าได้ร่วมกันสละเงินและสิ่งของ จัดคณะนำเอาความช่วยเหลือลงไปเขตอุบัติภัยเอง แม้ว่ารัฐบาลทหารจะห้าม เพราะเกรงว่ากลุ่มที่มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองจะใช้เป็นโอกาสสร้างความวุ่นวายขึ้น (เช่น Zaganar ตลกการเมืองที่โด่งดังของพม่าก็ถูกจับกุมและติดคุกเพราะเหตุนี้) แต่ก็มีกลุ่มที่ได้รับอนุมัติและลักลอบเข้าไปอีกมาก ความช่วยเหลือเหยื่อไต้ฝุ่นนาร์กีสจึงกลายเป็นบทเรียนแก่คนชั้นกลางพม่า ในการจัดองค์กรเพื่อทำงานด้านเศรษฐกิจ และสังคมในเวลาต่อมา เกิดองค์กรภาคประชาสังคมในพม่าที่ดำเนินการโดยชาวพม่าเองเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งได้รับความไว้วางใจจากทหารระดับหนึ่ง จึงสามารถทำกิจกรรมต่อเนื่องมาได้

งานที่ต้องทำหลังอุบัติภัยนาร์กีสยังมีอีกมาก บ้านเรือนและสถานที่ราชการพังเสียหาย, เด็กกำพร้าจำนวนมาก, โรงเรียนหายไปกับพายุ, ฯลฯ ทำให้องค์กรภาคประชาสังคมยังต้องดำเนินงานต่อไป หรือได้รับอนุมัติให้ดำเนินงานต่อไป ซ้ำยังเพิ่มขึ้นทั้งในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ และนอกพื้นที่นั้น ขยายกว้างขึ้น ทั้งนี้เพราะฝ่ายทหารเริ่มวางใจกลุ่มประชาสังคมมากขึ้น ตราบเท่าที่กิจกรรมของกลุ่มเหล่านี้ไม่ต่อต้านกองทัพในทางการเมือง หรือหลายครั้งด้วยกันเป็นการทำงานเสริมนโยบายพัฒนาบางด้านของกองทัพด้วย

ยิ่งกว่าความวางใจในระดับหนึ่งที่ทหารมีให้แก่องค์กรภาคประชาสังคม การได้ร่วมงานกันยังทำให้ทหารที่ได้สัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาชนมีโลกทรรศน์กว้างขวางขึ้น อาชีพทหารคือทางมาของรายได้ที่มั่นคงที่สุดในพม่า เหตุดังนั้นจึงดึงดูดเด็กผู้ชายจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดีนักเข้าสู่การเป็นทหาร หากไม่จนนักพอได้เรียนหนังสือบ้างก็เป็นนายทหารผ่านการเรียนในโรงเรียนทหาร หลังจากนั้นก็ปฏิบัติการทางทหารในป่าดงหรือเขตไม่สงบในพื้นที่ห่างไกลไปตลอด ความรู้ความเข้าใจความสลับซับซ้อนของโลกปัจจุบันของทหารจึงไม่มี (อย่าลืมด้วยว่าการสื่อสารมวลชนในพม่าล้าหลังอย่างมาก) ดังนั้นการได้สัมพันธ์กับผู้ปฏิบัติงานภาคประชาชน ทั้งที่เป็นพลเรือนพม่าหรือต่างชาติ จึงเปิดโลกทรรศน์ของทหารอย่างมาก อย่างน้อยก็มีทหารส่วนหนึ่งในกองทัพที่เห็นแล้วว่า กองทัพจะคุมพม่าสืบไปโดยไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไรเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะจะยิ่งทำให้พม่าถอยหลังไกลออกไปจากเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างกู่ไม่ถึง

นโยบาย “สัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์” ของอาเซียน, ไต้ฝุ่นนาร์กีส, การปฏิบัติงานขององค์กรภาคประชาสังคม ล้วนมีส่วนมากบ้างน้อยบ้างในการทำให้กองทัพพม่ามองเห็นความเป็นไปได้ที่จะปฏิรูปประเทศ โดยกองทัพไม่สูญเสียอำนาจนำไปสิ้นเชิง การเข้าไปสัมพันธ์กับนานาชาติกว้างขวางขึ้นทำให้กองทัพอยากเลิกเป็นผู้นำของ “รัฐจัณฑาล” เพื่อเปิดทางเลือกให้หลากหลายขึ้นแก่ประเทศ

และถ้าจะเรียกการปรับเปลี่ยนนี้ว่า “ปฏิรูป” ภายใต้บรรยากาศอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้นำกองทัพก็เคลื่อนกระบวนการปฏิรูปอย่างจริงจังหลังไต้ฝุ่นนาร์กีสถล่ม นั่นคือการขับเคลื่อนให้สภาร่างรัฐธรรมนูญภายใต้การกำกับอย่างรัดกุมของกองทัพ ซึ่งได้ชะงักงันมานาน ได้ทำงานให้สำเร็จลุล่วงไป จนจัดให้มีการลงประชามติที่ไม่เสรีผ่านรัฐธรรมนูญนั้นออกมาใน 2010

ดอว์ซูซึ่งขณะนั้นยังถูกกักบริเวณอยู่ และพรรคเอ็นแอลดีไม่ยอมรับทั้งรัฐธรรมนูญและการลงประชามติจอมปลอม ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่รับไม่ได้อย่างยิ่งแก่ดอว์ซูก็คือ คนพม่าที่มีคู่สมรสหรือบุตรเป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิเป็นประธานาธิบดี, สมาชิกสภาล่าง และสภาสูง 25% เป็นผู้ที่กองทัพแต่งตั้ง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้คะแนนเสียงเกิน 75% ของสองสภา (ซึ่งก็คือแก้ไม่ได้นอกจากได้รับอนุมัติจากกองทัพ)

(อันที่จริงแม้ข้อกำหนดเกี่ยวกับคู่สมรสและบุตรอาจร่างขึ้นเพื่อกีดกันดอว์ซูโดยตรง แต่มีผลรอนสิทธิของคนพม่าอีกมาก เพราะมีผู้ลี้ภัยพม่า-ภัยการเมือง และเศรษฐกิจ, ลี้ภัยอย่างถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย-จำนวนมากทั่วโลก ซึ่งได้สมรสและมีบุตรกับคนต่างชาติ ดังนั้น จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่า การคัดค้านข้อกำหนดนี้ของดอว์ซูเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว … แต่ต้องดูประกอบกับพฤติการณ์ข้างหน้าของตัวเธอเองด้วย)

รัฐธรรมนูญยังทำให้กลุ่มประชาสังคมแตกแยกกันมากขึ้น กลุ่มที่ทำงานอยู่ภายนอกประเทศเห็นว่า กลุ่มที่ยังทำงานในพม่าภายใต้การอนุมัติของกองทัพ คือผู้ทรยศต่อหลักการประชาธิปไตย แต่กลุ่มที่ยอมทำงานภายใต้เผด็จการทหารพม่าเห็นว่ามีรัฐธรรมนูญแม้ว่าอยู่ในสภาพกะรุ่งกะริ่งอย่างไร ก็ยังดีกว่าไม่มี เพราะทำให้เกิดพื้นที่เคลื่อนไหวมากขึ้นและแน่นอนขึ้นไปพร้อมกัน ยิ่งกว่านี้ความทุกข์ยาก และความล้าหลังของสังคมพม่า ภาคประชาชนต้องลงมือทำอย่างรีบด่วน มากกว่าการเกี่ยงงอนด้วยหลักการใหญ่ๆ จึงไม่เห็นด้วยกับการแซงก์ชั่นของมหาอำนาจตะวันตก เพราะทำความเดือดร้อนแก่ประชาชนมากกว่าแก่เผด็จการทหาร ยังไม่พูดถึงผลดีที่การทำงานช่วยขยายโลกทรรศน์ของทหาร

ตราบเท่าที่เอ็นจีโอ และนักวิชาการยังรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ การร่วมมือกับเผด็จการทหารที่ไม่เสียหลักการและความเป็นตัวของตัวเอง ก็อาจเป็นประโยชน์ จุดยืนนี้พอฟังขึ้น และยากจะตัดสินว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก แต่เอ็นจีโอและนักวิชาการที่ไปร่วมมือกับเผด็จการทหาร โดยไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเหลืออยู่ กลายเป็นเครื่องมือให้แก่เผด็จการอย่างหน้าด้านๆ อย่างที่เราเห็นในเมืองไทย ขืนอ้างอย่างนี้ ก็มีแต่จะทำให้บรรยากาศอบอวลไปด้วยขี้ฟันเท่านั้น

ในด้านหนึ่ง ดอว์ซูแสดงจุดยืนประชาธิปไตยอย่างแข็งกร้าวแก่สังคมภายนอก แต่อีกด้านหนึ่ง เธอทำจดหมายถึงตานฉ่วยเสนอความช่วยเหลือที่จะให้มหาอำนาจตะวันตกยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่นเสีย (อย่าลืมว่าเธอเคยยืนยันให้ตะวันตกใช้มาตรการแซงก์ชั่นมาก่อน) ในทางการเมืองก็น่าจะเข้าใจได้ นักการเมืองย่อมต้องการ “พื้นที่” สำหรับการเคลื่อนไหวไม่ต่างจากเอ็นจีโอ

ตานฉ่วยจะคิดกับข้อเสนอนี้อย่างไรไม่ทราบได้ แต่ทำให้นายทหารส่วนหนึ่งพอจะเห็นความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือทางการเมืองกับดอว์ซูระดับหนึ่ง แม้ว่าการแซงก์ชั่นไม่ทำความเดือดร้อนให้นายทหารที่กอบโกยความมั่งคั่งอย่างเต็มที่ แต่ในระยะยาวก็เริ่มอึดอัด เพราะเงินที่คดโกงและรีดไถมาได้จำนวนมหาศาล ทำอะไรกับมันไม่ได้มากไปกว่านำไปฝากธนาคารสิงคโปร์ (หรือแต่งลูกสาวให้บันลือโลก) ฉะนั้นหากตะวันตกยกเลิกการแซงก์ชั่นเสียที ย่อมเปิดทางเลือกให้แก่ทุนของนายทหารที่นอนอยู่นิ่งๆ ได้อีกมาก

การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นในปลายปี 2010 (2553) กองทัพจัดการเลือกตั้งให้พรรค USDP ของกองทัพคุมคะแนนเสียงเด็ดขาดทั้งในสภาล่างและสภาบน แม้กระนั้นพรรคของชนกลุ่มน้อยก็ยังชนะการเลือกตั้งในสภาท้องถิ่นบางแห่ง คนที่กองทัพเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคือนายพลโทเต็งเส่ง ซึ่งเคยเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาก่อนการเลือกตั้ง

ทำไมจึงต้องเป็นเต็งเส่ง จะกล่าวถึงข้างหน้า

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image