สุจิตต์ วงษ์เทศ : เวียงเหล็ก วัดพุทไธศวรรย์ (2) พระเจ้าอู่ทอง เป็นชาวสยามอยุธยายุคทวารวดี มีชุมชนหมู่บ้านกระจัดกระจาย

ชายฝั่งทะเลยุคทวารวดี อยู่ใกล้กรุงเทพฯ พบซากเรือโบราณ ราวหลัง พ.ศ. 1000 จมโคลนเลนนากุ้ง ใกล้วัดวิสุทธิวราวาส (วัดกลางคลอง) ต. พันท้ายนรสิงห์ อ. เมือง จ. สมุทรปราการ ภาพนี้เป็นแหล่งขุดค้นของนักโบราณคดี กรมศิลปากร (ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558)

กรุงศรีอยุธยา เติบโตโดยมีพัฒนาการจากชุมชนบ้านเล็กเมืองน้อย บริเวณที่ราบลุ่มน้ำในภาคกลาง ตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ ราวหลัง พ.ศ. 1000 (มักเรียกกันจนติดปากแล้วเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า ยุคทวารวดี)

ศูนย์กลางกรุงศรีอยุธยาเรียก พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณชุมทางคมนาคม มีทางน้ำหลายสายเชื่อมโยงติดต่อกับบ้านเมืองภายใน ทั้งทางตะวันตก, ทางเหนือ, ทางอีสาน ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำน้อย, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำป่าสัก

แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสายหลักของแม่น้ำอีกสามสายไหลรวมที่พระนครศรีอยุธยา ไปออกอ่าวไทยทะเลสมุทร ทำให้พระนครศรีอยุธยาเติบโตเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ มีคนนานาชาติพันธุ์ แล้วมีวัฒนธรรมผสมกลมกลืนจากบ้านเมืองต่างๆ ทั้งใกล้และไกล

อยุธยายุคทวารวดี มีชุมชนหมู่บ้าน

Advertisement

อยุธยายุคทวารวดี น่าจะมีชุมชนหมู่บ้านกระจัดกระจายทั่วไป เคยพบหลักฐานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทั้งแบบยุคก่อนทวารวดีกับยุคทวารวดี จมดินจมโคลนเลนอยู่ในท้องที่ต่างๆ

เพราะช่วงเวลานี้ ราวหลัง พ.ศ. 1000 อยุธยาเป็นที่ดอนกว้างใหญ่ในหน้าแล้ง มีน้ำท่วมในหน้าฝน นาดำทำไม่ได้ ชาวนาต้องทำนาหว่านเท่านั้น

แผนที่แสดงขอบเขตของชายฝั่งทะเลโบราณจากการค้นคว้าใหม่ทางธรณีวิทยา พบว่าอ่าวไทยสมัยทวารวดีราว พ.ศ. 1100-1400 นั้น ขึ้นมาถึงเพียงตอนใต้ของพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันมากนัก (ที่มา : ดร. ตรงใจ หุตางกูร)
แผนที่แสดงขอบเขตของชายฝั่งทะเลโบราณจากการค้นคว้าใหม่ทางธรณีวิทยา พบว่าอ่าวไทยสมัยทวารวดีราว พ.ศ. 1100-1400 นั้น ขึ้นมาถึงเพียงตอนใต้ของพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันมากนัก (ที่มา : ดร. ตรงใจ หุตางกูร)

ชายฝั่งทะเลยุคทวารวดี อยู่ใกล้กรุงเทพฯ

Advertisement

ชายฝั่งทะเลโบราณยุคทวารวดี อยู่แถวๆ บางขุนเทียน กรุงเทพฯ ไม่ไกลจากศาลพันท้ายนรสิงห์ คลองโคกขาม อ. เมือง จ. สมุทรสาคร (ใกล้ถนนพระราม 2)

พบซากเรือยุคทวารวดีจมในนากุ้ง (หลังวัดวิสุทธิวราวาส ไม่ไกลจากศาลพันท้าย          นรสิงห์) และก่อนหน้านี้ กรมศิลปากรเคยขุดพบซากเรือยุคเก่าที่บ้านนาขอม ซึ่งอยู่ถัดไป

“แนวชายฝั่งทะเลสมัยทวารวดี มีผืนป่าชายเลนอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ

ดังนั้น แนวชายฝั่งทะเลร่วมสมัยกับทวารวดี จึงมีขอบเขตไม่อยู่เหนือไปกว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร”

และ “เป็นไปไม่ได้ที่น้ำทะเลจะขึ้นไปประชิดถึงที่ตั้งเมืองสำคัญของทวารวดี อาทิ อู่ทอง หรือเมืองนครปฐมโบราณ”

[จากบทความเรื่องการตีความใหม่เรื่องขอบเขตแนวชายฝั่งทะเลโบราณสมัยทวารวดีบนที่ราบภาคกลางตอนล่าง ของ ดร. ตรงใจ หุตรงกูร ในวารสารดำรงวิชาการ ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ฉบับมกราคม-มิถุนายน 2557) หน้า 11-44]

ก่อนยุคทวารวดีหลายพันปี เคยมีชายฝั่งทะเลเว้าลึกเป็นลักษณะชะวากทะเล ถึงสุพรรณบุรี (ไม่มีในยุคทวารวดี)

แนวชายฝั่งทะเลโบราณ มีสภาพนิเวศแบบผืนป่าชายเลน เมื่อราว 8,400 ปีมาแล้ว น้ำทะเลขึ้นไปถึงพื้นที่ จ. สุพรรณบุรี ถึง จ. อ่างทอง

ต่อมาเมื่อเกิดการถดถอยของน้ำทะเลตั้งแต่ราว 7,000 ปีมาแล้ว ทำให้แนวชายฝั่งทะเลเคลื่อนที่ลงมาทางทิศใต้อย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ระดับปัจจุบัน

[รายงานผลการดำเนินงานโครงการวิจัยซากดึกดำบรรพ์ในชั้นตะกอนบริเวณแอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดย สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 (ปทุมธานี) กรมทรัพยากรธรณี พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2557 หน้า 102-103]

ที่ราบลุ่ม

แผนที่แสดงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแกน แบ่ง 2 ฟาก คือ ฟากตะวันตก เป็นบริเวณสยาม กับฟากตะวันออก เป็นบริเวณละโว้
แผนที่แสดงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแกน แบ่ง 2 ฟาก คือ ฟากตะวันตก เป็นบริเวณสยาม กับฟากตะวันออก เป็นบริเวณละโว้

กลุ่มสยาม-กลุ่มละโว้

กรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องจากรัฐทวารวดี (โถโลโปตี ที่ละโว้ ลพบุรี) มีกำเนิดเกี่ยวข้องกับผู้นำอย่างน้อย 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสยาม กับ กลุ่มละโว้

กลุ่มสยาม ใช้ภาษาไทย เป็นภาษากลาง (แต่ในชีวิตประจำวันพูดภาษาอื่น) มีผู้นำในตำนาน เรียก อู่ทอง อยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องใกล้ชิดขึ้นทางเหนือถึงลุ่มน้ำน่าน-ยม กับลงทางใต้ถึงดินแดนคาบสมุทร

ตำนานนิทานเรื่องท้าวอู่ทอง เกาะกลุ่มหนาแน่นบนพื้นที่แถบนี้ (จิตร ภูมิศักดิ์ เรียกกลุ่มตระกูลอินทร์)

กลุ่มละโว้ ใช้ภาษาเขมรในชีวิตประจำวัน มีผู้นำในพงศาวดาร เรียก รามาธิบดี อยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องใกล้ชิดกับอาณาจักรกัมพูชา

ตำนานนิทานเกี่ยวกับเมืองละโว้และกัมพูชา เช่น พระปทุมสุริยวงศ์, พญาแกรก, ท้าวโคตรบอง, พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ฯลฯ เกาะกลุ่มหนาแน่นบนพื้นที่แถบนี้ (จิตร ภูมิศักดิ์ เรียกกลุ่มตระกูลราม)

อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทองที่อยุธยา
อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทองที่อยุธยา

สยามรวมกับละโว้

จีน ในเอกสารโบราณ เรียกกลุ่มสยาม ว่า เสียน (หรือ เสียม) และเรียกกลุ่มละโว้ ว่า หลอฮก (หรือ หลอหู) เมื่อร่วมกันสถาปนารัฐอยุธยา จีนเรียกรวมว่า เสียนหลอฮก (หรือ เสียมหลอหู) บางทีเรียกสั้นๆ ว่า เสียนหลอ (หรือ เสียมหลอ)

สยามกับละโว้รวมกันอย่างหลวมๆ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 1839 (ปีเดียวกับสร้างเมืองเชียงใหม่ในพงศาวดาร) เพื่อผลประโยชน์ที่มีกับจีน ด้านการค้าและการเมือง ดังพบหลักฐานจากเอกสารจีนอยู่ในบันทึกของโจว ต้า กวาน (บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ แปลจากเอกสารจีน โดย เฉลิม ยงบุญเกิด สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2543 หน้า 8)

รวมกันแล้วก็แยกกันได้ถ้าผลประโยชน์ขัดกัน หลังจากนั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสยามกับละโว้รวมกันอีกเมื่อ พ.ศ. 1893 พระเจ้าแผ่นดินมีนามทางการตามคติทางศาสนาพราหมณ์ว่า รามาธิบดี

พระเจ้าอู่ทอง เป็นชาวสยาม

พระเจ้าอู่ทอง ในตำนานสร้างอยุธยา หมายถึงผู้นำกลุ่มชนชาวสยาม บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก และเชื่อมโยงต่อเนื่องบริเวณอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มเครือญาติทางวัฒนธรรม

อู่ทอง เป็นชื่อวีรบุรุษในตำนาน ไม่มีตัวตนจริง แต่นักปราชญ์สมัยก่อนๆ และนักวิชาการสมัยหลังๆ พยายามตีความแล้วอธิบายสืบกันต่อมาว่าอู่ทองหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้นั้นโน้น

ชาวสยาม หมายถึงคนหลายชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาต่างๆ แต่สื่อสารกันด้วยภาษากลาง คือตระกูลภาษาไต-ไท (เรียกภายหลังว่าภาษาไทย)

หลักฐานเก่าสุดระบุชาวสยามเป็นภาพสลักขบวนแห่ที่ระเบียงปราสาทนครวัด ราว พ.ศ. 1650 มีจารึกกำกับเป็นอักษรเขมร ว่า เสียม กุก หมายถึง สยามก๊ก หรือ ก๊กสยาม คือพวกสยาม, กลุ่มสยาม

ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีฐานกำลังอยู่ตอนบนของภูมิภาค หรือทางจีนตอนใต้ ต่อมาตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1600 ได้ขยายอำนาจทางการเมืองของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ออกไปในอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล เข้าสู่ลุ่มน้ำโขง ลงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา [สรุปจากหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image