นักวิชาซัดทำลายระบบผลิตครู จวก′หมอธี′ใช้ก.ค.ศ.เป็น ′ตรายาง′ คุรุสภาเป็นทางผ่านรับแม่พิมพ์ไร้ตั๋ว

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา อดีตประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)นครราชสีมา เขต 7 กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.)มีมติให้ผู้สมัครสอบเข้ารับราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยสพฐ.ได้ซักซ้อมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพป.)ทั่วประเทศว่า กรณีที่ผู้สมัครสอบที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสอบได้ ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)จัดส่งรายชื่อไปยังสพฐ.เพื่อประสานยังคุรุสภาให้ออกหนังสืออนุญาตปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แล้วบรรจุเป็นครูผู้ช่วย และภายใน 2 ปี คนกลุ่มนี้ต้องพัฒนาตนเองโดยการเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) เพื่อให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามเงื่อนไขของคุรุสภา ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้ทำลายระบบการผลิตครู คุรุสภา และ ก.ค.ศ.ไปเรียบร้อยแล้ว ตนเข้าใจแนวคิดที่รัฐมนตรีว่าการศธ. อยากเปิดโอกาสให้ได้คนเก่งเข้ามาเป็นครูตามความเชื่อที่ว่าครูเก่ง นักเรียนจะเก่งตาม แต่ความเป็นจริงคนเก่งที่จะทำให้นักเรียนเก่งได้นั้น ไม่ใช่เก่งด้านเนื้อหาวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องเก่งด้านจิตวิทยาการเรียนการสอน หลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนรู้ และการวัดผลและประเมินผลด้วย และที่สำคัญคือจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะคุณลักษณะเหล่านี้มาก่อนการเป็นครูและระหว่างการเป็นครู ศธ.เคยรับครูโครงการครูคืนถิ่นรุ่นที่ 1 โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู พบปัญหาทั้งการบริหารจัดการงบประมาณที่ สพฐ.ไม่ได้เตรียมการอะไรรองรับเลย และปัญหาด้านการไม่รู้และไม่เข้าใจหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การควบคุมชั้นเรียน ของครูที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จนโครงการดังกล่าวในรุ่นที่ 2 ต้องประกาศรับเฉพาะผู้ที่กำลังเรียนวิชาชีพครูในปีที่ที่ 5 เท่านั้น แต่ในการสอบบรรจุครูทั่วไป กลับลำให้ทุกคนที่มีสาขาวิชาเอกตามที่ สพฐ.ต้องการสมัครได้ทั้งหมด เป็นการดำเนินการตามความรู้สึกของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

“การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งดำเนินการตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ครูต้องออกแบบการเรียนการสอนเป็นหน่วยการเรียนรู้ ที่มุ่งพัฒนาคนทั้งตัวให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เป็นการสอนหนังสือตามตำรา สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการฝึกฝน คนเก่งตำราจะไปออกแบบการสอนได้อย่างไร ผมอยากถามรัฐมนตรีว่าการศธ.ว่ารู้เรื่องเหล่านี้หรือไม่ก่อนที่จะไปแก้มาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วยและให้ผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสอบได้” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรกล่าวต่อว่า การสอบบรรจุครูที่ผ่านมา ศธ.เองก็มีการเปิดช่องทางให้กับหน่วยงานใช้ครูบางหน่วยงานสามารถรับผู้ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นครูได้ในกรณีที่หน่วยงานนั้นๆ ต้องการครูเฉพาะทางที่เน้นการสอนทักษะและเนื้อหาได้อยู่แล้ว เช่น ครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือครูสังกัด สพฐ.บางสาขาวิชาที่ขาดแคลน ตนไม่เข้าใจว่าคราวนี้ทำไมต้องเปิดให้สอบกันทุกระดับถึงกับต้องแก้มาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วยรองรับ โดยเฉพาะครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาสอน สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการศธ.ควรทำคือการปฏิรูประบบการผลิตครูใหม่ทั้งหมด โดยใช้ศักยภาพของคณาจารย์ที่มีอยู่ทุกสังกัดมาดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานที่ใช้ครู พัฒนาวิชาชีพครูให้เข้มแข็ง ไม่ใช่มาทำลายระบบผลิตครู ทำลายองค์กรวิชาชีพครู โดยใช้ ก.ค.ศ.เป็นตรายาง และคุรุสภาเป็นทางผ่าน ตามความรู้สึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image