ปธ.สภาเด็ก เล่าประสบการณ์ทำงานร่วม’ชัยภูมิ’ เชื่อเป็นคนดี ไม่มีพฤติกรรมรุนแรง

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม นายปุณณพัทธ์ อรุณิชย์ตระกูล ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีทหารวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส อายุ 17 ปี ชาวลาหู่ นักกิจกรรมทางสังคมและประธานเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า รู้สึกใจหาย เพราะมองว่ารุนแรงเกินไปสำหรับเด็กคนหนึ่งที่ถูกยิง เป็นเหตุการณ์น่าสลดที่ตั้งคำถามว่าใช้อำนาจเกินไปหรือเปล่า เพราะสามารถจับเป็นได้ก่อน ไม่ควรจับตาย สภาเด็กกำลังคุยกับเครือข่ายน้องๆ กลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเตรียมออกแถลงการณ์ในเร็วๆ นี้ เบื้องต้นขอเรียกร้องให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างโปร่งใส ชัดเจน และเป็นธรรมต่อทั้ง 2 ฝ่าย

“ผมเคยมีโอกาสร่วมงานกับน้องชัยภูมิ 2-3 ครั้งที่ จ.ตาก-เชียงราย อย่างงานมีดีมาโชว์ของน้องชาติพันธุ์ที่ จ.ตาก ที่ผมได้นำทีมสภาเด็กไปแลกเปลี่ยนมุมมองกับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ น้องชัยภูมิถือเป็นผู้นำทุกเรื่องของเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่การแสดงความเห็น การจัดงาน การริเริ่มโครงการต่างๆ ให้เยาวชน และจากการทำงานร่วมกันเห็นว่าน้องเป็นคนดี เรียบร้อย ส่วนตัวยังเชื่อว่าน้องไม่น่าจะทำอะไรอย่างนั้น ไม่เคยมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง แต่กลับอ่อนน้อมถ่อมตน นิ่ง เรียบร้อย ขณะเดียวกันไม่เคยเห็นน้องชัยภูมิสูบบุหรี่ กินเหล้าเลย เห็นแต่ทำกิจกรรมอย่างเดียว เวลามีงานเกี่ยวกับชาติพันธุ์ น้องจะมาร่วมงานตลอด น้องเป็นคนทำเรื่องเรียกร้องสิทธิอยู่แล้ว ไม่คิดว่าจะทำสิ่งนี้ได้” นายปุณณพัทธ์กล่าว และเสริมอีกว่า

ที่ผ่านมาน้องชัยภูมิไม่เคยบ่นรัฐว่าทำไมไม่เคยให้อะไร แต่เขาพยายามสะท้อนว่ายากลำบากอย่างไรกับสถานะไร้สัญชาติ แต่เขาก็จะทำเรื่องขอสัญชาติต่อไป ยังเคยฟังเพลงจงภูมิใจที่น้องชัยภูมิแต่ง ซึ่งเนื้อหาระบุถึงความภูมิใจกับการเป็นคนไร้สัญชาติ ที่คนไร้สัญชาติไม่ใช่คนที่ไร้ตัวตน ไม่ใช่คนที่ไร้โอกาส ถึงไม่มีสัญชาติ แต่เราก็ยังมีลมหายใจ มีชีวิต มีความฝัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ทำงานในแวดวงสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและเยาวชน ต่างออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าวในโซเชียลมีเดีย เริ่มที่ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Angkhana Neelapaijit ว่า “หลายปีก่อนเคยเขียนรายงานเก็บข้อมูลซ้อมทรมาน สูญหายในภาคเหนือ พบว่าชาติพันธุ์ลาหู่มักตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐหลายรูปแบบ ทั้งการจับกุมควบคุมตัวตามอำเภอใจ การบังคับสูญหาย ทรมาน หรือการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม โดยส่วนมากคดีไม่มีความก้าวหน้า .. ไม่มีความยุติธรรม ปีเศษๆ ที่ผ่านมา ช่วงปีใหม่ก็เคยมีเหตุเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายชาวลาหู่ ในขณะที่เยาวชนที่บันทึกเทปเหตุการณ์ เอาเรื่องนี้มาเผยแพร่ถูกคุกคาม จนหวาดกลัวไปทั้งหมู่บ้าน”

Advertisement

“กรณีวิสามัญฆาตกรรม จะอุ๊-ชัยภูมิ ได้เห็นปรากฏการณ์ที่คนมากมายเรียกร้องความเป็นธรรมให้เขา ก็ได้แต่หวังว่าความยุติธรรมจะมีจริง การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่จำต้องได้สัดส่วนกับการกระทำผิด และด้วยเหตุจำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น ยังไม่ทราบข่าวเพื่อนของจะอุ๊ที่ถูกจับ และจะเป็นพยานสำคัญในคดี แต่หวังว่าเขาจะได้รับสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่จะได้พบทนายและญาติ สิทธิที่จะไม่ให้การโดยไม่สมัครใจ เยาวชนอีกคนที่น่าเป็นห่วงมากเวลานี้ คือเพื่อนรุ่นพี่ที่ดูแลจะอุ๊ และเป็นคนเปิดเผยเรื่องราว ทราบว่าเขากำลังหวาดกลัวอย่างมาก”

“ในขณะที่เป็นห่วงคนอีกหลายคนที่กำลังเรียกร้องความยุติธรรม ใจนึกถึงถ้อยแถลงด้วยวาจาที่ผู้แทนไทยได้ให้คำตอบคณะกรรมการ ICCPR เมื่อวันที่ 13-14 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้แทนไทยอ้างศาลให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อกรณีซ้อมทรมาน ที่บางคดีที่ศาลปกครองมีคำสั่งเยียวยาเหยื่อ แต่ผู้แทนไทยอาจไม่ทราบ หรืออาจลืมไปว่า แต่ละคดีที่ถูกนำขึ้นสู่ศาลนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามของผู้เสียหายและญาติเองทั้งสิ้น ที่ต้องดิ้นรนหาความยุติธรรม หาได้เป็นความยุติธรรมที่รัฐออกมาปกป้องประชาชนจากการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐเอง” นางอังคณาโพสต์

ถัดมาที่นักสิทธิเด็กและเยาวชน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) กาญจนาภิเษก ก็ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thicha Nanakorn ว่า “การพยายามบิดเบือน การปกปิดปกป้องผู้กระทำผิดเพื่อหวังรักษาองค์กร โปรดอย่าทำเด็ดขาด เพราะ… ผลที่ได้ ไม่คุ้ม ผลที่เสีย โดยเฉพาะ “วิกฤตศรัทธา”, “การพยายามแสวงหาความจริงอย่างรับผิดชอบ ไม่ปกปิดปกป้องผู้ใดในองค์กร แต่เพื่อรักษาความเป็นธรรม หลังจากความผิดพลาดเกิดขึ้น … เสียงสรรเสริญ ชื่นชม เชื่อมั่น จะตามมาเช่นกัน”

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image