รถไฟ “ไร้อภินิหาร” “เด่นชัย-เชียงราย” โปรเจ็กต์ฝันค้าง57ปี

รัฐบาลไหนทุกยุคทุกสมัย ยังไม่สามารถสะสางปัญหาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้ลุล่วงไปได้ แม้ว่ารู้ปัญหาที่สะสมคั่งค้างมานานก็ตาม

ขณะเดียวกันก็รู้ดีว่าระบบขนส่งทางรางถือเป็นหัวใจ การลดต้นทุนการผลิตที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่การแก้ปัญหา รฟท.ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ

ล่าสุดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ก็มีอันต้องสะดุดลงจนได้ แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพยายามอาศัยช่วงสถานการณ์พิเศษ ผลักดันให้ทุกโครงการค้างคาอยู่เดินหน้าต่อไปได้ก็ตาม

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง 2559 หรือแอ๊กชั่นแพลน ระยะแรก มีอันต้องมาหยุดชะงักลง เมื่อมีคำสั่ง ม.44 ให้คณะกรรมการหรือบอร์ด รฟท.ต้องพ้นจากตําแหน่ง และแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ขึ้นมาแทน ขณะเดียวกันก็มีคำสั่งปลด นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ รฟท.พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการ รฟท.แทน

Advertisement

ที่สำคัญคือคำสั่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างที่มี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ทั้ง 5 เส้นทางอยู่ในขั้นตอนประกวดราคา ว่าดำเนินการมาอย่างถูกต้องโปร่งใสจริงหรือไม่

ได้แก่ 1.เส้นทาง ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 17,290.63 ล้านบาท 2.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงินลงทุน 29,449.31 ล้านบาท 3.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงินรวม 24,722.28 ล้านบาท 4.ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงินลงทุนรวม 20,046.41 ล้านบาท และ 5.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงินลงทุนรวม 10,239.58 ล้านบาท

การเข้ามาตรวจสอบของซุปเปอร์บอร์ดครั้งนี้ให้เหตุผลว่า เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะมีการร้องเรียนมาก และจะใช้โครงการนี้เป็นบรรทัดฐานสำหรับโครงการใหญ่ๆ ในอนาคตด้วย

Advertisement

แต่มีความกังวลว่าโครงการจะล่าช้ากว่าแผนงานที่รัฐบาล คสช.กำหนดออกไปอีก เพราะเดิมวางแผนไว้ว่าจะเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาได้ในปลายเดือนมีนาคมนี้ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่าทางซุปเปอร์บอร์ดจะเลือกแนวทางไหนเดินหน้าประกวดราคาต่อ จากทั้งหมด 4 แนวทางที่ รฟท.เสนอให้ซุปเปอร์บอร์ดพิจารณา

หนึ่งในนั้นคือการเสนอให้ใช้เงื่อนไขประกวดราคาหรือทีโออาร์เดิม เพื่อให้โครงการไม่ช้ามากนัก ส่วนทางเลือกที่เหลือจะมีทั้งการร่างทีโออาร์ใหม่ เพื่อแบ่งประกวดราคาออกมาเป็นช่วงหรือตอน เพื่อให้รถไฟทางคู่แต่ละเส้นทางมีผู้รับเหมาก่อสร้างหลายราย เป็นต้น

ผลกระทบจากความล่าที่เกิดกับแอ๊กชั่นแพลน ระยะแรก ทำให้หลายคนเริ่มกังวลว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงแอ๊กชั่นแพลนปี 2560 หรือระยะที่ 2 จะต้องเดินหน้ารถไฟทางคู่อีก 9 เส้นทางจะสามารถเดินหน้าได้ตามแผนที่กำหนดจริงหรือไม่

โครงการรถไฟทางคู่ทั้ง 9 เส้นทาง วงเงินรวม 398,383.25 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 23,384.91 ล้านบาท 2.ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 339 กม. วงเงิน 51,823.83 ล้านบาท 3.ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,941.80 ล้านบาท 4.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. วงเงิน 56,066.25 ล้านบาท 5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 217 กม. วงเงิน 59,924.24 ล้านบาท

6.ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. วงเงิน 76,978.82 ล้านบาท 7.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม. วงเงิน 26,065.75 ล้านบาท 8.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. วงเงิน 35,839.74 ล้านบาท และ 9.ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 60,351.91 ล้านบาท

ตามแผนยังกำหนดไว้ว่า โครงการจะเปิดประกวดราคาได้ในปีงบประมาณ 2560 คือ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ช่วงชุมทางจิระ-อุบลฯ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ฯ ช่วงสุราษฎร์ฯ-สงขลา ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่

ส่วนอีก 2 ช่วง วางเป้าหมายต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-นครพนม ทั้ง 2 สายนี้ถือเป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่

หาก 5 โครงการแรกไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด นั่นก็หมายความว่าอีก 9 โครงการหลังก็อาจจะลุ้นไม่ขึ้น ประชาชนที่เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อก็อาจจะรอเก้อกันต่อไปแบบไร้อนาคต ทั้งที่บางโครงการก็รอกันมาเนินนานแล้ว ไม่ได้รอกันมาแค่ 1-2 ปี แต่รอมาถึง 57 ปี ก็ยังไม่ได้ใช้บริการ อย่างกรณี ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นเส้นทางสายใหม่ที่ได้ศึกษามาตั้งแต่ปี 2503

สำหรับสถานะของทางคู่สายนี้ ปัจจุบัน ได้ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ขั้นตอนต่อไปจะต้องรายละเอียดโครงการเข้าที่ประชุมบอร์ด รฟท.เพื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และขออนุมัติจาก ครม. เบื้องต้นได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้าง โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง เพื่อจะสร้างไปพร้อมกัน แทนการสร้างเป็นทางยาวรวดเดียว เพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทางคู่สายนี้มีทั้งหมด 26 สถานี แบ่งเป็นสถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี คือ สถานีเด่นชัย สถานีแพร่ สถานีพะเยา และสถานีเชียงราย สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถไฟ 13 สถานี ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 160 กม.ต่อชั่วโมง

แนวเส้นทางจะเริ่มจากเด่นชัย จ.แพร่ ผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ ของ 3 จังหวัดแพร่-พะเยา-เชียงราย มีอุโมงค์ 3 แห่ง อุโมงค์แรก อ.สอง จ.แพร่ ยาว 6.4 กม. ยาวที่สุดในประเทศ อุโมงค์ที่สอง อ.เมืองพะเยา 2.8 กม. และอุโมงค์สุดท้าย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย 3.6 กม. ตลอดระยะทางมีระบบป้องกันอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ เช่น สะพานข้าม ทางยกระดับ มีมูลค่าโครงการลงทุนรวมประมาณ 76,978 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างทางวิศวกรรม (รวมค่าจ้างที่ปรึกษา) 73,172 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 7,292 แปลง จำนวนพื้นที่ 9,661 ไร่ มูลค่า 3,808 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายจะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในปี 2560 เปิดบริการเดินรถภายในปี 2563

โครงการนี้กำหนดให้เป็นโครงการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการเดินทาง การค้า การลงทุนทางภาคเหนือของไทย ประกอบไปด้วย 21 ตำบล ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงของ อ.เชียงแสน และ อ.แม่สาย และมีชายแดนติดกับประเทศพม่า สปป.ลาว รวมทั้งเชื่อมต่อไปถึงมณฑลยูนนาน ประเทศจีนได้ด้วย

รฟท.จึงได้ประเมินว่าการก่อสร้างทางคู่สายนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยประเมินว่าภายในปี 2565 จะมีผู้โดยสารมากถึง 2,004,215 คนต่อปี และมีปริมาณขนส่งสินค้าได้สูงถึง 2,095,930 ตันต่อปี

ทางคู่สายนี้เกิดขึ้นมาจากการผลักดันของประชาชนในพื้นที่ เพราะต้องการเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เป็นประโยชน์ต่อการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพราะเป็นการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งไปยัง สปป.ลาวต่อไปจนถึงจีน

แต่ตอนนี้ประชาชนเริ่มไม่มั่นใจว่าทุกอย่างจะยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีช่วงบ้านไผ่-นครพนม เป็นเส้นทางสายใหม่เช่นเดียวกัน ได้ศึกษาตั้งแต่ปี 2537 ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่พยายามผลักดันให้มีรถไฟทางคู่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางขนส่งสินค้า และพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ในระหว่างนั้นติดปัญหามากมายโดยเฉพาะงบประมาณขาดแคลน จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวยืนยันว่า ทางคู่ที่อยู่ในแอ๊กชั่นแพลน ระยะที่ 2 อีก 9 เส้นทาง ขณะนี้ทุกโครงการยังเดินหน้าตามแผนงาน ไม่ได้ล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนดแต่อย่างใด ถึงแม้ทางคู่ 5 เส้นทางแรกจะยังไม่สามารถก่อสร้างได้ก็ตาม เนื่องจากมีช่องว่างของช่วงระยะเวลาการดำเนินโครงการที่สามารถดำเนินการได้ หลายโครงการก็อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเตรียมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ครม.อนุมัติโครงการ

นายอานนท์ยังระบุว่า ตอนนี้ทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงของ เป็นการตัดเส้นทางรถไฟขึ้นมาใหม่ หลายคนเป็นห่วงว่าจะล่าช้านั้น ยืนยันว่ายังเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดเช่นเดียวกัน

ท้ายที่สุดจะเดินหน้าตามแผนนี้ หรือแผนใหม่ จะดีเดย์เริ่มต้นก่อสร้างได้เมื่อใด

คำตอบทั้งหมด อยู่ที่รัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image