สุเทพ โชว์ไอเดียปฎิรูปตร. เลิกตำแหน่งผช.ผบ.ตร.-บก.ภาค-ตร.ป่าไม้-รถไฟ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 มี.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส. โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กเกี่ยวกับแนวคิดการปฎฺรูปประเทศ หัวข้อ ข้อเสนอแนะ เรื่องการปฏิรูปประเทศ และแนวทางในการสร้างความสามัคคีปรองดอง : ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม มีรายละเอียดระบุว่า

ประเด็นเรื่องความยุติธรรมนับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียม เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม มวลมหาประชาชน เห็นว่า ประเทศต้องยึดมั่นในหลักการเป็นนิติรัฐ รัฐบาลต้องปกครอง บริหารประเทศตามหลักนิติธรรม อย่างแท้จริง รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ของรัฐ ต้องยึดหลักการนี้โดยเคร่งครัด เช่น เดียวกัน การบังคับใช้กฎหมาย และการอำนวยความยุติธรรม ต้องแข็งแรง ประชาชนต้องมั่นใจได้ว่าประชาชนชาวไทยทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ตามกฎหมาย ประชาชนพลเมืองดี ต้องได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมาย ผู้กระทำผิดกฎหมายต้องได้รับโทษ ตามกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมต้องเข้มแข็ง ไม่ให้อิทธิพลใดๆ ทั้งอิทธิพลทางด้านการเมือง อิทธิพลด้านการเงิน หรืออิทธิพลมืด มากดดันกระบวนการยุติธรรมให้เบี่ยงเบนจนเกิดความไม่เป็นธรรม

ต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ในการควบคุม บังคับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในด้านการอำนวยความยุติธรรมอย่างเข้มงวด ข้าราชการฝ่ายอำนวยความยุติธรรมต้องมีวินัยเข้ม มากกว่าข้าราชการทั่วไป ข้าราชการฝ่ายยุติธรรม หากถูกออกจากราชการจะต้องเสียสิทธิ์ในการรับราชการตลอดชีวิต เช่น ไม่สามารถเข้ารับราชการที่ใดได้อีก มีสภาพเสมือนหนึ่งบุคคลล้มละลาย

การปฏิรูปตำรวจ

Advertisement

ปฏิรูปตำรวจให้เป็นตำรวจของประชาชน มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นธรรม และคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเป็นสำคัญ ปรับภารกิจของสำนักงานตำรวจส่วนกลางให้เหลือเท่าที่จำเป็น ไม่ซ้ำซ้อนกับภารกิจของตำรวจท้องที่ และหน่วยราชการอื่น เช่น ยกเลิก ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ เป็นต้น ปรับตำแหน่งข้าราชการตำรวจส่วนกลางให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เช่น ยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน เป็นต้น ปรับเปลี่ยนให้กองบังคับการตำรวจจังหวัดเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกอง บัญชาการ โดยยกเลิกกองบัญชาการระดับภาค อำนาจในการคัดเลือก แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการตำรวจจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยตำแหน่ง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานสภาจังหวัด หัวหน้าศาลจังหวัด อัยการจังหวัด และกรรมการผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และกรรมการผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของตำรวจชั้นประทวน ผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดมีอำนาจเต็ม ในการดำเนินการแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการตำรวจภายในจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ตำรวจจังหวัด โดยคำนึงถึงผลงาน ด้านการบังคับใช้กฎหมาย และการอำนวยความสะดวก ให้กับประชาชน

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

กระบวนการวิธีการพิจารณาคดี

ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาคดีของศาลให้มีความรวดเร็วขึ้น โดยนำเทคโนโลยีระบบดิจิตอลเข้ามาใช้บันทึกภาพ และเสียง การสืบพยานในศาล มีบันทึกคำเบิกความ (Transcript) ปรากฏที่จอ Monitor ให้ผู้พิพากษาและคู่ความทุกฝ่าย มองเห็นได้พร้อมกันทุกฝ่าย มีระบบจัดเก็บ ควบคุม รักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ดี ทั้งนี้เพื่อให้การประมวลข้อเท็จจริงในคดีมีความสมบูรณ์ ครบถ้วนอย่างแท้จริง เอื้อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

Advertisement

สิทธิของจำเลย

จำเลยจะต้องได้รับสิทธิในการประกันตัว ในระหว่างการพิจารณาคดี ยกเว้น จำเลยในคดีความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อชีวิต ความผิดในฐานะผู้ผลิต ผู้ค้ายาเสพติด ความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่น และความผิดคดีข่มขืนกระทำชำเรา

คณะกรรมการตุลาการ (กต.)

โดยที่ระบบบริหารงานบุคคลของฝ่ายตุลาการ ดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการ (กต.) จึงต้องมีกฎเกณฑ์ที่รับรองความเป็นอิสระอย่างแท้จริงของ กต. โดยกำหนดมาตรการพิเศษในการเลือกตั้ง กต. ผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับการเลือกเป็น กต. ต้องมีความเป็นอิสระโดยแท้จริง ป้องกันมิให้มีการตั้งเป็นกลุ่มผู้สมัคร ไม่ให้มีการชี้นำ (Lobby) หรือการหาเสียงในลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งทางการเมืองโดยเด็ดขาด

อัยการ

ต้องมีกฎหมายพิเศษ ควบคุมความเป็นกลางทางการเมืองของอัยการอย่างเคร่งครัด

คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)

ดำเนินการให้ ก.อ. แต่ละคน มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ตั้งแต่ขั้นตอน วิธีการคัดเลือก ก.อ. ผู้ที่มีคุณสมบัติ สมัครรับเลือกเป็น ก.อ. ต้องสมัครอย่างอิสระ ไม่สามารถทำความตกลง หรือ มีเงื่อนไขร่วมกับบุคคลอื่น ในการแลกเปลี่ยนคะแนนเสียง หรือ ตั้งกลุ่มผู้สมัคร หรือ ดำเนินการในลักษณะสมัครเป็นกลุ่ม

ทั้งนี้ เพื่อให้ ก.อ. มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถใช้ดุลยพินิจและวิจารณญาณที่เป็นอิสระ มีประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารงานบุคคลของอัยการ

การพิจารณาสั่งคดีของอัยการ

การพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ ต้องกระทำโดยองค์คณะ ทั้งนี้เพราะคำสั่งฟ้อง หรือ ไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาของพนักงานอัยการ มีผลสำคัญต่อชะตากรรมของผู้ต้องหา และผู้เสียหาย

การสั่งคดี ของพนักงานอัยการโดยองค์คณะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในหมู่ ประชาชนได้ว่าการวิ่งเต้นคดี ทำได้ยากในระดับหนึ่ง

กรณีการสั่งไม่ฟ้อง จะต้องนำคำวินิจฉัยส่วนตนเปิดเผยต่อประชาชนทั่วไปในคดีที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถมีความเห็น แย้งได้ และหากยังไม่ฟ้องอีก อัยการต้องนำเหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องเผยแพร่ต่อสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image