รพ.เลิดสิน จับมือ เอ็มเทค สวทช. เปิดตัว“กระดูกต้นแขนเทียมส่วนบน” เพื่อผู้ป่วยมะเร็งกระดูก

วันที่ 24 มีนาคม กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน จัดกิจกรรม “Lerdsin Sarcoma Day” เพื่อสร้างกลุ่มเครือข่ายให้กับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกได้ทำความรู้จักแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินชีวิตภายหลังการรักษา ทั้งนี้ในงานได้มีการแถลงข่าวเปิดตัว “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ซึ่งออกแบบและผลิตได้เองเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมี นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมงาน

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และบริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด ที่ได้ร่วมกันพัฒนากระดูกต้นแขนเทียม เพื่อช่วยในการผ่าตัดรักษาคนไข้มะเร็งกระดูก ตั้งแต่ขั้นตอนการระดมสมองจากกลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขาเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จำนวน 35-40 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาต้นแบบกระดูกต้นแขนเทียมส่วนบนสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกในประเทศไทยจนสำเร็จลุล่วง และผ่านการทดสอบการใช้งานทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งกระดูกจำนวน 10 ราย ใน 3 โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ของทั้ง 3 แห่ง มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีโรคแทรกซ้อนแต่ประการใด

นายกฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ เอ็มเทค กล่าวว่า การเปิดตัว “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “ผลิตโลหะทดแทนกระดูก” โดย นพ.ปิยะ เกียรติเสวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน และกลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขาเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ทำโครงการนำร่อง ออกแบบและผลิตกระดูกต้นแขน ด้วยโลหะแทนกระดูกแขน สำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูก เพื่อทดแทนกระดูกและข้อที่มีราคาแพงมาก เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีทุนทรัพย์น้อยได้ใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงรอเก็บข้อมูลหลังการใช้งานจริง

นายกวิน การุณรัตนกุล นักวิจัยห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ เป็นผู้วิจัย โดยนวัตกรรม “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” เหมาะกับคนไข้กลุ่มปฐมภูมิ ที่พบว่าเป็นมะเร็งกระดูกแขนเหนือข้อศอก ซึ่งจะพบมากในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยหากตรวจพบแล้วสามารถรักษาก่อนที่จะลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ จะใช้วิธีการเปลี่ยนเอา“กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ไปใส่แทนกระดูกแขนที่เป็นมะเร็ง ซึ่งต้องตัดกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออก วิธีการนี้จะช่วยให้คนไข้อยู่ได้นานขึ้น ลดการเสียชีวิต และสามารถกลับมาเรียนจนจบได้ มีอาชีพการงานที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image