’11 เมนู’ พึงระวัง เค็มจัด-โซเดียมสูง สะเทือน’ไต’

“รสเค็ม” จัดเป็นรสชาติคู่อาหารไทยที่มีความจัดจ้านจนทำให้ใครต่อใครติดอกติดใจ แต่รู้หรือไม่ว่า อาหารรสเค็มจัดหรือที่เรียกกันว่าโซเดียมสูงนั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง และนำไปสู่ภาวะไตเสื่อม จนไตวาย…

ล่าสุดยืนยันชัดเจนในการประชุมพิจารณามาตรการควบคุมโซเดียมในอาหาร โดยความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และองค์การอนามัยโลก ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมริชมอนด์ เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเปิดผลสำรวจโซเดียมในอาหาร เพื่อนำมาเปรียบเทียบว่าในแต่ละวันเราบริโภคโซเดียมในปริมาณเท่าไร ซึ่งองค์การอนามัยโลกและโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือโคเด็กซ์ (Codex) กำหนดค่าปริมาณสูงสุดของโซเดียมที่รับได้และไม่ทำให้เกิดอันตรายไว้ที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

แม้จะมีมาตรฐานการที่ร่างกายควรบริโภคโซเดียมในแต่ละวันไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม แต่ในความเป็นจริงพบว่าคนไทยบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน เกินปริมาณแนะนำถึง 2 เท่า

ผศ.วันทนีย์ เกรียงสินยศ นักวิชาการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการสำรวจอาหารจากความร่วมมือของหน่วยรับรองสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ สำรวจผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่มีจำหน่ายทั่วไป พบปริมาณโซเดียมในอาหารต่างๆ ดังนี้

Advertisement

1.อาหารพร้อมบริโภค 1 หน่วย ค่าต่ำสุด 260 สูงสุด 1,800 เฉลี่ย 809 มิลลิกรัม 2.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 50 กรัม ค่าต่ำสุด 650 สูงสุด 1,360 ค่าเฉลี่ย 1,238 มิลลิกรัม 3.โจ๊กปรุงรส ซอง/ถ้วย 50 กรัม ต่ำสุด 463 สูงสุด 1,886 เฉลี่ย 1,240 มิลลิกรัม 4.แกงจืด/ซุป ชนิดเข้มข้นหรือชนิดแห้ง 50 กรัม ต่ำสุด 205 สูงสุด 5,125 เฉลี่ย 2,150 มิลลิกรัม 5.ซุปก้อน/ผงปรุงรส 10 กรัม ต่ำสุด 1,000 สูงสุด 2,000 เฉลี่ย 1,440 มิลลิกรัม 6.น้ำปลา 15 กรัม ต่ำสุด 770 สูงสุด 1,620 เฉลี่ย 1,230 มิลลิกรัม

7.ซีอิ๊ว 15 กรัม ต่ำสุด 560 สูงสุด 1,600 เฉลี่ย 1,095 มิลลิกรัม 8.มันฝรั่งทอด/อบ 30 กรัม ต่ำสุด 55 สูงสุด 786 เฉลี่ย 160 มิลลิกรัม 9.ข้าวเกรียบ 30 กรัม ต่ำสุด 29 สูงสุด 1,048 เฉลี่ย 210 มิลลิกรัม 10.ข้าวโพดอบกรอบ 30 กรัม ต่ำสุด 20 สูงสุด 500 เฉลี่ย 160 มิลลิกรัม 11.แครกเกอร์ 30 กรัม ต่ำสุด 15 สูงสุด 500 เฉลี่ย 140 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ยังได้สำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารไทย 11 ชนิดต่อหน่วย พบปริมาณโดยประมาณ ได้แก่ 1.แกงเขียวหวาน 625 มิลลิกรัม 2.แกงส้ม 850 มิลลิกรัม 3.แกงเลียง 600 มิลลิกรัม 4.ต้มข่าไก่ 700 มิลลิกรัม 5.ต้มยำกุ้ง 1,000 มิลลิกรัม 6.น้ำพริกกะปิและผัก 650 มิลลิกรัม 7.น้ำพริกมะขามและผัก 625 มิลลิกรัม 8.ห่อหมกใบยอ 400 มิลลิกรัม 9.ผัดเผ็ดปลาดุก 750 มิลลิกรัม 10.ยำถั่วพู 450 มิลลิกรัม และ 11.ทอดมันปลา 650 มิลลิกรัม

Advertisement

และค่าโดยประมาณของปริมาณโซเดียมในน้ำจิ้ม 6 ชนิดต่อ 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 15 กรัม คือ 1.น้ำจิ้มข้าวมันไก่ 332 มิลลิกรัม 2.น้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ 139 มิลลิกรัม 3.น้ำจิ้มสุกี้ 277 มิลลิกรัม 4.น้ำจิ้มข้าวหมกไก่ 377 มิลลิกรัม 5.น้ำจิ้มกุยช่าย 428 มิลลิกรัม และ 6.น้ำราดข้าวหมูแดง 200 มิลลิกรัม

ผศ.วันทนีย์อธิบายเพิ่มเติมว่า การจะให้คำนวณปริมาณโซเดียมของการบริโภคแต่ละครั้งคงทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะวิถีชีวิตจริงๆ อาจไม่สะดวก ดังนั้น วิธีดีที่สุดคือปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารรสจัดจ้านเพียงเล็กน้อยก็ช่วยได้

อาทิ ไม่เติม ไม่ปรุงเพิ่ม หรือหากเป็นร้านอาหารตามสั่ง หากสามารถบอกได้ ควรกำชับให้ปรุงอาหารรสไม่จัดมากแทน

หรือหากเป็นคนทำอาหารเองก็ต้องลดปริมาณความเค็มลง ไม่ได้หมายถึงให้รับประทานอาหารรสจืดเลย เพราะหากทำเช่นนั้นจะทำไม่ได้

ทางที่ดีที่สุดค่อยๆ ลดรสชาติที่คุ้นเคยดีกว่า เช่น เดิมกินอาหารรสจัดจ้าน จากเคยปรุงน้ำปลา 2 ช้อนชา ก็ขอให้ลดเหลือ 1 ช้อนครึ่งแทน และค่อยๆ ลดลง ซึ่งการลดน้อยๆ จะทำให้แทบไม่

รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง

“จริงๆ การรับรู้รสชาติเค็มของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเค็มมาก บางคนรู้สึกเค็มน้อย ซึ่งหลักโภชนาการนั้นไม่ควรบริโภคเค็ม หรือกินน้ำปลามากเกิน 4 ช้อนชาต่อวัน เฉลี่ยมื้อละ 1 ช้อนชา ซึ่งแต่ละช้อนชาจะมีปริมาณ 450-500 มิลลิกรัมแตกต่างกันไป แต่ความเป็นจริงเรากลับบริโภคโซเดียมถึงวันละ 3-4 พันมิลลิกรัมทีเดียว ส่งผลให้ร่างกายไม่สมดุล เห็นได้จากความต้องการดื่มน้ำมากขึ้น ซึ่งก็ถูกต้อง แต่อย่าลืมว่าเมื่อบริโภคน้ำก็จะมีการขับออกในรูปปัสสาวะ แต่หากเราบริโภคเค็มมากๆ เป็นเวลานานๆ การขับออกก็จะส่งผลต่อการทำงานของไต ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น สุดท้ายก็เกิดไตเสื่อมอยู่ดี และแม้หลายคนกินเค็มเยอะๆ และบอกว่าก็กินผัก-ผลไม้ เพื่อให้ได้โพแทสเซียมสูงควบคู่กันไปก็ไม่ผิด แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากลดการกินเค็มลง และกินอย่างพอดี” ผศ.วันทนีย์กล่าว

ด้าน น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า การได้รับโซเดียมในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ และส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้การลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมเป็น 1 ใน 9 เป้าหมายที่สำคัญ

โดยต้องลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 อย.ในฐานะกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคได้มีบทบาทในการส่งเสริมผู้บริโภคเลือกซื้อเลือกบริโภคอาหารจากคุณค่าทางโภชนาการที่มีในผลิตภัณฑ์นั้น ผ่านการให้ข้อมูลบนฉลากอาหารที่หลากหลาย เช่น ฉลากโภชนาการ ฉลาก GDA และการกล่าวอ้างทางโภชนาการ โดยมีการจัดทำรายงานวิจัยการสำรวจสถานการณ์การแสดงข้อมูลโภชนาการและปริมาณโซเดียมบนฉลากอาหารในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที

โดยปี 2555-2558 พบว่าแหล่งของเกลือและโซเดียมที่ประชากรไทยได้รับจากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคมากที่สุดคือ กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อยู่ช่วง 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค รองลงมาคืออาหารแช่เย็นแช่แข็ง อยู่ช่วง 400-1,500 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

ซึ่งนักโภชนาการแนะนำให้อาหารที่กินเป็นมื้อหลักควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ส่วนกลุ่มอาหารว่างควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค โดยพบว่าผลิตภัณฑ์ปลาเส้นมีปริมาณอยู่ช่วง 300-900 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ส่วนขนมขบเคี้ยว อยู่ช่วง 100-600 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

อย.จึงมีแนวทางในการผลักดันมาตรการลดโซเดียมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ เช่น การปรับสูตรอาหาร การติดฉลากโภชนาการ การติดสัญลักษณ์ในผลิตภัณฑ์อาหารเกลือสูง ได้แก่ อาหารกึ่งสำเร็จรูป พวกบะหมี่และโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผงหรือก้อนปรุงรส และการเก็บภาษีเกลือโซเดียม โดยหวังว่าการประชุมพิจารณามาตรการควบคุมโซเดียมในอาหารนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งคณะทำงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เครือข่ายผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกัน และจัดทำแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเกิดประสิทธิผลก่อนมีมาตรการทางกฎหมายต่อไป

นอกจากอาหารหวานจัดแล้ว อาหารเค็มจัดก็มีโทษต่อร่างกายเช่นกัน ในฐานะผู้บริโภคแล้ว การตามใจปากมากจนเกินไปก็เกิดโทษได้เหมือนกัน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image