สุจิตต์ วงษ์เทศ : เวียงเหล็ก วัดพุทไธศวรรย์ (3) ชุมชนชาวสยาม สำเนียงเหน่อ ร่วมสร้างอยุธยา

ฝีพายชาวสยามพวกหนึ่งของมูลนาย อยุธยา (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ในหนังสือของลาลูแบร์ พ.ศ. 2236)

พระเจ้าอู่ทอง (ในตำนานสร้างอยุธยา) หมายถึงผู้นำกลุ่มชนชาวสยาม บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก มีความสัมพันธ์เกี่ยวดองเป็นเครือญาติทางวัฒนธรรมกับกลุ่มชนลุ่มน้ำโขง

[มีหลักฐานหลายอย่าง เช่น ตำนาน, พงศาวดาร, วรรณกรรม, โดยเฉพาะสำเนียงภาษา เช่น สำเนียงเหน่อแบบหลวงพระบาง ฯลฯ ผมเคยอธิบายรายละเอียดพร้อมหลักฐานต่างๆ อยู่ในหนังสือ สุพรรณบุรีมาจากไหน? (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557 หน้า 92-202)]

อู่ทอง เป็นชื่อวีรบุรุษในตำนาน ไม่มีตัวตนจริง แต่นักปราชญ์สมัยก่อนๆ และนักวิชาการสมัยหลังๆ พยายามตีความแล้วอธิบายสืบกันต่อมาว่าอู่ทองหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้นั้นโน้น

ชาวสยาม หมายถึงคนหลายชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาต่างๆ แต่สื่อสารกันด้วยภาษากลาง ได้แก่ ตระกูลภาษาไต-ไท (เรียกภายหลังว่าภาษาไทย)

Advertisement

หลักฐานเก่าสุดกล่าวถึงชาวสยาม เป็นจารึกอักษรเขมร ว่า เสียมกุก (แปลว่า สยามก๊ก หรือ ก๊กสยาม) บนภาพสลักขบวนแห่ที่ระเบียงปราสาทนครวัด ราว พ.ศ. 1650

ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีฐานกำลังอยู่ตอนบนของภูมิภาค หรือทางจีนตอนใต้ ต่อมาตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1600 ได้ขยายอำนาจทางการเมืองของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ออกไปในอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล เข้าสู่ลุ่มน้ำโขง ลงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา [สรุปจากหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559]

 

พระเจ้าอู่ทอง โยกย้ายในตำนาน

พระเจ้าอู่ทอง โยกย้ายไพร่พลโดยทะยอยจากลุ่มน้ำโขง (ตอนกลาง) ลงทางช่องเขาในอีสาน (จ. เลย) ผ่านเข้าบริเวณนครไทย (อ. นครไทย จ. พิษณุโลก) ถึงลุ่มน้ำน่านกับลุ่มน้ำยม แล้วเคลื่อนย้ายผ่านดินแดนฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ลงไปครองเมืองเพชรบุรี หลังจากนั้นยกขึ้นไปสร้างเมืองอยุธยา

ตำนานนิทานที่สรุปย่อมานี้เป็นที่รับรู้กว้างขวาง อย่างน้อยตั้งแต่ตอนต้นยุคอยุธยา หลังจากนั้นจึงมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในพงศาวดารเหนือ แล้วบอกเล่าสู่ชาวยุโรปที่เข้าถึงอยุธยาแผ่นดินพระนารายณ์ (เช่น ในจดหมายเหตุของตาชาร์ด, ลาลูแบร์)

ท้ายสุดมีในคำให้การชาวกรุงเก่า ผมเคยรวบรวมตำนานนิทานทั้งหมดเกี่ยวกับพระเจ้าอู่ทองไว้เล่มเดียวกัน ในหนังสือชื่อ พระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545)

 

ชุมชนสยาม ในอยุธยา

ความเคลื่อนไหวในตำนานพระเจ้าอู่ทอง สอดคล้องกับการตั้งถิ่นฐานย่านอยุธยา

หลัง พ.ศ. 1800 ชุมชนในอยุธยาขยายตัวเติบโตมากทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีคลองขนาดต่างๆ ทั้งโดยธรรมชาติและขุดใหม่ เชื่อมโยงถึงแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง ซึ่งเป็นดินแดนสยาม ของชาวสยาม มีศูนย์กลางอยู่สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) แล้วกระจายอำนาจเกี่ยวดองกับราชบุรี, เพชรบุรี, นครศรีธรรมราช

[มีอธิบายอีกมากในหนังสือสร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์คั้งแรก พ.ศ. 2560 หน้า 266-276]

 

(ซ้าย) ชุมชนชาวสยาม ขยายถิ่นฐานจากรัฐสุพรรณภูมิ ลุ่มน้ำท่าจีน ไปตั้งหลักแหล่งแถบตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของอยุธยา (ขวา) ชุมชนชาวละโว้ ขยายจากรัฐละโว้ ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก ตั้งหลักแหล่งแถบตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา
(ซ้าย) ชุมชนชาวสยาม ขยายถิ่นฐานจากรัฐสุพรรณภูมิ ลุ่มน้ำท่าจีน ไปตั้งหลักแหล่งแถบตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของอยุธยา
(ขวา) ชุมชนชาวละโว้ ขยายจากรัฐละโว้ ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก ตั้งหลักแหล่งแถบตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา

 

เส้นทางจากสุพรรณ

เส้นทางน้ำจากเมืองสุพรรณบุรี เข้าถึงพระนครศรีอยุธยา นั่งเรือจากแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) เข้าคลองบางยี่หน (อ. บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี) ตรงไปทางทิศตะวันออก ถึงบ้านเจ้าเจ็ด (อ. เสนา จ. พระนครศรีอยุธยา) จากนั้นเข้าคลองบางบาล (อ. บางบาล จ. พระนครศรีอยุธยา) ตรงถึงกรุงได้หลายช่องทาง มีคลองน้อยใหญ่มากมาย

จากสุพรรณเข้าอยุธยา ยุคเก่าๆ มีคำบอกเล่าอยู่ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งแต่งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ร.3, ร.4) แต่สะท้อนเส้นทางยุคอยุธยา ดังนี้

นางวันทองจากเมืองสุพรรณ ไปแต่งงานพระไวย (พลายงาม ลูกชาย) ในอยุธยา กลอนเสภาบอก ดังนี้

เข้าลัดตัดทางบางยี่หน              ประเดี๋ยวด้นออกบ้านเจ้าเจ็ดได้

ถึงกรุงจอดตะพานบ้านวัดตะไกร         ให้บ่าวไพร่ขนของขึ้นฉับพลัน

ขุนช้างจากเมืองสุพรรณไปแต่งงานพระไวยในอยุธยา ตามเส้นทางเดียวกับนางวันทอง แต่นั่งช้างไปไม่นั่งเรือ

มีบอกเพิ่มว่าครั้นถึงบ้านกบเจา (อ. บางบาล จ. พระนครศรีอยุธยา) เข้าบ้านมหาพราหมณ์ (คลองมหาพราหมณ์ อ. บางบาล) แล้วเข้าทุ่งภูเขาทอง มีกลอนเสภาบอกว่า

ตัวลงกบเจาเอาช้างข้าม                        เข้าบ้านมหาพราหมณ์เลี้ยวข้างขวา

ตรงเข้าภูเขาทองเดินท้องนา                 ถึงกรุงศรีอยุธยาพอกลางวัน

ปกติถ้าขุนช้างเมื่อต้องเข้าเฝ้าในวัง ก็นั่งช้างตัดทุ่งภูเขาทอง เข้าทางวัดหน้าพระเมรุ มีกลอนเสภาบอกว่า “ปลงช้างข้างป่าช้าวัดหน้าพระเมรุ” ลงจากหลังช้างไปหาเรือจ้างข้ามคลองเมืองด้านเหนือที่ท่ากระลาโหม (ท่าสิบเบี้ย) เข้าวังหลวง ซึ่งอยู่ริมคลองเมืองด้านทิศเหนือ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image