เชื่อไหม? พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก !

เศียรพรพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่ง ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูลเชื่อว่าคือเศียรพระศรีสรรเพ็ชญ์

พระพุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบ ครบรอบ 250 ปี “กรุงแตก”

ด้วยพ่ายแพ้ให้แก่อริราชศัตรูในอดีตที่ถูกปั๊มตราตลอดมาว่า “พม่าเผากรุง” ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักฐานเอกสาร อาทิ บันทึกชาวต่างชาติที่ระบุว่า เกิดเพลิงไหม้ก่อนพม่าเดินทางมาถึงเสียอีก

แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นหลักในการค้นคว้าของ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ที่มุ่งคลายปริศนาคาใจเกี่ยวกับเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โดยตั้งข้อสันนิษฐานอันลือลั่นสนั่นวงวิชาการว่า โบราณวัตถุดังกล่าว คือ “เศียรพระศรีสรรเพชญ์” พระพุทธรูปสำคัญแห่งกรุงศรีอยุธยาที่เชื่อกันสืบมาว่าถูกพม่าเผาลอกทองเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2

ทว่า เป็นเช่นนั้นจริงหรือ? แล้วเหตุใดนักประวัติศาสตร์ท่านนี้จึงเสนอแนวคิดดังกล่าว ช่างเป็นเรื่องชวนติดตาม

Advertisement

 

ซากวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา ที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ์ ด้านหลังเป็นพระมหาเจดีย์ 3 องค์
ซากวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา ที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ์ ด้านหลังเป็นพระมหาเจดีย์ 3 องค์

 

เสี้ยนตำใจ ต้องไขปม

Advertisement

“เรื่องหนึ่งที่เป็นเสี้ยนตำใจแม้ใคร่อยากจะบ่งออกแต่ก็กลัวเจ็บปวด จนในท้ายที่สุดก็ให้มันคาใจอยู่จนเป็นหนองแล้วแห้งเป็นแผลเป็นแบบนั้น เพราะเกียรติภูมิของมูลนายครั้งกรุงศรีอยุธยาที่มีชีวิตรอดมาจนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ที่คนในยุคนี้มโนนึกคล้อยตามว่าการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มีผลกระทบสำคัญที่เราไม่ควรให้อภัยคือเรื่องกรุงอังวะเผาพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อลอกเอาทองไปทั้งองค์…..แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่”

วาทะเปรียบเปรยกรีดลึกถึงกระดองใจสไตล์รุ่งโรจน์ สรุปรวบตึงแจ่มชัดว่านักวิชาการผู้นี้ไม่เชื่อว่าพม่าเผาพระศรีสรรเพชญ์ลอกทองไป อีกทั้งเมื่อได้เห็นเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร คัดเลือกมาจัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เมื่อ พ.ศ.2558 ก็จุดประกายให้คิดว่า นี่คือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ เนื่องด้วยข้อมูลจากทะเบียนระบุว่า ได้มาจาก “พระวิหารหลวง” ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยไม่พบร่องรอยถูกเผา ความคิดที่จะบ่งเสี้ยนปริศนานี้ จึงนำไปสู่การค้นคว้าอย่างจริงจัง ก่อนจะนำเสนอแนวคิดดังกล่าวที่ พช.พระนคร เมื่อ 19 มีนาคม 2559 ทำเอาพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยคับแคบไปถนัดตา ด้วยจำนวนผู้เข้าฟังซึ่งมีทั้งเห็นด้วย คัดค้าน และยังอยู่ระหว่างตัดสินใจ

การแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นไปอย่างเข้มข้น ร้อนแรง เพียง 1 เดือนถัดมา นิตยสารศิลปวัฒนธรรมก็ตีพิมพ์บทความนำเสนอประเด็นที่ว่านี้ กระทั่งถูกขยายเป็นหนังสือเล่มตามคำแนะนำของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษเล่มนี้ด้วยตนเอง

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล


เทียบขนาด วัดพระเศียร เปิดพงศาวดาร

ข้อมูลอัดแน่นเกือบ 200 หน้า ผ่านการค้นคว้าเรียบเรียงโดยเจ้าตัวอธิบายว่า เหตุที่สันนิษฐานว่าเศียรดังกล่าวคือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ เป็นไปด้วยเหตุผลหลายประการ เริ่มจากเรื่องของขนาดเศียรที่มีขนาดใหญ่มาก จึงตัดประเด็นที่ว่าเป็นเศียรของพระพุทธรูปในศาลารายรอบมหาสถูปออก เนื่องจากพื้นที่ประดิษฐานไม่เพียงพอ ส่วนวิหารพระโลกนาถก็เป็นไปไม่ได้ เพราะพระโลกนาถเป็นพระพุทธรูปประธานก็ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพน ท่าเตียน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เช่นเดียวกับพระพุทธรูปในอุโบสถ และวิหารป่าเลไลยก์

นอกจากนี้ ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ยังกล่าวการหล่อพระศรีสรรเพชญ์ ในจุลศักราช 862 ตรงกับ พ.ศ.2043 ระบุถึงขนาดพระวรกายและข้อมูลอื่นๆ ไว้ค่อนข้างละเอียด จากการศึกษาลักษณะพระพักตร์ และขนาดของพระพุทธรูปที่ พช.พระนคร พบว่ามีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้ ยังมีร่องรอยหลักฐานในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมที่ทำให้ทราบว่า พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวัดพระศรีสรรเพชญ์ คือ พระศรีสรรเพชญ์ สอดคล้องกับขนาดของเศียรพระพุทธรูปที่ พช.พระนคร

“เศียรพระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระหนุค่อนข้างเสี้ยม กึ่งกลางพระนลาฏมีพระอุณาโลม พระขนงโก่ง มีไรพระศกเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เม็ดพระศกขนาดค่อนข้างเล็ก แม้ว่าส่วนที่เป็นพระเกตุมาลาจะหักหายไปแต่ก็น่าที่จะเชื่อได้ว่าแต่เดิมมีเปลวพระรัศมี ถ้าพิจารณาจากพุทธศิลปะพบว่ามีความใกล้เคียงกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนกลาง จึงยิ่งมั่นใจว่า นี่คือเศียรพระศรีสรรเพชญ์” อาจารย์ยืนยันหนักแน่น

ภาพถ่ายมุมสูง วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดย วิลเลียม ฮันท์ (ที่มา : Elizabeth Moore, Phillip Stott and Suriyavudh Sukhavasti, Ancient of Thailand (Bangkok : Asiabooks,1996)
ภาพถ่ายมุมสูง วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดย วิลเลียม ฮันท์ (ที่มา : Elizabeth Moore, Phillip Stott and Suriyavudh Sukhavasti, Ancient of Thailand (Bangkok : Asiabooks,1996)

อังวะเผาลอกทอง เรื่องหลอกๆ ที่ไร้หลักฐาน?

สำหรับประเด็นอังวะ หรือพม่าเผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเชื่อกันสืบมา รุ่งโรจน์ระบุว่าเป็นเอกสารในยุคหลังจากกรุงแตกไปนานมาก จึงถือว่าหลักฐานอ่อน อีกทั้งเมื่อสวมวิญญาณนักวิทยาศาสตร์เปิดตำราพิจารณาจุดหลอมละลายของ “สำริดหุ้มทอง” พบว่าต้องใช้ความร้อนมากกว่า 1,064 องศาเซลเซียส แล้วจะต้องใช้เชื้อเพลิงมากแค่ไหน? อีกทั้งเหตุใดผนังวิหารหลวงอันเป็นที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ์จึงไม่พังทลาย หรือกลายสภาพเป็นเหมือนเตาเผาภาชนะดินเผาที่ผ่านความร้อนสูง

นอกจากนี้ เมื่อพลิกรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีที่ฐานชุกชีพระศรีสรรเพชญ์ ก็ไม่พบร่องรอย “ชั้นดินที่ถูกเผา” แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม อาจารย์เชื่อว่ามีการเผาพระพุทธรูปดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้ทำเพื่อลอกทอง ซึ่งต้องใช้อุณหภูมิสูงมากดังที่กล่าวไปแล้ว ทว่าเผาเพื่อทำลายกรุงศรีอยุธยาในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้ผู้คนขวัญเสียมากกว่า

 

เศียรพระพุทธรูปใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครซึ่ง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูลเสนอว่าเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปสำคัญครั้งกรุงเก่า
เศียรพระพุทธรูปใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครซึ่ง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูลเสนอว่าเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปสำคัญครั้งกรุงเก่า

 

รัชกาลที่ 5 ประทับบนเสลี่ยงคานหามทอดพระเนตรโบราณสถานในวัดพระศรีสรรเพชญ์ อย่างไรก็ตามมีผู้ตั้งคำถามว่า ถ้าแนวคิดของ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์เป็นจริง เหตุใดสมัยดังกล่าวรวมถึงยุครัชกาลที่ 6 ไม่มีการกล่าวถึงเศียรพระศรีสรรเพชญ์เลย ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีความรู้ในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมถึงพระยาโบราณราชธานินทร์ ผู้ก่อตั้งอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษมในเวลาต่อมา อันเป็นสถานที่เก็บรักษาเศียรพระพุทธรูปดังกล่าว ก่อนที่จะย้ายมายัง พช.พระนคร (ที่มาภาพ :พระพุทธเจ้าหลวงกับชาวกรุงเก่า)
รัชกาลที่ 5 ประทับบนเสลี่ยงคานหามทอดพระเนตรโบราณสถานในวัดพระศรีสรรเพชญ์ อย่างไรก็ตามมีผู้ตั้งคำถามว่า ถ้าแนวคิดของ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์เป็นจริง เหตุใดสมัยดังกล่าวรวมถึงยุครัชกาลที่ 6 ไม่มีการกล่าวถึงเศียรพระศรีสรรเพชญ์เลย ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีความรู้ในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมถึงพระยาโบราณราชธานินทร์ ผู้ก่อตั้งอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษมในเวลาต่อมา อันเป็นสถานที่เก็บรักษาเศียรพระพุทธรูปดังกล่าว ก่อนที่จะย้ายมายัง พช.พระนคร (ที่มาภาพ :พระพุทธเจ้าหลวงกับชาวกรุงเก่า)


แจงยิบประเด็นค้าน ยกหลักฐานอุด’ช่องโหว่’

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อเสนอของรุ่งโรจน์ถูกตั้งคำถามมากมายมาตั้งแต่การบรรยายนำเสนอที่ พช.พระนคร ทั้งยังกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลอยู่พักใหญ่ แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็สร้างกระแสในแวดวงประวัติศาสตร์ให้เกิดการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ฟาดฟันเพื่อเอาชนะ

พร้อมกันนี้ ผู้เขียนได้พยายามตอบประเด็นที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยโดยเฉพาะในคำถามสำคัญที่ว่า หลักฐานด้านเอกสารระบุถึงเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีการอัญเชิญแกนพระศรีสรรเพชญ์มายังพระนคร เพื่อปฏิสังขรณ์ แต่อยู่ในสภาพชำรุดมาก ครั้นจะหลอมใหม่ พระสังฆราชและพระราชาคณะให้ความเห็นว่า การนำพระพุทธรูปไปหลอมในไฟใหม่ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ สุดท้ายจึงมีการนำแกนดังกล่าวบรรจุไว้ในพระเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าในเจดีย์ดังกล่าวมีพระเศียรอยู่หรือไม่

ถามว่าเหตุใดเมื่อรัชกาลที่ 1 อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาปฏิสังขรณ์ในพระนคร จึงไม่ทรงอัญเชิญเศียรพระศรีสรรเพชญ์จากอยุธยามาด้วย ทั้งที่เป็นพระพุทธรูปสำคัญ พระองค์ต้องเคยทรงทอดพระเนตรเห็นอยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทรงทราบว่าเศียรใดคือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ นอกจากนี้ ยังมีความสับสนเรื่องทะเบียนโบราณวัตถุที่ระบุไม่ตรงกัน

“เชื่อว่ารัชกาลที่ 1 ไม่ทรงพบเศียรดังกล่าวในช่วงเวลานั้น เนื่องจากเศียรอาจถูกฝังดินไว้โดยพม่า เพื่อเป็นการทำลายหรือข่มขวัญในเชิงสัญลักษณ์ หรือหากไม่ใช่เช่นนั้น ก็ไม่มีหลักฐานใดเลยที่ระบุว่ารัชกาลที่ 1 ซึ่งเชื่อว่าทรงจดจำพระพักตร์ของพระศรีสรรเพชญ์ได้นั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงเก่าด้วยพระองค์เอง จึงเป็นไปได้ว่า เป็นการส่งข้าหลวงไป นอกจากนี้ การที่ไม่ซ่อมบูรณะพระศรีสรรเพชญ์ เพราะชำรุดเกินกว่าจะซ่อมได้นั้น ถามว่า พระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่ชำรุดมาก เช่น พระกรหายไป ก็ยังมีหลักฐานว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ แสดงว่า การไม่ซ่อมพระศรีสรรเพชญ์ ต้องมีเหตุผลสำคัญ ซึ่งเชื่อว่า เป็นเพราะการไม่พบพระเศียรนั่นเอง ส่วนกรณีของทะเบียนที่ระบุไม่ตรงกัน โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตัดคำว่าวิหารหลวงออก อันนี้มองว่า แม้ไม่มีคำดังกล่าว ถามว่า วิหารใดในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จะมีความสูงมากพอที่จะประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ได้อีก นอกจากวิหารหลวง หรือวิหารพระศรีสรรเพชญ์”

นี่คือคำตอบโดยสรุปของผู้เขียน ซึ่งมีรายละเอียดอีกมากมายอยู่ในหนังสือที่กลุ่มหนุนต้องอ่าน กลุ่มค้านต้องซื้อ แล้วอ่านทวนหลายๆรอบอย่างรอบคอบรัดกุม

อย่าเชื่อ จนกว่าจะอ่านครบทุกตัวอักษร

2
ผลงานที่กลั่นกรองมาจากผลการศึกษาอย่างลุ่มลึก วางจำหน่ายแล้ว ราคา 240 บาท

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image