คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: 6 ปี ฟุคุชิมากับความจริง

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ถูกผลักลงลึกไปเรื่อยๆ ในลิ้นชักความทรงจำของคนทั่วไป แม้ว่าในความทรงจำของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ต่อด้วยคลื่นยักษ์และหายนะทางนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทุกอย่างยังคงสดใหม่อยู่ก็ตามที

ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงดังกล่าว คือผู้ที่ญาติมิตรตกเป็นเหยื่อของสึนามิไปในวันนั้นร่วมๆ 19,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่พำนักอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของฟุคุชิมา วินาศภัยที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟุกุชิมา-ไดอิจิ ในเวลาต่อมา ส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นต้องบังคับอพยพผู้คนโดยรอบบริเวณ ออกนอกที่อยู่อาศัยดั้งเดิมอีกกว่า 160,000 คน

6 ปีผ่านไป มีเพียงจำนวนน้อยมากของตัวเลขดังกล่าวนั้นสามารถเดินทางกลับเข้าไปอยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยแต่เดิม เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการคิดว่าพื้นที่เหล่านั้นปลอดภัยแล้ว

ในปัจจุบันนี้ เมื่อตรวจสอบอาณาบริเวณ ฟุคุชิมา-ไดอิจิ และพื้นที่โดยรอบเพียงผิวเผินก็จะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายจากบริเวณเดียวกันนี้เมื่อ 5 ปีก่อน อันเป็นวาระแรกๆ ที่บุคคลภายนอกได้รับการยินยอมให้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว

Advertisement

เมื่อ 5 ปีก่อน ฟุคุชิมา-ไดอิจิ เต็มไปด้วยเศษซากสิ่งของปรักหักพังที่คลื่นยักษ์หอบมาจากที่ไหนก็ไม่รู้มากองเอาไว้ ท่อฉีดน้ำดับเพลิง ท่อนเหล็ก ซีเมนต์ อิฐที่เป็นซากสิ่งปลูกสร้างและอาคารกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ขณะที่คนงานหลายพันพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อจัดการกับปัญหาการรั่วไหลในเตาปฏิกรณ์ ท่ามกลางความหวั่นกลัวระดับกัมมันตภาพรังสีที่กำกับอยู่ในทุกย่างก้าวของพวกเขา

6 ปีผ่านไป อาคารเตาปฏิกรณ์ที่เสียหายถูกเสริมความแข็งแรงขึ้นมาอีกครั้ง แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วมากกว่า 1,300 ชิ้น ถูกจัดการเก็บรวบรวมและเคลื่อนย้ายออกจากสระเก็บของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 พื้นดินของโรงไฟฟ้าทุกตารางนิ้วถูกเคลือบด้วยสารเคลือบพิเศษ ที่จะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำฟ้า-ฝน หิมะ และอื่นใด แทรกซึมลงไปใต้ดิน เพิ่มปัญหาให้กับการบริหารจัดการน้ำใต้ดินของ บริษัท โตเกียว อิเลคทริก เพาเวอร์ หรือ เทปโก ผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

คนงานซึ่งครั้งหนึ่งเคยจำเป็นต้องเปลี่ยนการแต่งกายเป็นชุดป้องกันรังสีหนาหนักทุกครั้งที่จำเป็นต้องย่างกรายเข้าไปในอาณาบริเวณโรงไฟฟ้า ตอนนี้เพียงสวมเสื้อผ้าบางๆ ตามปกติทั่วไปและใช้เพียงหน้ากากศัลยกรรมเท่านั้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในโรงไฟฟ้า

Advertisement

พนักงาน 6,000 คนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพนักงานสัญญาจ้าง สามารถดื่มกิน “อาหารอุ่น” และหยุดพักผ่อนบรรเทาความเหนื่อยล้าที่อาคาร “เรสต์ เฮาส์” ซึ่งเพิ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2015

มองจากภายนอก อันตรายไร้ตัวตน ไม่มีรูปลักษณ์จาก ฟุคุชิมา-ไดอิจิ บรรเทาเบาบางลงเรื่อยๆ สถานการณ์ดูเหมือนจะมากหรือน้อยก็ “อาจ” อยู่ภายใต้การควบคุม

แต่น่าเสียใจที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

จากแนวชายหาดที่ทอดตัวลดเลี้ยวไปกับริมน้ำ เมื่อมองเหนือขึ้นไปบนยอดเนิน สิ่งผิดปกติอย่างแรกในสายตาของทุกผู้คนคือแนวถังเหล็กกล้าเรียงรายเป็นแถวนับไม่ถ้วน แต่ละถังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างเอกอุในการต่อสู้กับการลงทัณฑ์ของธรรมชาติในแต่ละวัน แต่ละปีที่ผ่านมา

แผ่นดินไหวใหญ่ก่อให้เกิดสึนามิ คลื่นขนาดมหึมาถาโถมเข้าใส่ฟูกุชิมา-ไดอิจิ ส่งผลให้ระบบการทำงานของเตาปฏิกรณ์ผิดปกติ เกิดสภาวะ “โอเวอร์ฮีท” ขึ้นในส่วนเก็บแท่งเชื้อเพลิง ร้อนจัดจนแท่งเชื้อเพลิงหลอมละลาย แล้วยังทวีความร้อนต่อเนื่องถึงขนาดทำให้ห้องนิรภัยทะลุ แท่งเชื้อเพลิงทั้งหมดที่หลอมจับตัวเป็นก้อนร่วงลงสู่ก้นเตา แพร่กัมมันตภาพรังสีมรณะให้กับน้ำใต้ดินทั้งหมดในอาณาบริเวณดังกล่าว

ถังเหล็กเหล่านั้นคือภาชนะเก็บกักน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเหล่านั้น

ตอนนี้กาลเวลาผ่านไปนาน 6 ปี ปริมาณน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 900,000 ตัน และยังไม่ยุติ

น้ำปนเปื้อนยังคงเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ในระดับความเร็วที่ทำให้คาดกันว่าอีกไม่ช้าไม่นานก็คงทะลุผ่านปริมาณ 1 ล้านตัน

ปัญหาน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี คือปัญหาใหญ่ เทปโกพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อจำกัดการปนเปื้อนให้คงอยู่จำเพาะภายในอาณาบริเวณฟุคุชิมา-ไดอิจิ ครั้งหนึ่งถึงขนาดทุ่มงบประมาณ 24,500 ล้านเยน เพื่อทำให้พื้นดินบริเวณโดยรอบเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดจับแข็ง ทำหน้าที่เป็นเหมือนเกราะอย่างดีป้องกันไม่ให้น้ำใต้ดินแทรกซึมเข้าสู่บริเวณฐานใต้ดินของเตาปฏิกรณ์แต่ละตัว

แต่จนแล้วจนรอดความพยายามที่อวดอ้างเอาไว้มากก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง น้ำใต้ดินยังคงแทรกซึมเข้าไป ผสมปนเปเข้ากับกัมมันตภาพรังสีปริมาณสูงมากที่รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับน้ำที่เคยทำหน้าที่ “หล่อเย็น” ให้กับเตาปฏิกรณ์เหล่านั้น

ยูอิจิ โอกามูระ โฆษกของเทปโกยอมรับว่า โครงสร้างของกำแพงดินเยือกแข็ง ที่ทำให้ดินในอาณาบริเวณจับตัวแข็งภายใต้อุณหภูมิเย็นจัดลึกลงไปถึง 30 เมตร ยังคงปล่อยให้น้ำใต้ดินเล็ดรอดเข้าไปจนถึงฐานของเตาปฏิกรณ์อยู่ทุกวัน วันละ 150 ตัน

เหตุผลส่วนหนึ่งอาจมาจากแนวของพื้นดิน 5 ด้านที่ยังคงเปิดไว้โดยเจตนา เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำในบริเวณฐานใต้ดินของเตาปฏิกรณ์สูงขึ้นมากและเร็ว จนไหลนองออกมาเร็วมากยิ่งขึ้น และใช้วิธีค่อยๆ ปิดผนึกพื้นที่เหล่านั้นต่อไป

โอกามูระเชื่อว่า ถึงเดือนเมษายนน่าจะจำกัดปริมาณน้ำปนเปื้อนให้อยู่ที่ระดับ 100 ตันต่อวันได้ แล้วขจัดปัญหาน้ำปนเปื้อนทั้งหมดได้ภายในปี 2020

ปี 2020 เป็นวาระที่มหานครโตเกียวกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกเกมส์ขึ้นมา

หากต้องการกำจัดการปนเปื้อนของน้ำใต้ดินให้ได้โดยเด็ดขาด สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือค้นหาสาเหตุของการปนเปื้อนและจัดการกับต้นเหตุดังกล่าวให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการนำเอาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกไปให้หมด หรือด้วยการ “ปิดตาย” บริเวณที่เป็นแหล่งที่มาของสารกัมมันตภาพรังสีโดยถาวรต่อไป

แต่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้ จำเป็นต้องรู้ให้ได้ก่อนอื่นว่า สภาพภายในเตาปฏิกรณ์ปรมาณูแต่ละเตาเป็นอย่างไร

นั่นคือเหตุผลของการจัดส่งหุ่นยนต์ 2 ตัวเข้าไปภายในเตาปฏิกรณ์ฟุคุชิมา-ไดอิจิเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เป้าหมายของปฏิบัติการด้วยหุ่นยนต์ครั้งนี้คือ เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ซึ่งจู่ๆ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ปริมาณรังสีอันตรายเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวินาศภัยไม่คาดฝันขึ้นมาก่อนหน้านี้

ระดับกัมมันตภาพรังสีในบรรยากาศโดยรอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 530 ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ทั้งๆ ที่เมื่อปี 2012 วัดค่าดังกล่าวได้เพียง 73 ซีเวิร์ตต่อชั่วโมงเท่านั้นเอง

ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ของเทปโกส่งหุ่นยนต์ตัวแรกเข้าไปภายในเตา หุ่นตัวนี้ทำหน้าที่เป็น “หุ่นกำจัดสิ่งกีดขวาง” เพื่อเปิดทางสะดวกให้กับหุ่นยนต์ที่จะทำหน้าที่สำรวจภายใน ที่กำหนดจะเข้าไปตรวจสอบภายในห้องเก็บเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์ในเวลาต่อมา

หุ่นยนต์กำจัดสิ่งกีดขวาง มีทั้งอุปกรณ์ตักเพื่อดันสิ่งกีดขวางออกให้พ้นทาง และยังมีท่อฉีดน้ำแรงดันสูงสำหรับฉีดเพื่อทำความสะอาดเส้นทาง มันทำงานภายใต้การควบคุมจากระยะไกลโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งศึกษาสภาพเส้นทางผ่านทางกล้องวิดีโอที่ติดตั้งอยู่กับตัวหุ่น

แต่มันทำงานได้เพียง 2 ชั่วโมง เคลียร์เส้นทางเพียงส่วนเดียวของเส้นทางทั้งหมด เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องดึงหุ่นยนต์กลับออกมา เมื่อสังเกตพบว่าวิดีโอตามเวลาจริงของหุ่นมีสัญญาณรบกวนถี่ขึ้นและมืดมากขึ้นตามลำดับ เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ของมันเริ่มได้รับความเสียหายจากกัมมันตภาพรังสีภายในแล้ว

ในวันที่ 9 มีนาคม เทปโกตัดสินใจส่ง “สกอร์เปียน” หุ่นยนต์ที่ติดตั้งกล้องถ่ายทอด 2 กล้อง พร้อมเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจสอบสภาพภายในเตาปฏิกรณ์ ลงไปตามเส้นทางที่เคลียร์ไว้เป็นบางส่วนอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบจุดที่แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายติดอยู่ ว่าอยู่ตรงไหนและอยู่ในสภาพเป็นอย่างไรให้ได้แน่ชัด

หลังจากใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ควบคุมสกอร์เปียนให้เดินทางไปตามเส้นทางที่ต้องการได้เพียง 1 ใน 5 ของเส้นทางทั้งหมด แล้วก็ยกมือยอมแพ้ จำเป็นต้องยุติความพยายามทุกอย่างลงเพียงแค่นั้น

เจ้าหุ่นสกอร์เปียน “ตายแล้ว” วิศวกรรายหนึ่งบอก

“สกอร์เปียน” เป็นหุ่นยนต์สำรวจที่บริษัทโตชิบาผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานสำรวจในพื้นที่ที่มีสารกัมมันตภาพรังสีเข้มข้นโดยเฉพาะ โตชิบาเชื่อว่ามันจะทำงานอยู่ได้นาน 10 ชั่วโมง ภายใต้ระดับความเข้มข้นของสารกัมมันตภาพรังสีสูงถึงระดับ 1,000 ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง เพื่อให้มีเวลานานพอในการสำรวจและเก็บข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการขั้นต่อไปกับเตาไฟฟ้านิวเคลียร์พิการทั้ง 3 เตา

เอาเข้าจริงมันทนทานอยู่ได้เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง

ตามข้อมูลเท่าที่ได้ สกอร์เปียน “ตาย” อยู่บริเวณรางด้านใต้เกราะแรงดันของเตาปฏิกรณ์ เมื่อเส้นทางของมันถูกเศษชิ้นส่วนของแท่งเชื้อเพลิงและอื่นๆ ขวางทางอยู่

ตอนที่มัน “ตาย” ข้อมูลจากเซ็นเซอร์วัดปริมาณรังสีของมันแสดงให้เห็นว่า ปริมาณกัมมันตภาพรังสีตรงจุดนั้นอยู่ที่ 250 ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ลดลงจากปริมาณที่หุ่นยนต์กำจัดสิ่งกีดขวางเคยวัดเอาไว้ในจุดเดียวกันนี้ซึ่งมีปริมาณรังสีสูงถึง 650 ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่สามารถทำให้ผู้ชายแข็งแรงตายได้ทันทีในเวลาเพียง 1 นาที

ชุนจิ อูชิดะ ผู้จัดการฟุคุชิมา-ไดอิจิ ยอมรับว่าถึงตอนนี้วิศวกรของเทปโกยังมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพและจุดที่ตั้งของแท่งเชื้อเพลิงภายในเตาปฏิกรณ์ “จำกัด” มาก เทียบได้เหมือนกับได้แอบดูแล้วเห็นภาพจำกัดมากผ่านช่องมองเล็กๆ เท่านั้นเอง

ไม่มีใครแน่ใจนักว่าเกิดอะไรขึ้นกับสกอร์เปียน ทำไมมันถึง “ตาย” กระนั้นเทปโกก็ยังไม่มีและยังไม่ได้คิดถึงวิธีการอื่นๆ นอกเหนือจากนี้

เนาฮิโร มาซูดะ ประธานฝ่ายการเตรียมการเพื่อปลดระวางโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา-ไดอิจิ ยืนยันว่าอยากให้มีปฏิบัติการโดยหุ่นยนต์ทำนองเดียวกันนี้อีกครั้ง ก่อนที่จะมีการตัดสินใจอื่นๆ ต่อไป

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ จนถึงขณะนี้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เป็นเพียงเตาปฏิกรณ์เดียวเท่านั้นที่เทปโกเข้าไปจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดมาโดยตลอด ในขณะที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ยังไม่มีการแตะต้องใดๆ ทั้งสิ้น

ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เทปโกกำหนดจะส่ง “หุ่นยนต์กันน้ำ” เข้าไปในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1

ส่วนเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ซึ่งเสียหายหนักที่สุด ยังไม่มีแม้แต่แผนการใดๆ ทั้งสิ้น

มาซูดะยังคงยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าจะสามารถเก็บเอาแท่งเชื้อเพลิงที่หลอมละลายอยู่ในเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดออกมาได้ภายในปี 2021 หนึ่งทศวรรษเต็มๆ ของเหตุการณ์วินาศภัยครั้งนี้

แต่ ชอว์น เบอร์นี ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์อาวุโส ของกรีนพีซ เยอรมนี ยืนยันว่าปัญหาท้าทายที่เทปโกเผชิญอยู่ในเวลานี้นั้น “ไม่เคยมีมาก่อน” และ “แทบจะอยู่นอกเหนือความเข้าใจ” ของผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ทั้งหมด และยืนยันว่าการกำหนดเอาปี 2021 เป็นปีปลดระวางและจัดการเคลียร์ปัญหาฟุคุชิมา-ไดอิจิ ชนิดถาวรนั้น “ไม่สอดคล้องกับความจริง หรือไม่ก็ไม่น่าเชื่อถือ” ใดๆ ทั้งสิ้น

ภารกิจสำรวจที่ล้มเหลวที่เตาหมายเลข 2 เป็นการยืนยันความเป็นจริงดังกล่าวนี้ให้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก

เบอร์นีชี้ว่า การกำหนดเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่หลอมละลายอยู่นับเป็นร้อยๆ ตัน โดยที่ยังไม่มีใครรู้ตำแหน่งที่แน่ชัดและสภาพที่แท้จริงของมันให้ได้ภายในปี 2020 เป็น “จินตนาการ” โดยแท้

เป็นกำหนดเวลาที่ยืนอยู่บนความต้องการของ ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ที่ต้องการจัดโอลิมปิกเกมส์และต้องการกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง

แต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานตามสภาพความเป็นจริงในที่เกิดเหตุและความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น

แม้แต่ ชุนอิจิ ทานากะ ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นยังยอมรับว่า ความมั่นใจของเทปโก ไม่น่าจะเป็นไปได้ในความเป็นจริง

“ตอนนี้เรายังเหมือนเดินอยู่ในความมืดอยู่เลย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image