‘ชื่นมื่น’ สังสรรค์นักเขียนมติชน รางวัล ‘หนังสือดีเด่น’ 2560

เป็นที่น่ายินดีสำหรับคนทำหนังสือ เมื่อผลงานที่สร้างสรรค์ตีพิมพ์ออกไปแล้วมีคนเห็นคุณค่า และน่าชื่นใจยิ่งขึ้นเมื่อผลงานได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผลงานเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น มีผู้อ่านรู้จักหนังสือเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด สำนักพิมพ์มติชน ส่งหนังสือคว้ารางวัล “หนังสือดีเด่นประจำปี 2560” โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมการผลิตหนังสือภาษาไทยที่แต่งและทำภาพประกอบโดยคนไทย ให้มีคุณภาพดี มีสารประโยชน์ และมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างนิสัยรักการอ่าน และส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้

รางวัลประจำปี 2560 เป็นการประกวดหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2559 มีผู้ส่งเข้าประกวด 464 เรื่อง แยกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ สารคดี นวนิยาย กวีนิพนธ์ รวมเรื่องสั้น หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี หนังสือการ์ตูน และหรือนิยายภาพ และหนังสือสวยงาม

สำนักพิมพ์มติชนได้รับรางวัล 5 เรื่อง

Advertisement

1.พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ โดย วีรพร นิติประภา รางวัลดีเด่นประเภทนวนิยาย

2.อาคเนย์คะนึง (Southeast Wind of Love) โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ รางวัลดีเด่นประเภทรวมเรื่องสั้น

3.มันยากที่จะเป็นมลายู โดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ รางวัลชมเชยประเภทสารคดี

Advertisement

4.ชีวิตของประเทศ โดย วิษณุ เครืองาม รางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย

5.กลับสู่โลกสมมุติ โดย รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ รางวัลชมเชยประเภทรวมเรื่องสั้น

โอกาสน่าชื่นใจนี้ มติชนจึง “เปิดบ้าน” จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีนักเขียนรางวัล “หนังสือดีเด่น” พ.ศ.2560

นอกจากจะร่วมยินดีกับผลงานที่ได้รับรางวัลแล้ว ยังถือเป็นการพบปะนักเขียน-คอลัมนิสต์แบบคนกันเอง

 

แดดร่มลมตก ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการเครือมติชน เป็นเจ้าบ้านต้อนรับแขกเหรื่อ พร้อมด้วย ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการเครือมติชน

หันไปมุมหนึ่ง พบ รศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

วีรพร นิติประภา-อนุสรณ์ ติปยานนท์

แวดวงนักเขียน-คอลัมนิสต์มากันคับคั่ง อาทิ อุรุดา โควินท์, อติภพ ภัทรเดชไพศาล, ภาณุ ตรัยเวช, พิชา รัตนานคร, ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์, กล้า สมุทวณิช, ลลิตา หาญวงษ์, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นิวัต-ปรียา พุทธประสาท แห่งเม่นวรรณกรรม, ฆนาธร ขาวสนิท บก.นิตยสาร giraffe, อาทิตย์ ธรรมชาติ บก.แพรวสำนักพิมพ์ สมทบด้วยนักเขียนสาวเสียงสวย กงลี่ อรุณวตี พร้อมเพื่อนซี้ สมชาย แซ่จิว

ด้าน โตมร ศุขปรีชา นักเขียนและคอลัมนิสต์ มาพร้อม แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ผู้ก่อตั้งเว็บข่าว The Matter

ส่วน บก.ต้น-พัลลภ สามสี จากสำนักพิมพ์มติชน จูงมือลูกแฝดวัยกำลังน่ารักมาช่วยต้อนรับแขกเหรื่อ งานนี้สาวน้อยท่าทางจะตื่นเต้นเพราะวิ่งวุ่นทั้งงาน ป่วนลุงป้าน้าอาจนเหนื่อยแล้วผล็อยหลับไป

วิษณุ เครืองาม-ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ-รัชศักดิ์ จิรวัฒน์

เมื่อถึงเวลาที่ทุกวงสนทนากำลังคุยกันลื่น ร้านหนังสือออนไลน์สุดฮอตอย่าง Readery โดย เน็ต-นัฏฐกร และ โจ-วรรณพิณ ก็นำทีมมาร่วมแจมกันพร้อมหน้า

และที่สำคัญขาดไม่ได้คือ นักเขียนผู้คว้ารางวัลหนังสือดีเด่นปี 2560 วีรพร นิติประภา ผู้เขียนพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ผู้เขียนอาคเนย์คะนึง และ รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ ผู้เขียนกลับสู่โลกสมมุติ

น่าเสียดายที่งานนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม ผู้เขียนชีวิตของประเทศ และ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ผู้เขียนมันยากที่จะเป็นมลายู ติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมงานได้

(จากซ้าย) ฐากูร บุนปาน, อภิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ, กล้า สมุทวณิช, ลลิตา หาญวงษ์, ขรรค์ชัย บุนปาน, รัชศักดิ์ จิรวัฒน์, กิตติวรรณ เทิงวิเศษ

ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน กล่าวต้อนรับแบบกันเองว่า ขอแสดงความยินดีกับนักเขียนทุกท่านที่ได้รางวัล ไม่ว่าครั้งนี้หรือรางวัลอื่นที่จะตามมาในอนาคต

“เชื่อว่าในฐานะคนเขียนหนังสือ เราอยากสื่อสารบางอย่างให้คนอ่านรับรู้และเข้าใจ การที่ได้รางวัลถือเป็นเครื่องยืนยันว่าสารที่สื่อไปมีคนเห็นคุณค่าว่าสิ่งที่เรานำเสนอกลั่นออกมาจากสมอง ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ต้องขอแสดงความยินดีและกราบขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจมติชนเป็นผู้ผลิตงานของท่าน ในฐานะคนทำหนังสือ เราอยากจะทำงานที่ดีและขายได้ เป็นที่ยอมรับของสังคม ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เป็นคำขอที่อาจเยอะไปหน่อย แต่เป็นความจริงของชีวิต

“ขอให้ยินดีที่ยังมีคนอ่านหนังสืออยู่ ขอให้มีแรงมีกำลังใจที่จะผลิตงาน ผลิตตัวหนังสือ ผลิตความคิด ความหวัง แรงบันดาลใจให้คนในสังคมต่อไป”

ก่อนจะยืนยันว่า อะไรที่มติชนสามารถร่วมมือกับทุกคนได้เป็นสิ่งที่ทางมติชนยินดี

“และหวังว่าจะได้ยินดีกันอีกหลายครั้งในอนาคตสำหรับท่านอื่นๆ ต่อไป” ฐากูรกล่าว

อนุสรณ์ ติปยานนท์ ผู้เขียน “อาคเนย์คะนึง” (Southeast Wind of Love) กล่าวถึงการได้รับรางวัลว่า เป็นเรื่องดีที่หนังสือจะได้มีคนอ่านเยอะขึ้น ทำให้มีกำลังใจพัฒนางานต่อไป ส่วนเหตุที่เขียนถึงอาคเนย์ มองว่าเป็นย่านที่ได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมจีนและอินเดีย รับพุทธศาสนาจนสร้างวัฒนธรรมของเราขึ้นมา โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่น

“อาคเนย์คะนึงเป็นการมองย้อนกลับไปถึงเรื่องเล่าเก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ เช่น การปฏิวัติในลาว ช่วง 1970-1975 ที่อาจลืมกันไปแล้ว มีความพยายามทำเรื่องเกี่ยวกับดนตรีจำนวนมาก ทำให้ประเทศนำไปสู่การต่อสู้ทางวัฒนธรรมได้ โดยเฉพาะเพลงปฏิวัติของลาว หรือช่วงรัชกาลที่ 4 ห้ามคนลาวเล่นเพลงอีสานเล่นแคน และเรื่องคริสต์มาสในวังหน้า พยายามเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ ซึ่งต้องค้นข้อมูลเยอะมาก

“เป็นการพยายามอธิบายเรื่องที่มีมาก่อน เออีซีไม่ได้เพิ่งมารวมกันตอนนี้ แต่รวมกันมาเป็นพันปีแล้วภายใต้วัฒนธรรมมอญเขมร ภายใต้วัฒนธรรมจีนฮินดู ที่เราพูดถึงเออีซีเป็นการผนวกรวมแบบรัฐสมัยใหม่ แต่รัฐสมัยเก่าเป็นพื้นที่เดียวกัน คนพม่าเข้ามาทางแม่สาย เอาวัวไปขายไกลถึงทุ่งกุลาร้องไห้ที่อีสาน ก่อนกลับแม่สอดเข้าพม่า เรามีอาคเนย์มาตั้งนานแล้ว”

ก่อนกล่าวทิ้งท้าย “ปัจจุบันนี้เป็นผลผลิต จริงๆ เราเป็นเนื้อเดียวกันมานานแล้ว ทั้งกับคนลาว คนเวียดนาม คนมลายู”

อีกหนึ่งนักเขียนที่ได้รับรางวัลประเภทรวมเรื่องสั้น รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ เจ้าของงาน “กลับสู่โลกสมมุติ” บอกว่าดีใจที่ได้รางวัล เมื่อหนังสือออกไปมีคนอ่านแล้วเห็นว่ามีคุณภาพสมควรได้รางวัลก็ถือว่าเป็นกำลังใจให้กับคนเขียน

“น่าจะทำให้มีคนเห็นงานของเราเพิ่มขึ้นบ้าง อาจมีคนอยากลองอ่าน ทำให้ไปถึงคนอ่านง่ายขึ้น”

ส่วนเหตุที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจ รัชศักดิ์มองว่า น่าจะเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมร่วมสมัย

“เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนยุคนี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมที่ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วด้วยโซเชียลมีเดีย จนถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมือง จึงเป็นประเด็นร่วมสมัย”

ผลงานเล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มที่ 2 ของรัชศักดิ์ งานชิ้นต่อไปเขาหันมาเขียนนวนิยาย ซึ่งเขียนเสร็จแล้ว และกำลังอยู่ในการพิจารณาของสำนักพิมพ์

“นิยายเล่มใหม่เป็นเรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐประหารครั้งล่าสุด โดยโยงไปถึงเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอดีต เช่น พฤษภาทมิฬ หรือความรุนแรงในปี 2553 การปะทะกันของความเชื่อและความจริงที่อาจเหลื่อมซ้อนหรือย้อนแย้งกันอยู่”

เป็นที่น่าติดตามสำหรับผลงานเล่มต่อไปของรัชศักดิ์

เชื่อว่ากำลังใจเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์งานเขียนของนักเขียนทุกคน เมื่อมีคนเห็นคุณค่าของผลงาน แม้ในยุคที่สิ่งพิมพ์กำลังปรับตัว แต่โลกก็ยังคงต้องการงานเขียนจรรโลงสังคมมนุษย์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image