ดีเดย์ 5 เม.ย. ใช้ม.44 ‘กฎเหล็กจราจร’ เชื่ออุบัติเหตุลดฮวบ ชี้สงกรานต์นั่งกระบะเขตเล่นน้ำได้ แต่ห้ามวิ่งทางหลัก

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. ดูแลงานด้านจราจร

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 44 ฉบับที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายนนี้ว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลมีการเตรียมความพร้อมมานาน อย่างช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เคยกำชับตั้งแต่ในเรื่องกล้องตรวจจับความเร็วว่าถ้าไม่จ่ายค่าปรับตามกำหนดก็จะมีจดหมายเตือน แต่ถ้าเกินกำหนดก็จะมีการส่งข้อมูลไปยังกรมขนส่งทางบกเพื่อชะลอการจดทะเบียนฯ ซึ่งตอนนั้นสังคมยังถกเถียงกัน แต่ภายหลังมีคนเข้าใจและเห็นด้วยกับแนวคิดนี้มากกว่าคนที่ไม่เห็นด้วย เรียกว่าในส่วนของงาน บชน.ที่มีการเตรียมความพร้อมกันมา และมีการให้ความรู้ ประชุมชี้แจงข้อกฎหมาย ฉะนั้นในวันที่ 5 เมษายนนี้ ทาง บช.น.ย่อมมีความพร้อมที่จะดำเนินตามกฎหมายพิเศษที่รัฐบาลกำหนดออกมา

เมื่อถามว่า หลังวันที่ 5 เมษายนจะใช้ความเคร่งครัดในการใช้กฎหมายจราจรมากกว่าเดิมหรือไม่ พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวว่า เราเน้นการกวดขัน แต่ไม่อยากจะใช้มาตรการในการจับกุมมาก เพียงแต่อยากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับจราจรเพื่อความปลอดภัย ซึ่งได้บอกทางตำรวจนครบาลไว้ว่าจะเน้นเฉพาะข้อหาเมาไม่ขับ ขับรถเร็ว และข้อหาการขับขี่ที่จะก่อให้เกิดอันตรายและความปลอดภัยบนถนน เช่น การขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่ขี่ย้อนศร หรือขี่บนทางเท้า ส่วนอย่างอื่นเราจะเน้นการประชาสัมพันธ์ตลอด ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตาม ไม่มีการตั้งเป้าที่จะจับกุม

ส่วนเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัยในรถบางคันที่ไม่ได้ติดให้มีเข็มขัดนิรภัยไว้สำหรับเบาะหลัง เช่น รถยนต์รุ่นเก่าๆ นั้น เรื่องนี้ก็มีข้อยกเว้นรถยนต์ตาม ระยะเวลา ซึ่งมีเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ และทางขนส่งทางบกกำหนดในการประกอบรถขายในประเทศไว้อยู่แล้ว ซึ่งจะมีเกณฑ์กำหนดไว้ เช่น รถหลังปี 2531 มีที่นั่งแบบไหน หลังปี 2535 มีที่นั่งรัดเข็มขัดแบบไหน แต่ส่วนมากรถหลายๆ คันมีความพร้อม แต่ตนคิดว่าจริงๆ แล้วการออกกฎหมายบังคับเข้มงวดเรื่องการคาดเข็มขัดนั้นเพราะรัฐบาลเป็นห่วงเรื่องของรถตู้ เพราะที่ผ่านมาในช่วงปีใหม่หรือวันหยุดยาวจะเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะมาก เช่น ปีใหม่ที่ผ่านมาเห็นได้ชัด รถตู้เกิดอุบัติเหตุสร้างประเด็นทางออกใช้ออกไม่ได้ ประตูฉุกเฉินไม่มี ผู้โดยสารแน่นเกิน ประตูหลังเปิดไม่ได้ หรือบางคนกระเด็นออกนอกรถเพราะไม่คาดเข็มขัด เรื่องนี้เราจึงเป็นการมุ่งเน้นไปที่รถตู้ ซึ่งต้องช่วยกันหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นขนส่งฯ กรมทางหลวง ตำรวจทางหลวง และตำรวจนครบาล สงกรานต์ปีนี้บุคลากรจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหลังออกกฎหมายมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกออกมา ตนเชื่อว่าอย่างน้อยในช่วงสงกรานต์ ภายในเขต บช.น.จะต้องลดลงแน่นอน เพราะเราจะเน้นควบคุมเรื่องความเร็วและด่านตรวจแอลกอฮอล์ ซึ่งอุบัติเหตุมาจาก 2 สาเหตุนี้เป็นส่วนใหญ่

เมื่อถามถึงเรื่องมาตราการที่บังคับห้ามคนขึ้นอยู่บนหลังรถกระบะ แต่สามารถนำภาชนะใส่น้ำขึ้นได้ พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวว่า มาตรการนี้จำเป็นต้องมี อย่างนโยบายของทางตำรวจก็มีในเรื่องนี้ ที่กำหนดให้สามารถนำภาชนะใส่น้ำเข้ามาก็เพื่อจะได้นำมาใช้เล่นน้ำในเขตการเล่นสงกรานต์ได้ แต่ไม่ให้คนขึ้นไปบนหลังกระบะระหว่างที่เดินทางไปยังถนนสายหลักหรือทางด่วน ซึ่งกฎหมายที่ห้ามไม่ให้คนขึ้นหลังกระบะนั้นก่อนหน้านี้ก็มีกฎหมายเดิมบังคับใช้อยู่แล้ว ทางกรมการขนส่งออกกฎตัวนี้มานานแล้วว่า รถป้ายเหลือง ป้ายเขียว สำหรับใช้บรรทุกอะไร ป้ายดำสำหรับบรรทุกผู้โดยสารได้ กฎหมายพิเศษนี้จึงเป็นการกำชับความห่วงใยของทางรัฐบาล เพื่อป้องกันการเกิดเหตุเศร้าเหมือนที่ผ่านมา

Advertisement

“ทาง บชน.พร้อมหลังวันที่ 27 มีนาคมนี้ไป ผมจะเดินทางประชุมสัญจรไปทุก บก.โรงพัก เพื่อพบปะพูดคุยกับผู้ปฏิบัติชั้นประทวน ผมวางแผนจะไปเยี่ยมลูกน้อง พร้อมให้ความรู้ทางกฎหมายว่าก่อนสงกรานต์ต้องทำอย่างไรบ้าง เน้นให้บริการเป็นหลัก ส่วนการเล่นสงกรานต์ในปีนี้เรายังสามารถให้รถบรรทุกตุ่มลงได้ พอถึงเขตเล่นน้ำก็ค่อยลงมาเล่น หรืออยู่บนหลังรถบนเขตเล่นน้ำ รถติดๆ วิ่งในถนนที่เขาให้เล่น วิ่งตามกันไปช้า อุบัติเหตุก็น้อยลง เราก็ไม่ได้จับ ก็เป็นการปลอดภัยดีกว่าคนยืนบนกระบะและก็มีตุ่มน้ำด้วย ลองคิดภาพดู ที่จับก็ไม่มี รถเบรกก็กระเด็นตกและอันตราย ผมเน้นเรื่องความปลอดภัย” รอง ผบช.น.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image