รองโฆษกอัยการแจงร่างแก้พ.ร.บ.อัยการ ตัดสิทธิ์อายุเกิน65นั่ง”บริหาร-ก.อ.”เทียบเคียงศาลยุติธรรม

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 23 มีนาคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย นางเด่นเดือน กลั่นสอน รองเลขานุการอัยการสูงสุด แถลงข่าวชี้แจงหลักการเสนอเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ในประเด็นเรื่องการแก้ไขอายุของพนักงานอัยการที่ดำรงตำแหน่งทางบริหารซึ่งมีอายุครบ 65 ปีให้พ้นจากตำแหน่งบริหาร แล้วสามารถดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส แต่อัยการอาวุโสนั้นจะไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)

โดยนายประยุทธ กล่าวว่า ในเรื่องประเด็นดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ทางสำนักงานอัยการสูงสุดจึงขอชี้แจง หลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า การกำหนดให้อายุของพนักงานอัยการที่ดำรงตำแหน่งทางบริหารครบ 65 ปีให้พ้นจากตำแหน่งบริหาร แล้วสามารถดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสนั้น ทางสำนักงานอัยการสูงสุด เห็นว่าหลักการพ้นจากตำแหน่งบริหารของอัยการเป็นหลักการเดียวกับศาลยุติธรรม ทั้งสองหน่วยงานจะมีมาตรฐานของบุคลากรเช่นเดียวกันและเคียงคู่กันมายาวนาน คุณสมบัติการเข้าสู่ตำแหน่งของอัยการไม่ว่าจะเป็น เรื่องวุฒิการศึกษา ประสบการณ์การกำหนดอายุ ได้กำหนดเหมือนกัน ผู้ที่จะสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา การเสนอหลักการในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายสำนักงานอัยการสูงสุดในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น และผลประโยชน์จะตกแก่ประชาชนยิ่งกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อาจมีผลทำให้ข้าราชการส่วนหนึ่งที่เห็นว่าตนเองจะต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารเร็วขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงข้าราชการประเภทอื่นซึ่งเกษียณอายุราชการ60ปีแล้ว การเสนอแก้ไขให้อัยการพ้นจากตำแหน่งบริหาร 65 ปี จึงสอดคล้องกับหลักการดำรงตำแหน่งบริหารของข้าราชการทั่วไป แต่ทั้งนี้สำนักงานอัยการสูงสุดยังตะหนักถึงความสำคัญในการมีอัยการอาวุโส ที่จะได้ถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ แก่อัยการรุ่นหลังต่อไป

นายประยุทธ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นเรื่องที่ห้ามให้อัยการอาวุโสมีสิทธิได้รับเลือกเป็น ก.อ. นั้น เป็นการกำหนดให้เป็นแนวทางเดียวกับศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน ศาลยุติธรรมมีการกำหนดหลักการนี้ไว้ตั้งแต่ ปี 2542 แล้ว และเหตุสำคัญที่กำหนดมิให้อัยการอาวุโสเป็นก.อ. นั้นเนื่องจากว่าตำแหน่งอัยการอาวุโสเดิมนั้นไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร แต่ตำแหน่ง คณะกรรมการอัยการ นั้นถือว่าเป็นตำแหน่งบริหาร เพราะมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย ลงโทษข้าราชการอัยการได้ ดังนั้นการให้อัยการอาวุโสมาดำรงตำแหน่งกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิจึงไม่ถูกต้อง

นายประยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่มีการคัดค้านว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยไม่ฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่เสนอเข้าที่ประชุม ก.อ. นั้น ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีกฎหมายที่ระบุให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะต้องเข้า ก.อ.เพื่อพิจารณาก่อน รวมถึงเรื่องการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ในความจริงที่จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทางคณะผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งประกอบด้วยอัยการสูงสุด และรองอัยการสูงสุด ได้มีการร่วมพิจารณาเห็นชอบด้วยกฎหมาย แล้วก่อนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อ คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบในหลักการนี้แล้ว

Advertisement

“การมีความเห็นต่างกระทำได้ อัยการสูงสุดเห็นด้วยว่าถ้ามีการเสนอไปถึง กมธ.และ สนช. เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปพิจารณา แต่อย่างชี้แจงกรณีที่อ้างว่าไม่มีการสอบถามความเห็นบุคลากรในหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือไม่นำเข้าสู่ ก.อ.นั้น ไม่มีกฎหมายให้กระทำเช่นนั้น แต่ก่อนการเสนอร่างผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดโดยอัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ ถี่ถ้วนทุกมิติแล้ว สำคัญอย่างยิ่งร่างนี้ เสนอผ่าน ครม.ที่ให้ความเห็นชอบแล้ว รวมทั้งผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ทุกขั้นตอนล้วนตรวจสอบความถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด ” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังกล่าวถึงกรณีที่อัยการผู้ยื่นเรื่องคัดค้านอ้างถึงการฟ้องคดีอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ม.157 ว่า การเสนอร่างกฎหมายของสำนักงานอัยการสูงสุด คณะผู้บริหารที่ประกอบด้วยอัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ตระหนักถึงความชอบด้วยกฎหมายเป็นประเด็นแรก ส่วนที่อ้างว่าไม่ได้ถามความเห็นบุคลากรนั้นขอย้ำว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติทำเช่นนั้น ถ้าจะมีก็มีในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ขณะที่การเสนอร่างคำนึงถึงความชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นไม่มีประเด็นต้องหวั่นหรือ กังวล

ทั้งนี้ นายประยุทธ ชี้แจงถึงเกณฑ์อายุโดยเฉลี่ยการดำรงตำแหน่งของอัยการว่า เกณฑ์ทั่วไปสามารถจะสอบเป็นอัยการได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่เข้ามาเป็นอัยการเริ่มประมาณ 28- 30 ปี และเข้าสู่ตำแหน่งระดับบริหาร อัยการจังหวัด ประมาณอายุ 50 ปี , อัยการพิเศษฝ่าย อายุ 60 ปี , ระดับรองอธิบดีอัยการ และอธิบดีอัยการ ประมาณ 62 ปี ขณะที่อัยการสูงสุดคนปัจจุบันก็ดำรงตำแหน่งเมื่ออายุ 63 ปี

Advertisement

ทั้งนี้ นางเด่นเดือน กลั่นสอน รองเลขานุการอัยการสูงสุด กล่าวเสริมว่า ในการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายนี้ ตระหนักถึงภารกิจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด ใน 2 ประเด็น คือ เดิมที่กำหนดให้มีอัยการอาวุโสนั้นเพราะเดิมขาดอัตรากำลัง ประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2540 เราถึงมี พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งอัยการให้ดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส เรายึดโยงกับศาลที่มีเช่นกัน โดยคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งก็มาตรฐานเดียวกัน ต่อมาปี 2550 ที่มีรัฐธรรมนูญฯ ใหม่ กำหนดให้พ้นจากราชการอายุ 70 ปี ดังนั้นเดิมการกำหนดอายุ 70 ปีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ ขณะที่เมื่อจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2557 สำนักงานอัยการสูงสุด มีแบบสอบถามเกี่ยวกับความเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฯ มีข้าราชการจำนวนหนึ่งเสนอมาขอให้แก้ไขเรื่องอายุการดำรงตำแหน่งทางบริหารของอัยการว่าให้อยู่ที่ 65 ปี โดยครั้งนั้นก็เป็นการส่งประเด็นที่ข้าราชการอัยการเรียกร้องเข้ามา

“ที่ว่าตั้งแต่ในปี 2553 เป็นต้นมาอัยการขึ้นสู่ตำแหน่งได้ช้าเฉพาะกรณีที่มีผู้ร้องเรียน แต่จริงแล้วก็ช้าทั้งระบบ แต่การตรากฎหมายครั้งนี้เป็นการคืนสิทธิที่ท่านช้าไป ให้คืนทั้งระบบทุกท่าน การจะคำนึงถึงการเสียสิทธิต้องคำนึงเป็นภาพรวม ไม่ใช่เป็นปัจเจก เพราะกฎหมายต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ และคำนึงถึงขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติในภาพรวมด้วย” นางเด่นเดือน กล่าวและว่า ที่บางส่วนมองว่าจะเสียสิทธิการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารไป 1 ปี แต่ 1 ปีนั้นท่านยังสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นอัยการอาวุโสให้รุ่นน้องได้ต่อไป จะสอดคล้องกับเจตนารมณ์การที่ให้มีอัยการอาวุโสที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนถึงอายุ 70 ปีที่แตกต่างข้าราชการอื่น เราควรใช้เวลาที่มีในการดำรงตำแหน่งอาวุโสนั้นในทางเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด จากการถ่ายทอดองค์ความรู้การดำเนินคดี งานอัยการเป็นงานทางเทคนิคที่ต้องใช้ประสบการณ์ดูรูปคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image