“บาส-ปอป้อ” อีกหนึ่งอนาคตวงการขนไก่ไทย

หนึ่งในชนิดกีฬาที่สร้างความสุขและชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้อย่างสม่ำเสมอมายาวนานหลายสิบปีคงไม่พ้นกีฬา “แบดมินตัน” ซึ่งนักตบลูกขนไก่ไทยจัดอยู่ในแถวหน้ามาหลายยุคหลายสมัย และมีการผลิตนักกีฬาประดับวงการในทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง

หลังจากแฟนกีฬาไทยได้ลุ้นใจหายใจคว่ำกับ “น้องเมย์” รัชนก อินทนนท์ ในศึก “ออลอิงแลนด์ แชมเปี้ยนชิพส์” เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ก็มายิ้มแก้มปริกับชัยชนะของ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่มืออันดับ 11 ของโลก ซึ่งคว้าแชมป์คู่ผสมในรายการ “โยเน็กซ์ สวิส โอเพ่น 2017” ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นแชมป์คู่ผสมระดับกรังด์ปรีซ์โกลด์ครั้งแรกของทั้งคู่

นอกจากจะคว้าแชมป์ได้แล้ว บาสกับปอป้อยังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการล้มคู่มือ 1 ของโลกจากจีน “เจิ้ง ซี่ เหว่ย” และ “เฉิน ชิง เฉิน” รวมทั้งคู่มือ 8 ของโลกอย่าง “ปราวีน จอร์แดน-เด๊บบี้ ซูซานโต้” จากอินโดนีเซียด้วย

สำหรับบาสสังกัดสโมสรศรีราชา ขณะที่ปอป้ออยู่กับสโมสรตรีเลิศ แต่ทั้งคู่ล้วนเป็นผลผลิตจากแคมป์ “เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี” ทั้งสิ้น

Advertisement

ในรายของปอป้อถือว่าชื่อคุ้นหูแฟนกีฬาบ้านเรามายาวนานเพราะทำผลงานโดดเด่นตั้งแต่ระดับเยาวชนด้วยการคว้าเหรียญทองประเภทหญิงเดี่ยวจากมหกรรมกีฬา ยูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 1 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2010 ขณะอายุ 17 ปี

หลังจากช่วงแรกของชีวิตการเป็นนักแบดมินตัน ปอป้อออกทัวร์แข่งขันในประเภทเดี่ยวได้ระยะหนึ่งก็ผันตัวไปเล่นในประเภทคู่ โดยเริ่มต้นจากการจับคู่กับ “เอ็มเอ็ม” สาวิตรี อมิตรพ่าย ก่อนเปลี่ยนมาคู่กับ “เอิร์ธ” พุธิตา สุภจริตกุล อีกหนึ่งนักหวดสาวจากเอสซีจี อคาเดมี ของสโมสสรสิงห์ เอชเอช จนไต่ขึ้นไปอยู่อันดับ 10 ของโลกในปัจจุบัน และเคยคว้าตั๋วไปแข่งขัน “โอลิมปิกเกมส์ 2016” ด้วยกันมาแล้ว

ช่วงที่ออกทัวร์แข่งประเภทเดี่ยวนั้น เคยคว้าแชมป์หญิงเดี่ยวในรายการ “ยูเอส โอเพ่น” ที่สหรัฐอเมริกาในปี 2013 และเคยคว้าแชมป์หญิงคู่รายการ “เอสซีจี ไทยแลนด์ โอเพ่น” ที่บ้านเราเมื่อปีที่แล้ว จึงกลายเป็นนักตบลูกขนไก่หญิงคนแรกของโลกที่คว้าแชมป์ได้ครบ 3 ประเภทในระดับกรังด์ปรีซ์

Advertisement

ปอป้อเผยว่า จุดเริ่มต้นของการเล่นแบดมินตันมาจากการตามคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นอดีตนักกกีฬาแบดระดับมหาวิทยาลัยไปออกกำลังกาย พอเริ่มต้นแข่งแล้วแพ้ก็กลายเป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตัวเองเพื่อคว้าชัยชนะให้ได้ โดยถ้าเปรียบเทียบระหว่างประเภทเดี่ยวและคู่แล้ว ประเภทเดี่ยวจะเหนื่อยกว่าเพราะต้องคุมการเล่นทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่การเล่นคู่ก็ต้องอาศัยทีมเวิร์ก ความเข้าขาและรู้ใจกัน ถ้าคนหนึ่งพลาด อีกคนก็ต้องช่วยแก้ไขให้กลับมาสู่เกมให้ได้

สำหรับ “บาส” เดชาพลนั้น ก่อนจะกลายเป็นนักแบดมินตัน เคยผ่านประสบการณ์การเล่นกีฬามาแล้วมากมาย ทั้งฟุตบอล กรีฑา และเทนนิส ก่อนจะจับไม้แบดจริงจังตอนอายุ 7 ปี และกลายเป็นนักแบดมินตันดาวรุ่งที่น่าจับตามองในปัจจุบัน

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว บาสจับคู่กับ “สกาย” กิตตินุพงษ์ เกตุเรน จากสโมสรสิงห์ เอชเอช คว้าแชมป์ชายคู่ในศึกแบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์โลกมาครอง และเริ่มจับคู่กับปอป้อในปี 2015 ในการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ช่วงแรกๆ ยังต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าหากัน แต่เมื่อเริ่มลงตัวก็ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 11 ของโลกในปัจจุบัน

ด้าน “โค้ชโอม” เทศนา พันธ์วิศวาส หัวหน้าผู้ฝึกสอนของเอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี และผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการจับคู่กันระหว่างบาสกับปอป้อนั้น เริ่มจากบาสเดินมาบอกตนว่าอยากเล่นประเภทคู่ผสมควบคู่ไปกับการเล่นชายคู่ จึงถามกลับไปว่า พร้อมจะรับผิดชอบการเล่น 2 ประเภทแล้วหรือยัง เมื่อบาสยืนยันว่าพร้อมจึงเป็นที่มาของการแนะนำให้ทั้ง 2 คนรู้จักกัน

“ที่ต้องถามว่าพร้อมหรือไม่ เพราะการเล่นคู่นั้นไม่ว่าจะเป็นคู่ผสม ชายคู่ หรือหญิงคู่ ทุกอย่างคือการนำเกมเหล่านี้มาใช้ร่วมกันเพื่อพัฒนาการเล่นทุกประเภทไปพร้อมกัน การจะเล่นหลายๆ ประเภทพร้อมกัน สิ่งสำคัญจึงต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น”

โค้ชโอมกล่าวต่อว่า จุดเด่นของคู่ปอป้อและบาสคือการเรียนรู้จากคู่ต่อสู้ ทุกครั้งที่ลงแข่งขันจะเก็บข้อดีของคู่แข่งมาปรับใช้กับการเล่นของตัวเอง ส่วนเรื่องที่ต้องพัฒนาคือระเบียบวินัย การควบคุมตัวเองเวลาเจอเหตุการณ์จากภายนอก

ในอดีตเราเคยมีนักแบดมินตันคู่ผสมที่เคยก้าวขึ้นไปถึงมือ 2 ของโลกอย่าง “สุดเขต ประภากมล” และ “สราลีย์ ทุ่งทองคำ” มาแล้ว ซึ่งบาสและปอป้อก็หวังก้าวตามรอยรุ่นพี่ โดยวางเป้าหมายขั้นต้นในการติดท็อป 5 ของโลกให้ได้ก่อน

จากนั้นจึงก้าวสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นไปทีละลำดับขั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image