กกต.ล็อบบี้สนช. ดัน บอร์ดกกต.จว. แทนผู้ตรวจการเลือกตั้ง

กกต. ล็อบบี้ สนช. ดัน บอร์ดกกต.จว. แทนผู้ตรวจการเลือกตั้ง ขู่ คิดให้ดี ปมรีเซ็ทกก.องค์กรอิสระ

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่รัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำโดย นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านการบริหารกิจการงานเลือกตั้ง เข้าหารือกับ คณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนพ.เจตน์ ศิรธารานนท์ เป็นประธาน

ทั้งนี้ ภายหลังจากการหารือกว่า 2 ชั่วโมง นายสมชัย ให้สัมภาษณ์ว่า กกต.ได้เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการมีกกต.จังหวัดกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง เราต้องยอมรับว่า การมีกกต.จังหวัดที่ผ่านมา มีเสียงครหา เกี่ยวกับการเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง จึงอาจทำให้การเลือกตั้งแต่ละจังหวัดไม่สุจริต เดิม กกต. อยากให้กกต.จังหวัด มาจากข้าราชการประจำ เพื่อใช้กลไกของตัวเองมาสนับสนุนการทำงาน แต่วิธีการคิดแบบนี้ไม่จำเป็นแล้ว เพราะเมื่อมีการเลือกตั้ง กกต. ก็สามารถสั่งทุกหน่วยงานได้ จึงอยากให้กกต.จังหวัด มาจากการสรรหาจากบุคคลที่หลากหลาย ไม่ใช่ข้าราชการประจำ โดยตัวแบบที่เสนอคือ ให้กกต.จังหวัด มาจากการสรรหาจาก 5 สายงาน 1. ผู้ที่มีประการณ์ด้านการเมืองและการเลือกตั้ง 2. ผู้มีประสบการณ์ด้านกฎหมายและสืบสวนสอบสวน 3. ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารองค์การ 4. ภาคประชาสังคม 5. ผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษา ที่สามารถให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนได้

นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนการทำงานให้มีลักษณะเหมือน บอร์ด ซึ่งมาดูแลสำนักงานกกต.จังหวัด อีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่มีสิทธิไปเข้าข่ายคดีการเลือกตั้ง ให้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมรายเดือน ไม่ใช่เงินเดือน เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ คาดว่าไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี แต่หากเป็นกลไก ผู้ตรวจการการเลือกตั้งจากข้อเสนอของ กรธ. นั้น จะหาคนมาทำหน้าที่ยาก เพราะห้ามเป็นข้าราชการประจำและเกี่ยวข้องกับการเมือง อีกทั้งจะไม่คุ้นเคยในพื้นที่ที่ถูกส่งลงไป และมีค่าใช้จ่ายมากกว่าแบบของกกต.ถึง 6 เท่า ที่ผ่านมา กกต. ได้เปรียบเทียบให้กรธ.เห็น ซึ่งก็มีแนวโน้มคล้อยตามคือ ขอให้มีทั้ง กกต.จังหวัดแบบกกต. และผู้ตรวจการการเลือกตั้ง โดยลดจำนวนให้เหลือสัก 100 คน และอาจจะส่งไปเฉพาะตามจุดที่มีปัญหา ไม่ต้องส่งไปทุกจุด ทั้งยังมองว่า การทำงานจะไม่ซ้ำซ้อนกัน กกต.จังหวัด จะเป็นเหมือนบอร์ด ผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะเหมือนผู้ตรวจการแผ่นดินคอยลงพื้นที่ ส่วนการหารือวันนี้ ก็ต้องรอการพิจารณาของสนช.อีกครั้ง ส่วนตัวเชื่อว่า หากมีเพียงบอร์ดกกต.จังหวัด ไม่ต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ก็สามารถทำงานได้

Advertisement

เมื่อถามว่า ถ้ามีทั้ง 2 แบบ ก็ต้องเสียงบประมาณ 700 ล้านบาท นายสมชัย กล่าวว่า ถ้าใช้ 2 แบบ จำนวนของผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะใช้เพียง 100 คน ดังนั้นงบประมาณที่ใช้ก็จะลดลง รวมแล้วใช้งบประมาณไม่เกิน 200 ล้านบาท

เมื่อถามถึง คุณสมบัติและการสรรหากกต.เพิ่มอีก 2 ตามรัฐธรรมนูญ นายสมชัย กล่าวว่า ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ และรอดูกฎหมายลูกกกต.ก่อน เพื่อสรรหาเพิ่มอีก 2 คน และคนที่ขัดคุณสมบัติ ซึ่งหากกกต.ไม่ครบ 7 คน ก็สามารถจัดเลือกตั้งได้ แต่ทำหน้าที่ได้ระดับหนึ่ง เพราะจะมีการกำหนดไว้ว่า องค์ประชุมเท่าไร ทำอะไรได้แค่ไหน หากองค์ประชุมน้อย อาจตัดสินใจได้แค่งานประจำ ส่วนเรื่องขัดคุณสมบัติหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของสนช.พิจารณา เพราะผลที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดเฉพาะกกต.อย่างเดียว แต่รวมถึงองค์กรอิสระทุกองค์กร โดยกกต.ได้รับผลกระทบน้อยกว่าองค์กรอื่น เช่นเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน และกสม. ส่วนองค์กรที่กระทบมากสุดคือ ป.ป.ช. รองลงมาคือศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า สนช.จะพิจาณาจากผลดีผลเสีย ถ้าดีก็ทำตามที่กรธ.เสนอ หากไม่ดีก็ต้องหาวิธี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image