อดีตรมว.คลังเตือนรัฐบาลดุลอำนาจให้ดี สหรัฐกับจีน หลังไทยเลือกซื้ออาวุธจีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 มีนาคม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการซื้อเรือดำน้ำจากจีนนั้นมีความคุ้มค่า โดยนายธีระชัยระบุว่า

จีนผลักดันเรือดำน้ำให้ไทย ในบริบทยุทธนาวีของจีนนั้น มีระเบียบวาระใดเป็นพิเศษได้หรือไม่ ตลอดช่วงเวลาสองพันปีในประวัติศาสตร์ ประเทศจีนเคยรุกรานถึงยุโรปและอินเดียได้เพียงครั้งเดียว คือในสมัยมองโกล โดยอาศัยทหารม้าเคลื่อนที่เร็ว และสามารถหากินเอาเองระหว่างทาง จึงไม่จำเป็นต้องมีการส่งกำลังบำรุง แต่สำหรับการรบสมัยนี้ที่ใช้อาวุธหนัก จีนไม่มีทางจะบุกยุโรปทางบกผ่านทะเลทรายทางสายไหมได้เลย รวมไปถึงการบุกขึ้นเหนือไปรัสเซียที่ต้องผ่านทะเลทราย และการบุกลงตะวันตกเฉียงใต้ไปอินเดียที่ต้องข้ามเทือกเขาหิมาลัยด้วยเช่นกัน

ในทางกลับกัน ก็จะไม่มีประเทศใดสามารถรุกรานจีนได้ทางบกผ่านสามทิศนี้ด้วย ดังนั้น จุดอ่อนที่สุดคือชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งจีนถูกโจมตีหลายครั้งนับตั้งแต่กองทหารอังกฤษและฝรั่งเศสที่บุกพระราชวังฤดูร้อนเป็นต้นมา เนื่องจากการศึกของจีนเป็นการตั้งรับมาโดยตลอด กองทัพเรือของจีนจึงล้าหลังมาก แม้แต่เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ภูมิใจกันหนักหนา ก็ยังไม่มีอุปกรณ์เพื่อดีดเครื่องบินเพื่อเร่งความเร็วให้พ้นกราบเรือ จึงต้องออกแบบเรือให้ลานบินเชิดขึ้นเพื่อช่วยส่งเครื่องบินขึ้นสู่อากาศ

เรือดำน้ำจีนก็คงเช่นเดียวกัน ย่อมจะไม่สามารถทันสมัยแบบของสหรัฐ ที่ใช้พลังนิวเคลียร์และกบดานอยู่ได้เป็นเวลานานมาก คงถึงระดับแค่พอใช้งานทั่วไปได้ นอกจากทะเลด้านทิศตะวันออกจะเป็นจุดอ่อนแล้ว จีนยังไม่สามารถแล่นเรือรบผ่านช่องแคบมะละกาได้ง่าย เพราะสหรัฐคุมคอขวดอยู่ที่สิงคโปร์ ดังนั้น ถ้าหากไทยซื้อเรือดำน้ำจีน ไทยก็ต้องสร้างอู่ซ่อมบำรุง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทัพเรือจีนสามารถส่งเรือมาเยือนไทยได้ เป็นการเพิ่มดุลอำนาจใกล้ช่องแคบมะละกาได้ทางหนึ่ง

Advertisement

ยิ่งต่อไป ถ้าหากไทยเกิดสร้างอู่ซ่อมบำรุงด้านอันดามันได้ด้วย ก็จะเป็นจุดที่ผ่านพ้นคอขวดได้อย่างสบาย ยิ่งต่อไป ถ้าหากไทยเกิดขุดคลองไทยขึ้น จีนคงยิ่งเดินหมากเพื่อเข้ามามีสัมพันธ์กับไทยหลายๆ ระดับ เพื่อใช้คลองไทยดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนดุลอำนาจทางทะเลให้ได้ ดังนั้น การเจรจาขายเรือดำน้ำจึงกลายเป็น ซื้อ 2 แถม 1 การเจรจาเรื่องนี้ จึงควรเดินหมากทั้งกระดานให้รอบคอบ เพื่อตัดสินว่าการถ่วงดุลระหว่างจีนกับสหรัฐ ควรเดินถึงจุดไหน และนอกจากเรื่องเรือดำน้ำแล้ว ยังจะมีเรื่องสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ควรจะวางแผนระยะยาว เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image