ศตวรรษแห่งความภูมิใจ : คอลัมน์ โลกสองวัย

แบบแปลนต้นแบบของ "อาคารอักษรศาสตร์"

วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2560 อีกสองวันที่ “น้ำใจน้องพี่สีชมพู” จะได้ไปพบปะสังสรรค์กันใน “ศตวรรษแห่งความภูมิใจ” ณ สนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เป็นวันประวัติศาสตร์ที่ชาวจามจุรีสีชมพู จะต้องจารึกไว้ในหัวใจ

สีประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ “สีชมพู” ศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล เสนอว่าชื่อของมหาวิทยาลัยคือ พระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชสมภพในวันอังคาร และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ จึงสมควรอัญเชิญสีประจำพระองค์เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นเกียรติและสิริมงคล

ส่วนเพลงประจำมหาวิทยาลัยคือเพลงพระราชนิพนธ์ “มหาจุฬาลงกรณ์” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2492 พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ใช้ชื่อเรียกนักศึกษาว่า “นิสิต” ด้วยเมื่อแรกก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ไกลจากเขตพระนคร ศูนย์กลางความเจริญสมัยนั้นมาก จึงต้องสร้างหอพักเพื่อผู้เข้ารับการศึกษาได้พักในมหาวิทยาลัย และใช้คำว่า “นิสิต” ที่แปลว่า “ผู้อาศัย”

การพระราชทานปริญญาครั้งแรกของประเทศไทยเกิดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 ตุลาคม 2473 มีบุคคลสำคัญได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก การนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนาง

Advertisement

เจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้เสื้อครุยได้ โดยมีสีพื้นของสำรดแบ่งเป็น 3 สี คือ สีเหลืองสำหรับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ สีดำสำหรับบัณฑิตและมหาบัณฑิตเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชสมภพในวันเสาร์ สีแดงชาด สำหรับดุษฎีบัณฑิตเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชสมภพในวันอังคาร

หลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขยายการจัดการศึกษา ยังได้ริเริ่มการเรียนการสอนพื้นฐานของวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

นับแต่ปี 2460 ถึงปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผู้บัญชาการและอธิการบดีมา 17 คน

อธิการบดีคนปัจจุบันคือ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

ทั้งได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทยทั้งคุณภาพและชื่อเสียงทุกด้าน เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาในระดับดีมากจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน และเป็นมหา

วิทยาลัยเดียวของไทยที่เป็นสมาชิกของสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก

“วันนี้เรามีความยินดีเป็นที่สุดที่ได้รับอัญเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้วที่จะยังการให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารภมานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม แต่ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีเหตุติดขัด ซึ่งการจะดำเนินไปไม่ได้ปลอดโปร่ง ตัวเราผู้เป็นรัชทายาทจึงรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตาม

พระราชประสงค์ โดยรู้อยู่ว่าเมื่อได้ทำสำเร็จแล้วจะเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศ เป็นราชานุสาวรีย์ เป็นที่คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของชาติไทยเรา เป็นการสมควรยิ่งนักที่จะสร้างพระราชานุสาวรีย์อันใหญ่และถาวรเช่นนี้ ทั้งจะได้เป็นเครื่องที่จะทำให้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติไทยไม่มีวันเสื่อมสูญด้วย…”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชดำรัสตอบในวันพระราชพิธีก่อพระฤกษ์ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2458

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image