หลากความคิด “อีสปอร์ต”

ภาพจากยูทูปของ cwiekiel

ปัจจุบันนี้ กลุ่มเด็กและเยาวชน มีแนวโน้มที่จะใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนไม่น้อยที่ติดหนักจนส่งผลกระทบต่อการเรียน สภาพสังคม และ สุขภาพ

แต่เมื่อเอ่ยถึง เกมออนไลน์ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ “อีสปอร์ต” กลายเป็นคำฮิตติดหูคอเกมไม่น้อย อันหมายถึงอาชีพนักกีฬา ที่ผู้แข่งขันสามารถสร้างรายได้และอาชีพได้ และกำลังเป็นที่นิยม มีการแข่งขันใหญ่ๆ หลายครั้ง เพื่อให้เข้าใจและเท่าทันกับกีฬาชนิดใหม่นี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ดย.พม.) จึงได้จัดเสวนา “E-sport เกม กีฬา ธุรกิจ เด็กและเยาวชนไทย” รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ณ หอประชุม กรมกิจการเด็กและเยาวชน

วงเสวนาเริ่มต้นขึ้นด้วยการทำความรู้จักกับ “อีสปอร์ต” จากมุมของอดีตเกมเมอร์ ผศ.ดร.วิษณุ โคตรจรัส อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า อีสปอร์ตคือการแข่งขันเกมออนไลน์ ที่มีนักกีฬา อุปกรณ์กีฬา (เมาส์ คีย์บอร์ด หูฟัง) แบ่งออกเป็น 3 แนวคือ แนววางแผนกลยุทธ์ แนวสปอร์ตหรือกีฬา และแนวยิงคู่ต่อสู้ มีการจัดแข่งขันมากมาย แตกต่างจากการเล่มเกมออนไลน์ทั่วไป เพราะอีสปอร์ตจัดขึ้นเพื่อแข่งขันหาผู้ชนะ ซึ่งผู้เล่นอีสปอร์ตจะมีการฝึกซ้อมจริงจัง มีตารางออกกำลังกาย นักกีฬาที่ดีต้องมีวินัยเช่นเดียวนักกีฬาทั่วไป

Advertisement

ทั้งนี้ สารคดี ออล เวิร์ก ออล เพลย์ ให้คำอธิบายกีฬาชนิดนี้ว่า จัดอยู่ในประเภทเดียวกับหมากรุก-หมากฮอส เป็นกีฬาที่ใช้สมอง แต่ยังต้องใช้ความว่องไวของร่างกาย ซึ่งการจะมาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตได้ บริษัทต่างๆ หรือผู้จัดเกมจะเป็นคนเลือกผู้แข่งเกมมาเข้าแคมป์ นักกีฬามืออาชีพหลายคนได้รับเงินรางวัลกว่า 10 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือได้รับเงินเดือน 1 ล้านเหรียญต่อเดือน บางคนได้รับทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพราะความนิยมของอีสปอร์ตมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างจึงเกี่ยวข้องกับเงินทั้งสิ้น แต่เพราะต้องใช้ความไว และเป็นสิ่งที่มีความกดดันสูง ส่วนใหญ่จึงมักเลิกเล่นในวัย 27-28 ปี เนื่องจากปัญหาสุขภาพต่างๆ

ที่สำคัญคือจะมีผู้เล่นที่สามารถขึ้นเป็นมืออาชีพได้ไม่มากนัก จากสถิติแล้ว หากนับแค่เพียงเกม ลีก ออฟ เลเจ้นต์ ที่นิยมมากที่สุด มีผู้เล่น 67 ล้านคน แต่มีเพียง 50 คนที่ได้เล่นมืออาชีพเท่านั้น

ผศ.ดร.วิษณุ ทิ้งท้ายว่า แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าอีสปอร์ตไม่ใช่กีฬา แต่ที่จริงแล้ว เวลาแข่งขันต้องใคร่ครวญมาก ว่าหากเจอสถานการณ์เช่นนี้จะทำอย่างไร แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและซ้อมล่วงหน้า ซึ่งเด็กเหล่านี้มีทักษะมัลติทาส์ก หรือการทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันได้ดีกว่าคนรุ่นก่อน ผู้ใหญ่อาจคิดว่าเสียสมาธิแต่ที่จริงเขาทำได้ และทำได้ดีทั้ง 2 อย่างเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องมีวินัย

Advertisement
ผศ.ดร.วิษณุ โคตรจรัส

ขณะที่ สรนภ โพธารส รองประธานชมรมอีสปอร์ต จุฬาฯ เล่ามุมมองในฐานะนักกีฬาอีสปอร์ตว่า แรกเริ่มอาจารย์ชวนมาเล่นเกมรักบี้ในคอนโซลเพลย์เยอร์ จนรู้สึกชอบ สนุกขนาดนี้เล่นจริงจะเป็นอย่างไร อาจารย์จึงชวนให้มาเล่นในสนามจริงๆ ก็ศึกษาเรื่องต่างๆ เพิ่มเติม เรียนรู้กติกาไป จนกระทั่งได้ที่ 3 กีฬาเยาวชนทีมชาติ ซึ่งมองว่าหากเรารู้จักประยุกต์เกมมาสู่สนามจริงได้ นำโลกสมมติมาเป็นเรื่องจริง ก็จะเป็นเรื่องดี ที่ชมรมจะกำหนดเกรดว่าหากเกรดตกจะไม่สามารถอยู่ในชมรมได้ เกรดต้องอยู่ที่ 2.2 เป็นขั้นต่ำ รวมถึงมีรุ่นพี่ปีสูงมาสอนวิชาการให้ และมีกิจกรรมเรียนรู้การสร้างเกม และการเล่นเกม มีการจัดตารางแข่งขันว่าแต่ละเกมเล่นอย่างไร การจะถามว่าเสียเวลาเสียการเรียนไหม ขึ้นอยู่กับเราแบ่งเวลาได้หรือไม่ และจะจัดการอย่างไร

ในส่วนของ เมธชนนท์ ประจวบลาภ หัวหน้าสำนักการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชน เครือข่ายยุวทัศน์ฯ มองว่า เด็กไทยยุคนี้เป็นยุคเจนแซด ที่สมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จึงไม่อยากให้มองว่าไม่ดีแต่มองให้เป็นองค์ความรู้ที่จะสร้างและพัฒนาตัวเองได้ และสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็กดีกว่า พร้อมกันนี้ยังเป็นห่วงเรื่องทรัพยากรของครอบครัว เพราะการจะเล่นอีสปอร์ตต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูง คอมพิวเตอร์ต้องระดับดี ใช้เม็ดเงินมาก

ทั้งยังทิ้งท้ายว่า “เกมทุกเกม มีประโยชน์กับทุกคน อย่างเกมบางเกมส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร คนที่รู้จักบางคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษจากเกมได้ดีกว่าหลักสูตรอีกด้วย”

อีกก้าวของพื้นที่ เยาวชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image