ดอว์ซู-ในจอและนอกจอ(2) : นิธิ เอียวศรีวงศ์

หากกองทัพพม่าต้องการปฏิรูปประเทศ โดยกองทัพยังกำกับทั้งเนื้อหา, กระบวนการ และจังหวะเวลาได้ และโดยกองทัพไม่ต้องยกออกไปปะทะกับนักศึกษาประชาชนหรือพระสงฆ์ให้เป็นข่าวดังไปทั่วโลกอีก ก็ไม่มีใครเหมาะสมจะเป็นประธานาธิบดียิ่งไปกว่าพลโทเตงเส่ง ซึ่งพรรค USDP และพันธมิตรได้เสนอชื่อและลงมติด้วยเสียงข้างมากเลือกขึ้นมา

เตงเส่งไม่มีประวัติร่วมลงทุนหรือชักหัวคิวกับบริษัทต่างชาติในการดูดทรัพยากรธรรมชาติในรัฐชนกลุ่มน้อย ข้อนี้ทำให้เขาน่าไว้วางใจแก่ชนกลุ่มน้อยมากกว่านายพลทั่วไป ในฐานะประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เขาทำให้เสียงของตัวแทนชนกลุ่มน้อยได้รับฟังบ้าง แม้ไม่ได้รับการตอบสนองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้สภาล่ม แสดงว่าเขาเก่งในการประสานกลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งกันได้ดี เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มพลเรือนที่เคลื่อนไหวทางสังคม ในฐานะนายกรัฐมนตรีในช่วงที่พม่าเปิดให้ต่างชาติเข้ามาให้ความช่วยเหลือและทำกิจกรรมหลังนาร์กีส เขายังรู้จักคุ้นเคยกับตัวแทนต่างชาติเหล่านั้น ในบรรดานักการเมืองพม่า หากไม่นับ ออง ซาน ซูจี แล้ว เตงเส่งน่าจะเป็นคนที่มีสายสัมพันธ์กับตัวแทนชาติตะวันตกมากที่สุด

ในช่วงนั้น (และสืบมาจนช่วงนี้) กองทัพพม่าแบ่งออกได้เป็นสองสาย คือสายเหยี่ยวที่ต้องการรักษาสถานะและบทบาทของกองทัพไว้ดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง กับสายปฏิรูปที่เห็นว่าพม่าจำเป็นต้องปฏิรูป แต่ก็ยังรักษาความเหนือสุดทางการเมืองของกองทัพไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ทำได้ไม่ยากอยู่แล้ว ใน 2010 (2553)

ตานฉ่วยและหม่องเอซึ่งเป็นสายเหยี่ยวกำลังถอยออกไปจากการเมือง ทำให้สายปฏิรูปในกองทัพสามารถเคลื่อนไหวได้อิสระมากขึ้น และหันมามองเตงเส่งในฐานะผู้นำกลุ่ม

Advertisement

การปฏิรูปของรัฐบาลเตงเส่งเริ่มขึ้นเกือบทันที เขาย้ำอยู่เสมอว่าจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปคือนำพม่าไปสู่ประชาธิปไตยในบั้นปลาย (น่าสังเกตว่าเป็นคำขวัญเดียวกับที่ดอว์ซูอ้างเสมอ ใครๆ ก็คงพอมองเห็นว่าคู่แข่งทางการเมืองของ USDP ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปคือดอว์ซูและ NLD อย่างแน่นอน) สิ่งแรกที่รัฐบาลเตงเส่งทำคือให้เสรีภาพแก่สื่อพม่า เลิกการตรวจข่าวก่อนพิมพ์ และเลิกบังคับให้สื่อต้องขออนุญาตทำกิจการ เปิดเสรีด้านสื่อออนไลน์ แม้ว่าเทคโนโลยียังไม่เอื้อสักเท่าไรก็ตาม ฉะนั้นมาตรการปฏิรูปของรัฐบาลเตงเส่ง จึงต้องทำภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลของหลายฝ่ายที่สามารถเข้าถึงสื่อได้

ดอว์ซูมีกำหนดจะพ้นโทษใน 2009 แต่ก็เกิดกรณีคนอเมริกันลอบว่ายน้ำไปหาที่บ้านพัก จนทำให้เธอถูกพิพากษาเพิ่มโทษอีก 18 เดือน บางคนเชื่อว่าเป็นแผนของกองทัพเพื่อกันมิให้ดอว์ซูสามารถออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างเลือกตั้งได้ เพราะต้องการให้การเลือกตั้งดูเรียบร้อยดี เป็นฐานความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลใหม่ของพรรค USDP ของกองทัพ แม้กระนั้นก็เป็นที่รู้กันทั้งในพม่าและทั่วโลกว่า การเลือกตั้งครั้งนั้นเต็มไปด้วยกลโกงนานาชนิดเพื่อทำให้พรรค USDP ได้เสียงข้างมากในสองสภา และสภาท้องถิ่นเกือบทั้งหมด

แม้ถูกกักบริเวณดอว์ซูก็ประกาศแต่ต้นแล้วว่าไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญของทหาร โดยเฉพาะมาตราที่มุ่งจะกีดกันเธอมิให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนี้ กฎหมายเลือกตั้งที่ออกมายังมุ่งจะกีดกันมิให้มีพรรคใดสามารถแข่งขันกับพรรคของกองทัพได้ เช่นตั้งราคาค่าสมัครไว้สูงเกินกว่าจะมีพรรคใดสามารถส่งผู้สมัครได้ทั่วทุกเขต ดังนั้นจุดยืนของเธอต่อการเลือกตั้งใน 2010 ก็คือพรรค NLD บอยคอตการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นผลให้พรรค NLD ถูก กกต.พม่ายุบ ในขณะเดียวกันเธอก็เรียกร้องให้ยอมรับผลการเลือกตั้งใน 1990 (2533) ซึ่ง NLD กวาดคะแนนท่วมท้น

Advertisement

แต่จุดยืนนี้คือการประกาศเผชิญหน้ากับกองทัพโดยตรง เป็นจุดยืนที่ถูกต้องและดีที่สุดหรือไม่ในสถานการณ์ช่วงนั้นคงเถียงกันได้ และในความเป็นจริงก็เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางระหว่างทางเลือกสองทางคือ ปฏิบัตินิยมและหลักการ ส่วนใหญ่ของพรรค NLD ไม่มีปากเสียงอะไร แต่มีสมาชิกส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เสนอให้ส่งสมาชิกลงเลือกตั้ง แล้วใช้โอกาสเท่าที่มีในการผลักดันการปฏิรูปในระบบ แม้ดอว์ซูจะ (ยัง) ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีก็ตาม

ดอว์ซูโกรธเคืองสมาชิกกลุ่มนี้อย่างมาก กล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศ และถูกขับออกจากสมาชิกทั้งหมด จึงพากันไปตั้งพรรค NDF (พรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ) แต่ก็ประสบความสำเร็จได้ไม่กี่ที่นั่งในสภา

อาการเป็นผู้นำเด็ดขาดที่ไม่เปิดให้มีการอภิปรายถกเถียงกันในพรรคของดอว์ซูครั้งนี้ จะดำรงสืบมาจนถึงปัจจุบัน ไม่แตกต่างจากที่เนวินและตานฉ่วยนำกองทัพมาในอดีต นักวิชาการพม่าศึกษาอธิบายว่า เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของพม่ามาแต่อดีต แม้นายพลอองซานเอง ก็นำการต่อสู้เพื่อเอกราช และนำพรรค AFPFL มาในลักษณะนี้

ผมอยากเตือนว่า นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมการเมืองของพม่าเพียงสังคมเดียว แต่เราพบได้แทบจะทุกประเทศ
ของอุษาคเณย์ – สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซียสมัยซูฮาร์โต, และกัมพูชา – ก็มีลักษณะเดียวกัน ในประเทศไทย พรรคการเมืองคือการรวมกลุ่มของก๊กต่างๆ หลายก๊ก ทำให้หัวหน้าพรรคไม่มีเสียงเด็ดขาด ต้องประนีประนอมกับหัวหน้าก๊กด้วย แต่เมื่อพรรคการเมืองใดประสบความสำเร็จขนาดที่สมาชิกต้องพึ่งทั้งชื่อเสียงความนิยมและเงินทุนของหัวหน้าพรรคเป็นหลัก อย่างพรรค ทรท. เมื่อนั้นหัวหน้าพรรคก็กลายเป็นเผด็จการในพรรคไปเหมือนกัน ส่วนเวียดนาม, ลาว และฟิลิปปินส์ มีเงื่อนไขอีกบางอย่างที่ไม่เปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรคเป็นเผด็จการในพรรคได้

วัฒนธรรมของการโต้เถียงอภิปรายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่วัฒนธรรมของความสัมพันธ์ทางสังคมในกลุ่มประเทศอาเซียน

นอกจากวัฒนธรรมทางการเมืองแล้ว ควรเข้าใจด้วยว่าไม่มีประวัติว่า ออง ซาน ซูจี เคยสนใจการเมืองมาก่อน ทั้งในอินเดียและอังกฤษ ซึ่งเธอได้ใช้ชีวิตวัยเด็กและวัยสาวตลอดมา เธอเป็นแม่บ้านเต็มตัว อย่างที่ผู้หญิงพม่าในครอบครัวชั้นเธอพึงเป็น ครั้นกลับมาพยาบาลมารดาในพม่าและถูกดึงให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ชีวิตช่วงนี้ของเธอส่วนใหญ่ก็คือการถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านตนเอง จึงไม่เปิดโอกาสให้เธอได้เรียนรู้วัฒนธรรมการเมืองอื่นใดมากไปกว่าวัฒนธรรมที่บิดาของเธอเองก็เป็นส่วนหนึ่ง

ดอว์ซูพ้นโทษออกมาใน 2011 (2554) เธอเริ่มกิจกรรมทางการเมืองทันที นอกจากเดินสายไปเยี่ยมเยือนสาขาพรรคในท้องถิ่นต่างๆ และรณรงค์ทางการเมืองไปพร้อมกันแล้ว ดอว์ซูและ NLD ยังชูเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โครงสร้างพรรคกลับฟื้นคืนมาใหม่ และอยู่ภายใต้การกำกับของดอว์ซูอย่างรัดกุม เพราะเธอปรับเปลี่ยนผู้บริหารพรรคให้เป็นคนในสายของเธอ ซึ่งก็คือแกนนำเก่าที่ร่วมชะตากรรมเคยถูก SLORC จับติดคุกติดตารางมาด้วยกัน อาจจะเพราะเป็นที่ไว้วางใจแก่เธอมากกว่า ผลจึงทำให้ NLD กลายเป็นพรรคคนแก่อย่างเดียวกับพรรคทหาร เพราะคนหนุ่มสาวซึ่งเข้ามาร่วมกับพรรคในภายหลัง แม้มีความสามารถและมีชื่อเสียงเด่น ก็ไม่ได้รับเลือก (หรือแต่งตั้งจากดอว์ซู) ให้เข้าไปเป็นผู้บริหารพรรค

จุดยืนของดอว์ซูและ NLD ที่จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมเริ่มคลายลง เมื่อจะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมหลายเขตใน 2012 (2555) ในที่สุดดอว์ซูก็ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเอง และส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในเขตต่างๆ โดยได้รับอนุญาตจาก กกต.ให้ลงทะเบียนพรรค NLD ใหม่ (หลังจากถูกยุบไปแล้ว)

ในทางการเมือง การเปลี่ยนจุดยืนครั้งนี้มีเหตุผล หากพรรคจะมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งทั่วไปตามวาระใน 2015 (2558) พรรคและดอว์ซูต้องแสดงบทบาททางการเมืองในระบบตั้งแต่ก่อนนั้น อย่างไรเสียก็ดีกว่ารณรงค์หลักการโดยไม่มีบทบาทอะไรเสียเลย ซึ่งจะทำให้ชิงพื้นที่สื่อได้น้อยลงอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน ดอว์ซูอาจกลายเป็นนักการเมืองเต็มตัวไปแล้ว คือให้ความสำคัญแก่โอกาสทางการเมืองมากกว่าหลักการประชาธิปไตยที่ยังไม่มีวันเป็นจริง

ผู้สนับสนุนเธออาจอธิบายอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เพราะได้พ้นจากการถูกกักบริเวณ มีโอกาสพบปะผู้คนและศึกษาสถานการณ์ที่เป็นจริงอย่างใกล้ชิดด้วยตนเอง ดอว์ซูจึงต้องหันเหจากหลักการมาสู่ปฏิบัตินิยม (แต่สมาชิกพรรค NDF ซึ่งเห็นอย่างนี้มาก่อน ก็ยังไม่ได้รับการให้อภัยอยู่นั่นเอง?)

แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีเตงเส่ง นอกจากไม่ขัดขวางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของดอว์ซูแล้ว รัฐบาลของเขายังเริ่มกระบวนการปรองดองกับดอว์ซูด้วย เตงเส่งส่งคนสนิทของเขามาเจรจากับดอว์ซูเป็นระยะตลอดมา ตั้งแต่เธอยังไม่พ้นโทษ ข้อเรียกร้องบางอย่างของเธอ รัฐบาลก็ยอมรับ แต่อีกบางอย่างเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กันทางการเมืองต่อไปข้างหน้า

ดูเหมือนเตงเส่งเข้าใจดีว่า พม่าซึ่งจะได้รับคำรับรองจากนานาชาติ จะสามารถปฏิรูปต่อไปได้โดยไม่เกิดเหตุร้ายแรง อย่างไรเสียก็ต้องมีพื้นที่ให้แก่
ออง ซาน ซูจี

ดอว์ซูและ NLD กวาดที่นั่งในการเลือกตั้งซ่อม 2012 ไปได้เกือบทั้งหมด ทำให้พรรค NLD กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญที่สุดในสภา แต่ในขณะเดียวกันชัยชนะนี้ก็เป็นสัญญาณให้พรรคตัวแทนชนกลุ่มน้อยเห็นเหมือนกันว่า อาจต้องสูญเสียที่นั่งให้แก่ NLD ไปจำนวนมากในการเลือกตั้ง 2015 เพราะแม้ในเขตเลือกตั้งซ่อมของชนกลุ่มน้อยเอง พรรค NLD ก็ยังเอาชนะได้ ความหวังทางการเมืองของกลุ่มเคลื่อนไหวชนกลุ่มน้อยต้องฝากไว้กับ NLD อยู่ไม่น้อย แต่ดอว์ซูก็ไม่เคยสัญญาอะไรมากไปกว่าว่า จะจัดให้มีการประชุมปางโหลงครั้งที่สอง หาก NLD สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในภายหน้า แต่ปางโหลงครั้งที่สองหมายถึงอะไร ไม่มีใครรู้

จาก 2012 ถึง 2015 หรือที่จริง 2016 เมื่อดอว์ซูขึ้นมาควบคุมการบริหารประเทศ ประธานาธิบดีเตงเส่งได้ดำเนินการปฏิรูปต่อไปในหลายด้าน มีการออกรัฐบัญญัติการศึกษาใหม่ ซึ่งเปิดให้ชนกลุ่มน้อยสามารถสอนภาษาท้องถิ่นในโรงเรียนได้ แม้ว่าหลักสูตรเกือบทั้งหมดยังต้องเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาได้วางไว้ก็ตาม แต่ดูเหมือนจุดมุ่งหมายคือทำให้ระบบการศึกษาของพม่าซึ่งก่อนหน้านั้นมีอยู่หลายระบบ (โรงเรียนรัฐ, โรงเรียนวัด, โรงเรียนมิชชันนารี, โรงเรียนชนกลุ่มน้อยในเขตที่อยู่ใต้การปกครองของรัฐ, โรงเรียนชนกลุ่มน้อยในเขตที่เป็นอิสระจากรัฐ) เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันได้

ด้านเศรษฐกิจยอมรับคำแนะนำของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก คือมีอัตราแลกเปลี่ยนมาตรฐานที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของค่าเงินจ๊าด และลอยตัวในระดับหนึ่ง (ประมาณ 1,200/1 เหรียญสหรัฐ) ยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างชาติ และทำกฎหมายการลงทุนใหม่ที่เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น

เปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลทหารจากการกันคนอื่นให้อยู่วงนอก (exclusiveness) มาเป็นการดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม (inclusiveness) โดยเฉพาะองค์กรระหว่างชาติ, องค์กรของประเทศตะวันตก, องค์กรภาคประชาสังคมทั้งต่างชาติและของพม่ากับชนกลุ่มน้อยเอง ทั้งนี้ รวมทั้งการกระจายอำนาจไปยังรัฐบาลท้องถิ่น

เปิดการเจรจากับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยในลักษณะที่รัฐบาลพม่าไม่เคยทำมาก่อน คือร่วมเจรจากับกองกำลังหลายกลุ่มไปพร้อมกัน เพราะมีจุดมุ่งหมายจะทำข้อตกลงสันติภาพในระดับประเทศ เพื่อนำไปสู่การเจรจาด้านการเมืองโดยพร้อมเพรียงกัน ประธานาธิบดีพม่ายอมลงนามในสัญญากับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ยอมทำสัญญา นับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายรัฐผูกมัดตนเองในสัญญา
ฯลฯ

ใช่ว่านโยบายปฏิรูปของเตงเส่งจะไม่มีข้อบกพร่องเสียเลย มีมากทีเดียว เพราะถึงอย่างไรเตงเส่งก็ต้องดำเนินการปฏิรูปภายใต้ข้อจำกัด คือทำให้กองทัพพม่ายอมรับได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสายเหยี่ยวที่เกรงว่าการปฏิรูปจะทำลายอภิสิทธิ์ของกองทัพลงโดยสิ้นเชิง แต่ไม่ว่าจะเป็นสายใดก็ตาม กองทัพพม่าภายใต้ ผบ.สูงสุด (หัวหน้าคณะเสนาธิการร่วม) มินอ่องหล่าย ก็วางตัวนิ่งสนิท ทำสิ่งที่กองทัพเห็นว่าต้องทำ เช่น เปิดศึกกับชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่ทำสัญญาสงบศึก โดยไม่เคยขออนุมัติรัฐบาล แต่ไม่เคยต่อต้านคัดค้านนโยบายของรัฐบาล และไม่เคยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล

เป็นอีกอำนาจอิสระหนึ่งที่อ่านยาก

หากมองแต่ด้านความบกพร่องของนโยบายปฏิรูปของเตงเส่ง อาจเห็นว่าการปฏิรูปของรัฐบาลเขายังไปไม่ถึงไหน เช่นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้เปิดโอกาสให้การประกอบการรายย่อยมีโอกาสทัดเทียมกับกลุ่มเจ้าสัวพันธมิตรของทหาร ซึ่งคุมการลงทุนใหญ่ๆ ไว้เกือบทั้งหมด รวมทั้งการร่วมทุนกับนายทุนต่างชาติ ในด้านการกระจาย อำนาจมีแต่โครงสร้าง ในการปฏิบัติจริงรัฐบาลกลางยังคงคุมการบริหารเกือบทุกด้านไว้เหมือนเดิม ชนกลุ่มน้อยที่เจรจาจนได้สัญญามีเพียง 8 กลุ่ม ที่เหลือซึ่งมีกำลังมากเช่นว้าหรือโกกั้งยังไม่ได้ลงนามร่วมกัน ปัญหากองทัพยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไข การปฏิรูประบบราชการยังไปได้ไม่ไกลนัก มีความพยายามแทรกเทคโนแครตเข้าไปในระดับบนบ้าง แต่มือไม้ของรัฐยังอ่อนแอและเละเทะเหมือนเดิม การปฏิรูปการศึกษาคือมุ่งผลิตแรงงานให้แก่การประกอบการของคนรวยในอนาคต

แม้กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลเตงเส่งได้วางทิศทางและเป้าหมายการปฏิรูปให้แก่พม่าไว้อย่างกว้างขวางและชัดเจน จนกระทั่งว่า ไม่ว่ารัฐบาลใดที่เข้ามา บริหารต่อจากเตงเส่ง ก็คงต้องดำเนินนโยบายปฏิรูปของเขาต่อไป และในอีกแง่หนึ่ง ก็ยากที่จะถอยหลังกลับคืนได้ง่ายๆ ฉะนั้นแม้แต่หากกองทัพกลับมายึดอำนาจเบ็ดเสร็จอีกครั้งหนึ่ง ก็ต้อง “ต่อรอง” (negotiate) กับนโยบายปฏิรูปของเตงเส่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตลอดช่วงนี้ ดอว์ซูในฐานะหัวหน้าพรรค NLD และ ส.ส.ทำอะไร และอย่างไร กับการปฏิรูปของเตงเส่ง จะกล่าวถึงข้างหน้า
(ยังมีต่อ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image