สนช.นัดประชุม3 วันรวด วาระกม.แน่นเอียด หวั่นปม ม.77 รธน.ใหม่

สนช.นัดประชุม 3 วันรวด วาระ กม.แน่นเอียด “โฆษกวิปฯ” รับ เร่งพิจารณา หวั่น ม.77 รธน.ใหม่ หลัง ยังตีความต่าง “รบ. หรือ รัฐสภา” กันแน่ ต้องรับฟังความเห็น ปชช.

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้มีคำสั่งนัดประชุมสนช.วันที่ 29-31 มีนาคมนี้ 3 วันรวด จากปกติที่จะนัดประชุมสัปดาห์ละ 2 วันโดยมีวาระพิจารณากฏหมาย อาทิ ร่างพ.ร.บ.ธนาคารออมสิน (ฉบับที่..) พ.ศ… ร่าง พ.ร.บ.ระบบการชำเงิน พ.ศ… ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่..) พ.ศ… ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่..) พ.ศ… รวมถึง ร่างพ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว อาทิ ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..)พ.ศ…และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ… อีกทั้งยังนัดประชุมพิเศษเพื่อพิจารณาแถลงปิดสำนวนการถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จากกรณีการออกหนังสือเดินทางให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯโดยมิชอบ ในวันที่ 29 มีนาคม ก่อนที่จะนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในวันที่ 30 มีนาคมนี้

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. กล่าวว่า คงไม่ปฏิเสธว่าสนช.เร่งพิจารณากฎหมายเพราะ เราเกรงว่าจะมีปัญหาตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งแม้จะนัดประชุมถึง 3 วัน แต่ก็ยังมีกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับที่ยังไม่ได้บรรจุในวาระ เพราะการพิจารณากฎหมายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้จะต้องรับฟังความเห็นและศึกษาผลกระทบ ซึ่งคงต้องดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะขณะนี้ยังตีความกันเป็น 2 ทาง คือมองว่าการเสนอกฎหมาย คือ รัฐ หมายถึง รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ศึกษา ขณะที่ฝ่ายตีความว่าเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งกฎหมายที่เกรงว่าจะเป็นปัญหาคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น ทรัพยากรน้ำ จะต้องพิจารณาว่า เราได้รับฟังความเห็นรอบด้านหรือยัง ต้องทำประชาพิจารณ์อย่างไรจึงจะครบตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image