ป.ป.ช.ประสานสหรัฐอายัดทรัพย์ ‘จุฑามาศ ศิริวรรณ’ 65 ล้าน

เชือดไก่ให้นักการเมืองดู “ป.ป.ช.” ชี้มูลความผิด “จุฑามาศ” ปมรับสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์ ชง อสส.ฟ้องศาล ประสานสหรัฐยึด 65 ล้านจากต่างประเทศ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 มีนาคม 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ ป.ป.ช. แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร จากการเรียกรับเงินจากนักธุรกิจชาวอเมริกันเพื่อให้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกรณีต่อเนื่องจากคดีอาญาที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลอาญาแล้ว โดยการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ ทางคณะอนุกรรมการไต่สวนที่มี พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง คณะกรรมการ ป.ป.ช เป็นประธานฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

นายนิติพันธุ์กล่าวว่า จากการประสานข้อมูลกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่านางจุฑามาศมีทรัพย์สินเป็นเงินฝากในต่างประเทศ 6 ประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ เกาะเจอร์ซีย์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีบุตรสาวเป็นผู้ถือครองแทน รวมทรัพย์สินประมาณ 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 65 ล้านบาท ซึ่งการชี้แจงถึงที่มาของเงินในกรณีนี้ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ ป.ป.ช.จึงได้ประสานกับทางสหรัฐอเมริกาเพื่ออายัดทรัพย์สินดังกล่าว และจะประสานให้สหรัฐอเมริกาคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้รัฐไทย ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 และสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย โดยหลังจากนี้ ป.ป.ช.จะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดภายใน 30 วันหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ก่อนที่จะส่งคำสั่งศาลให้กับสหรัฐอเมริกาดำเนินการคืนทรัพย์สินให้ตกเป็นของรัฐไทยต่อไป

นายนิติพันธุ์กล่าวว่า หลังจากนี้คณะกรรมการประสานงานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.เป็นประธาน จะมีการประชุมเพื่อหารือการดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยคดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่มีการติดตามทรัพย์สินจากการกระทำผิดที่มีอยู่ในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้ระยะเวลานานเท่าใดในการเรียกคืนทรัพย์สิน เพราะการดำเนินการต้องเป็นไปตามขั้นตอน และเป็นไปตามกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ หากการดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอน การติดตามทรัพย์สินคืนก็จะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้นักการเมืองเห็นว่า แม้ทรัพย์สินจากการกระทำผิดจะอยู่ในต่างประเทศก็สามารถดำเนินการติดตามเอาคืนมาได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image