ศวปถ.หนุน ‘ม.44คาดเข็มขัดนิรภัย’ ป้องกันความรุนแรงจากอุบัติเหตุ 34% โดยเฉพาะคนนั่งเบาะหลัง

จากกรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม.44 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก กำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย หากไม่ปฏิบัติตามเจ้าของรถต้องจ่ายค่าปรับตามใบสั่งตำรวจ ซึ่งหากไม่จ่ายค่าปรับจะงดต่อภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์คันนั้น และคำสั่ง ม.44 เรื่องมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม  นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า การออกคำสั่ง ม.44 เรื่องบังคับคาดเข็มขัดนิรภัยผู้โดยสารรถยนต์ทุกคนมีประโยชน์ 2 ต่อ ประการแรก คือ ช่วยป้องกันชีวิตผู้โดยสาร  ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการว่า การคาดเข็มขัดนิรภัยจะช่วยให้ป้องกันชีวิตจากเหตุรุนแรงได้ถึงร้อยละ 34 โดยเฉพาะผู้โดยสารตอนหลังของรถยนต์ ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่เหมือนกับผู้โดยสารตอนหน้าคือคนขับและข้างคนขับที่มีการคาดเข็มขัดนิรภัยมากขึ้น ซึ่งจากการติดตามข้อมูลอุบัติเหตุมักพบว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุจะเกิดแรงเหวี่ยงจนผู้โดยสารตอนหลังกระเด็นออกมานอกรถและเสียชีวิต แต่คนข้างหน้าไม่เป็นอะไร อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบว่ามีบางส่วนแม้ผู้โดยสารตอนหน้าจะคาดเข็มขัดนิรภัย แต่ผู้โดยสารตอนหลังไม่คาด เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารตอนหลังพุ่งออกมาก็ทำให้ผู้โดยสารตอนหน้าเสียชีวิตได้เช่นกัน

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ประการที่สองคือ ช่วยจัดการปัญหาการบรรทุกผู้โดยสารเกินได้ เพราะรถยนต์จะมีเข็มขัดนิรภัยจำกัด อย่างมากไม่เกิน 5 เส้น คือ ด้านหน้าสองและด้านหลังสามเส้น ดังนั้น เมื่อกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ดังนั้น รถยนต์ก็จะบรรทุกผู้โดยสารเกินไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยยังมีปัญหา เพราะแทนที่จะมองในแง่ของความปลอดภัย กลับมองในแง่ที่ว่ารถคันเล็กจะทำอย่างไรถึงบรรทุกผู้โดยสารได้มากๆ หากเข้าไปค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จะพบคำแนะนำเต็มไปหมดว่ารถคันเล็กแบรนด์นี้มีวิธีบรรทุกผู้โดยสารมากๆ ได้อย่างไร อย่างสงกรานต์ ปี 2559        ก็พบข่าวอุบัติเหตุรถฮอนด้าแจ๊สบรรทุกผู้โดยสารมา 10 คน เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต 4 คน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ที่อยากเสนออีกประเด็นหนึ่งคือ การคาดเข็มขัดนิรภัยในเด็กอายุน้อยกว่า 7 ขวบลงมา เพราะยังมีขนาดตัวที่เล็ก การคาดเข็มขัดนิรภัยอาจไม่ปลอดภัย เพราะตัวเด็กอาจหลุดรอดออกมาได้ รวมไปถึงถูกสายเข็มขัดรัดคอ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้สมควรใช้คาร์ซีด แต่ในประเทศไทยราคายังแพงอยู่ จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องนี้ เช่น ใช้กลไกภาษี ช่วยให้ผู้นำเข้าคาร์ซีดเสียภาษีที่ถูกลง ก็จะช่วยให้สินค้ามีราคาถูกลง ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ เป็นต้น

เมื่อถามถึงกรณีสังคมมองว่าการออกกฎหมายเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่หาผลประโยชน์จากการจับปรับ  นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีการออกกฎหมายออกมาจะมีแรงต้านเช่นนี้ เสนอว่าช่วงแรกของการบังคับใช้กฎหมายอย่าเพิ่งใช้วิธีในการออกไปจับปรับคนที่ไม่คาดเข็มขัด แต่ควรใช้วิธีเตือนและให้ข้อมูลมากๆ แก่ประชาชนก่อนว่า การไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมีอันตรายอย่างมาก โดยอาจให้เวลาในการตักเตือนและคำแนะนำประมาณ 4-5 เดือน เพื่อลดแรงตานก่อน จากนั้นจึงค่อยเริ่มจับปรับจริง นอกจากนี้ ยังต้องทำสื่อให้ความรู้ประชาชนมากๆ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะผู้โดยสารตอนหลังหันมาคาดเข็มขัดนิรภัยมากขึ้น สุดท้ายก็จะเกิดความเคยชินเหมือนอย่างในต่างประเทศที่เมื่อทุกคนขึ้นรถก็ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย

Advertisement

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า สำหรับ ม.44 เรื่องเพิ่มความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ มีการเอาผิดเจ้าของรถหรือผู้ประกอบการด้วย ทำให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของต้องลงมามีส่วนร่วมรับผิดชอบมากขึ้น อย่างที่ผ่านมาเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนคนขับคือตามจำนวนรอบหรือผู้โดยสาร ก็ทำให้เกิดปัญหาปรับแต่งรถให้บรรทุกได้มากขึ้น ขับรถเร็วเพื่อทำรอบ จนเกิดอาการหลับในต่างๆ เมื่อผู้ประกอบการต้องร่วมรับผิดชอบด้วยก็จะต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนเหล่านี้ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดชัดเรื่องจำนวนที่นั่งรถตู้ไม่ให้เกิน 13 ที่นั่ง เพื่อให้มีที่ว่างในการเดินไปยังประตูท้าย ซึ่งต้องมีการติดกลไกให้สามารถเปิดได้ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของผู้โดยสารมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image