1 นาที 20 วินาที บุหลง ศรีกนก 30 ปี แห่งการร่ายบท “จดหมายเหตุกรุงศรี” และครูประเพณีราชสำนัก

1 นาที 20 วินาที อาจเป็นช่วงเวลาสั้นๆ
ทว่า หากยาวนานถึงกว่า 30 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาสำหรับรายการ “จดหมายเหตุกรุงศรี” สารคดีประวัติศาสตร์ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์เสียเอง โดยมีการเผยแพร่อย่างต่อเนื่องในช่วงเย็น ทางสถานีโทรทัศน์ก่องทัพบกช่อง 7 ตั้งแต่ พ.ศ.2528 ด้วยข้อมูลและบทชั้นครูจากปลายปากกาของผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ บุหลง ศรีกนก ที่เข้ารับมารับหน้าที่ยาวนานมาจนถึงวันนี้
ในวัย 65 ปี ตำแหน่งสุดท้ายในงานหลัก คือ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
ขณะนี้เป็นข้าราชการบำนาญที่เจ้าตัวเอ่ยปากว่า กรมศิลป์เรียกใช้ได้ตลอดเวลา

สัมผัสมาแล้วแทบทุกอย่างในสายงานประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์สำคัญในช่วงฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ 200 ปี เมื่อ พ.ศ.2525 ออกมาเป็นจดหมายเหตุ
ร่วม “ตรวจสมบัติพระแก้ว” ที่เคยถูกนำไปรักษาไว้ในถ้ำที่เพชรบูรณ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงดูแลกองถ่ายภาพยนตร์ย้อนยุคจากต่างประเทศ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์

รวมทั้งบทบาทของ “ครู” ในรายวิชาเกี่ยวกับโบราณราชประเพณีในสถาบันการศึกษาต่างๆ อีกทั้งมีส่วนร่วมในวิชา “ไทยศึกษา” ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตามพระดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี

ยังไม่รวมบทสารคดีนับไม่ถ้วนของสำนักนายกรัฐมนตรี
จนเป็นผู้รู้ด้านประเพณีราชสำนักผู้หนึ่งของสยามประเทศในห้วงเวลานี้

Advertisement

จุดเริ่มต้นของการได้เขียนบทรายการจดหมายเหตุกรุงศรี

รายการนี้เริ่มมาจากคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และกรมศิลปากร เมื่อ 30 ปีกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นมีกรณีทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากอเมริกา ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ไม่ได้คืน เลยมีการทำรายการนี้ขึ้นมาเล่าประวัติทับหลังฯซึ่งเดิมอยู่ที่ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกคนไทย กระทั่งทุกฝ่ายมาร่วมกันหมด กรมศิลปากรส่งคนตรวจสอบเชิงวิชาการ แอ๊ด คาราบาวแต่งเพลง ร้องว่า เอาไมเคิลแจ๊คสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา มีการเดินขบวนเรียกร้อง สุดท้ายได้คืน
ต่อมา คุณสุจิตต์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ชักชวนให้มาเขียนแทนเขา บอกว่า พอแล้ว อยากทำอย่างอื่นบ้าง เราเป็นรุ่นน้องที่ดี รุ่นพี่ให้ทำก็ทำ จนวันนี้เขียนมาครบ 30 ปีแล้ว (ยิ้ม)

ทำได้อย่างไร เขียน 30 ปี ไม่ให้เรื่องซ้ำ

เรื่องๆหนึ่ง มีประเด็นมากมาย แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ วันนี้เขียนอย่างนี้ พรุ่งนี้เขียนอีก ไม่ซ้ำ วัดตั้งกว้าง มีมุมเขียนเยอะแยะ เป็นการครีเอทีฟจากองค์ประกอบความรู้ที่สั่งสม

ความท้าทายของการเขียนบทจดหมายเหตุกรุงศรี

คนดูพร้อมกันทั่วประเทศ เวลาบีบ 1.20 วินาที ต้องประมวลความรู้ ว่าจะเขียนเรื่องอะไร จับให้แม่น ต้องครบ ถูกต้อง ได้ใจความ จบลงไปในเวลาเท่านี้ ภาษาต้องเขียนอย่างไร ไม่รกรุงรัง เอิงเงยมาก จะดูตอนเดียวก็ได้ 2 ตอนต่อก็ได้ ไม่ใช่เขียนแล้วจบลอยๆ

Advertisement

ทำไมสนใจเรื่องโบราณราชประเพณีเป็นพิเศษ

จะเรียกว่าสนใจพิเศษ ก็ไม่ใช่ขนาดนั้น เพราะบางคนที่ทำงานด้านนี้ มีความรัก สนใจ ติดตาม แต่ส่วนตัวมีโอกาสได้รู้สิ่งเหล่านี้ เพราะเรียนวิชา“ประเพณีราชสำนัก” ที่คณะโบราณคดี โดยมี ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์ มาสอน ยุคนั้น นักศึกษา โบราณคดีต้องเรียนทุกคน เพราะเวลาไปขุดแต่งขุดค้น ต้องมีการตีความ สมมติว่าไปขุดพระราชวังโบราณ ต้องรู้ว่าแบ่งส่วนเขตพระราชฐานอย่างไร เวลาเจอข้าวของต่างๆ เป็นของที่คนสมัยในอดีตใช้ วิชาประเพณีในราชสำนัก เป็นตัวช่วยให้ตีความได้ชัดเจนขึ้น
นี่เป็นอย่างแรกที่ทำให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ เพราะตัวเองก็ไม่ใช่คนในรั้วในวัง เป็นชาวบ้านธรมดา คุณพ่อรับราชการทหาร
ต่อมา พอเรียนจบ มีโอกาสได้สอนวิชานี้เอง เพราะอาจารย์เห็นว่าเรามีประสบการณ์ทำงานในวัง พอดีคุณชายแสงสูรย์เริ่มอายุมาก เลยให้ไปสอนแทน โดยมี อ.จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ เป็นคนวางกรอบการสอนให้ ว่าครั้งที่ 1 ต้องเรียนเรื่องอะไรก่อน ครั้งที่ 2 เรื่องอะไร ต้องเป็นขั้นตอน เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องฐานันดรศักดิ์ในราชวงศ์ เขตพระราชฐาน เรื่องการพระราชพิธี เห็นว่าครอบคลุมเรื่องราชสำนักทั้งหมด

ประสบการณ์ยุคฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์

ตอนนั้นกรมศิลปากร ส่งไปเป็นคณะอนุกรรมการหลายหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบันทึกเหตุการณ์ และฝ่ายอนุกรรมการฝ่ายมหัคภัณฑ์ มีการตรวจสมบัติพระแก้ว โดยสมเด็จพระเทพฯเป็นองค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการ บอกว่า พระแก้วมรกตมีคนถวายของเป็นสิ่งสักการะบูชามากมาย ตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการเก็บของเหล่านี้ไว้ในที่ที่ปลอดภัยคือถ้ำที่เพชรบูรณ์ พอเปิดหีบพระแก้วออกมาของอยู่ครบตามบัญชีเลย ซึ่งน่าสนใจมาก แสดงถึงความซื่อสัตย์ของกรรมการชุดเก่า ถึงแม้จะรีบแพ็ค เอากระดาษห่อไป ต้นไม้เงินต้นไม้ทองไม่ได้อยู่ในสภาพเดิม ก็คลี่ออกมา ช่วยกันแต่งให้สวยงาม ทำทะเบียนใหม่ ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน มีทั้งของเจ้านาย ของขุนนาง ประชาชน อลังการมาก

แต่สิ่งสำคัญคือ สิ่งของเหล่านั้นบอกอะไร การได้เห็นของและอยู่ท่ามกลางผู้รู้ ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น และได้รู้จักผู้รู้ในสำนักพระราชวังเพิ่มขึ้นด้วยอย่าง คุณลุง เศวต ธนประดิษฐ์ ที่ปรึกษากองพระราชพิธี ซึ่งรอบรู้มาก เราอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ได้พบผู้รู้ตรงของสำนักพระราชวัง ผู้รู้ตรงเกี่ยวกับพระราชพิธี มีอะไร ก็ถามท่าน ตัวเองไม่ได้รู้มาก่อนเลย ได้เห็นของ ได้อยู่กับผู้รู้ ได้สอบถาม มีโอกาสได้เห็นสิ่งของที่ตกทอมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมามีการซ่อมเครื่องทรงพระแก้ว 3 ฤดู ก็ได้เห็นงานเครื่องทรงต่างๆ ได้เห็นฝีมือช่าง

ตอนบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่ ต้องทำจดหมายเหตุด้วย ?

ใช่ค่ะ ต้องเดินดู จดบันทึกทั้งวัน เช่นนำของเก่าที่ชำรุดออก เปลี่ยนใช้วัสดุใหม่ทดแทน ต้องตามไปดูหมด ที่สำคัญคือได้คุยกับช่าง เป็นการระดมช่างหลายสาขาทั่วประเทศ เช่น พระมณฑป เสื่อที่สานด้วยเงิน เอาช่างมาจากไหน การทำปูนปั้น การตำปูนผสมอะไร ปั้นเป็นดอก ลงรักปิดทอง เห็นทุกขั้นตอน มันตื่นตามากๆ ที่สำคัญคือผู้คนที่เราเห็นเขาระดมมานั่งทำ อย่างพระวิหารยอด ที่เอาเครื่องถ้วยมาหัก ทำเป็นลาดลายมังกร และอื่นๆ เป็นช่างจีน ชื่อฮั้งคุน แซ่เบ๊ จำได้แม่นเลย
ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องกระจก คือ สมัยโบราณใช้กระจกเกรียบ ซึ่งบางมาก เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ จึงโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกของญี่ปุ่นมาศึกษาและทำขึ้น แต่ก็ไม่บางเชี้ยบเหมือนกระจกเกรียบของเดิม ซึ่งบางเหมือนข้าวเกรียบ

ดูแลกองถ่ายภาพยนตร์จากญี่ปุ่น ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ยามาดะ” หรือ ออกญาเสนาภิมุข ชาวญี่ปุ่นที่เข้ารับราชการในกรุงศรีอยุธยา

พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของประเพณีราชสำนัก

ถ้าศึกษาพระราชประเพณีต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี ต้นรัตนโกสินทร์ จะเห็นความสืบเนื่อง ข้าหลวงเดิมกรุงเก่า ก็มาเป็นข้าราชการกรุงธนบุรี ช่วงเวลาแค่15 ปี แต่น่าศึกษามาก ยุคพระเจ้าตากสิน แม้เป็นช่วงเวลาที่ต้องทำศึกสงครามเพื่อรวบรวมความเป็นปึกแผ่น แต่ถ้าไปดูเรื่องสังคมวัฒนธรรม พระองค์ไม่ทรงละทิ้งอะไรเลย อย่างเรื่องพุทธศาสนา มีการอาราธนาพระสงฆ์กรุงเก่าจากวัดประดู่มาเป็นสังฆราช มีการไปเสาะหาพระไตรปิฎก ถ้าดูหมายรับสั่ง จะพบพระราชพิธีใหญ่ๆ คือ พระราชพิธีเนื่องในงานพระเมรุกับพระราชพิธีรับพระแก้วมรกต อยากให้ไปดูภาพเขียนที่วัดพระแก้ววังหน้า ตอนอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาจากลาว มีกระบวนเรืออลังการมาก มหรสพต่างๆเล่นกันบนเรือเลย พอถึงที่แล้วก็สมโภชอีก

พอมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการย้อนไปใช้พระราชประเพณีสมัยกรุงศรีอยุธยาในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด คือ ยุคพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งสมบูรณ์ทั้งศิลปะงานช่างและ ประเพณี โดยใช้วิธีสอบถามจากบุคคลกรุงเก่าที่ยังเหลืออยู่ คือเจ้าฟ้าหญิงพินทวดี พระราชธิดาพระเจ้าบรมโกศที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ สมัยร.1-ร.3 จึงยังเป็นแบบแผนอยุธยาตอนปลาย ต่อมาในสมัย ร.4 ทรงเริ่มปรับอะไรหลายๆอย่าง เช่น เดิมพระราชพิธีส่วนใหญ่ พราหมณ์เป็นฝ่ายกำหนด แต่พระองค์ทรงกำหนดให้มีพิธีสงฆ์เป็นหลักของการพระราชพิธี ส่วนประเพณีราชสำนักที่ก้าวหน้าเช่น เจ้าจอมคนไหนประสงค์ที่จะออกไปอยู่ภายนอก ก็ทรงอนุญาต เมื่อก่อนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะสมัยก่อนคนที่เข้ามาเป็นฝ่ายใน ต้องอยู่ไปตลอดชีวิตจนกระทั่งสิ้นรัชกาล เชื่อไหม มีคนใจกล้า ขอพระบรมราชานุญาตออก ท่านก็อนุญาต เพราะฉะนั้น ต้องถือว่านี่คือการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสิทธิเกี่ยวกับสตรี

สมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปบ้านเมืองหลายด้าน ในเรื่องประเพณีในราชสำนัก มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

พระองค์ทรงปรับเปลี่ยนเรื่องพระราชพิธีมาก ทรงเป็นกษัตริย์นักปฏิรูป เริ่มตั้งแต่การยกเลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าที่ใช้มาแต่โบราณ เปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าและคำนับ โดยทรงมีประกาศในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่า “เราพระเจ้ากรุงสยามขอประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์แลเสนาบดี ข้าราชการผู้น้อยผู้ใหญ่ ย้ำว่าการที่ให้เลิกเปลี่ยนธรรมเนียม เพื่อให้เห็นความดีที่จะไม่ให้มีการกดขี่แก่กันในบ้านเมืองอีกต่อไป บัดนั้นประเทศเหล่านั้นมีความเจริญในทุกๆเมืองโดยมาก ในประเทศสยามนี้ ธรรมเนียมบ้านเมืองที่มีการกดขี่แก่กันอันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้น มีอยู่หลายประการ จะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนเสียบ้าง”

สำหรับงานพระบรมศพ มีรับสั่งให้เลิกการเกณฑ์ ทั้งเกณฑ์แรงงาน และสิ่งของ ยุคก่อนหน้านั้นต้องเกณฑ์ท่อนซุง เกณฑ์ไม้ จากหัวเมือง ทรงเปลี่ยนรูปแบบพระเมรุจากขนาดใหญ่ มาเป็นมณฑป เมื่อไม่มีเมรุขนาดใหญ่ ก็ไม่ต้องใช้ต้นซุง ดังนั้นพระเมรุที่จำลองเขาพระสุเมรุจริงๆ ทำครั้งสุดท้ายในงานพระบรมศพ ร.4 หลังจากนั้นทำเป็นทรงมณฑป สืบมาถึงปัจจุบัน ทรงโปรดให้เลิกมหรสพในงาน อย่าง โขน ละคร เลิก ทรงบอกว่าสิ้นเปลือง เลิกดอกไม้เพลิง ไม่มีการตั้งครัวเลี้ยง เลิกต้นกัลปพฤกษ์ เปลี่ยนเป็นของแจก โดยมีการเลือกหนังสือดีมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือแจกงานศพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และสืบทอดอายุหนังสือ

ถ่ายกับสมภพ จันทรประภา อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร (ที่ 2 จากซ้าย)

สมัยก่อนประชาชนสามารถเข้าถวายบังคมพระบรมศพได้หรือไม่

เดิมไม่เคยมี เพิ่งมีในสมัย ร.6 ซึ่งมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนไม่เลือกว่าชั้นใด ชาติใด ภาษาใดเข้าถวายบังคมพระบรมศพร.5 เนื่องจากราษฎรมีความผูกพันกับพระองค์ โดยกำหนดเดือนละครั้ง ในวันที่ 1-5 บ่ายโมง -17.30 น. จนกว่าจะถวายพระเพลิง และกำหนดไว้ว่า คนที่จะถวายบังคมพระบรมศพ ควรแต่งตัวให้เรียบร้อยอย่างธรรมเนียมไว้ทุกข์ ผู้ชายนุ่งขาว ใส่เสื้อขาว หญิงนุ่งขาว ใส่เสื้อขาว ห่มขาว แต่ชาติใดก็ตามที่มีธรรมเนียมไว้ทุกข์ดำ เช่นชาวตะวันตก ก็ให้แต่งตามลัทธิของตน

ความสำคัญของการใช้คำที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธี ถ้าผิดพลาดจะส่งผลอย่างไร

แล้วแต่ผู้ปฏิบัติ ถ้าทำงานด้านสื่อ โดยภารกิจต้องเลือกใช้คำที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้น คนฟังจะใช้ผิดต่อๆไป
ทุกอย่างมีตำรา ต้องเตรียมตัวให้มาก ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปที่จะใช้ให้ถูก เดี๋ยวนี้พบว่าสื่อก็ทำหน้าที่ดี มีการศึกษา ถามผู้รู้ สำหรับข้าราชการชั้นสูงที่มีโอกาสเข้าเฝ้าตามพระราชพิธีต่างๆ ควรปฏิบัติตนให้ถูก กิริยามารยาทในการใช้ถ้อยคำ ก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ จริงๆแล้ว ใครจะพูดผิด เจ้านายท่านก็ไม่ได้ว่า ไม่ใช่โทษคอขาดบาดตาย แต่สะท้อนว่าเราเอาใจใส่หรือไม่

เคยไหมเวลาอยู่บ้านดูโทรทัศน์ แล้วหงุดหงิดเพราะเห็นข้อผิดพลาดในงานต่างๆ

ไม่ถึงกับหงุดหงิด แต่บางทีเห็นแล้วก็โทรคุยกับอาจารย์ที่รู้จักกัน ว่าอาจารย์ดูสิ เนี่ยๆผิด ! อาจจะเป็นเพราะยิ่งนานไป ท่านผู้รู้เก่าๆของสำนักพระราชวังเองก็ล้มหายตายจากไปด้วย

 

“เวลาบีบ 1 นาที 20 วินาที ต้องครบ ถูกต้อง ได้ใจความ

จบลงในเวลาเท่านี้ ภาษาต้องเขียนอย่างไร ไม่รกรุงรัง เอิงเงยมาก…”

คนในสำนักพระราชวังมาขอคำปรึกษาบ่อยไหม

เรียกว่าแลกเปลี่ยนความรู้กันจะดีกว่า บางอย่างเราก็ถามเขา เช่นเรื่องราชาศัพท์ เขาจะแม่นกว่า แต่เรื่องวิชาการที่ต้องค้นเอกสาร เขาก็ถามเรา เป็นการพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีใครที่จะรู้อะไรไปเสียทั้งหมด

ความรู้แบบนี้ สืบทอดกันอย่างไร

เดิมวิชาของคนในวังใช้วิธีบอกต่อ สมัยก่อนเอาลูกเอาหลานมาฝึกตามธรรมเนียม สมมติพ่ออยู่แผนกพระแสง แผนกราชูปโภค ฯลฯ ก็เอาลูกเข้ามาทำงาน สอนได้ บอกได้ ดุได้ ว่าได้ ที่สำคัญต้องซื่อสัตย์ ต้องรับรองกันได้ ทำผิดอะไร ตามตัวกันได้ เดิมมีการฝึกตั้งแต่เป็นมหาดเล็ก เจ้านายจะมีมหาดเล็กแต่ละสำนักอยู่แล้ว พอขึ้นครองราชย์คนพวกนี้จะถือเป็นข้าหลวงเดิม ตอนหลังถ้าหมดตัวไป จึงจะรับคนภายนอก

สิ่งของที่ใช้ในพระราชพิธี มีคนรับหน้าที่เฉพาะหมวดใช่หรือไม่

ใช่ค่ะ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังตั้งแต่โบราณ มีหลายแผนก เช่น แผนกราชูปโภค แผนมสนมพลเรือน แต่ละแผนกรับผิดชอบของแต่ละกลุ่ม คนนี้รับผิดชอบเรื่องพระแสง คืออาวุธ คนนี้รับผิดชอบหมวดพระเจ้า คือ พระพุทธรูป คนนี้รับผิดชอบเรื่องเครื่องราชูปโภค ต่างคนต่างรับผิดชอบเป็นส่วนๆ จะจดจำกันมาว่างานพระราชพิธีนี้เชิญอะไร พระพุทธรูปองค์ไหน พระแสงอะไร เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เชิญพระแสงปฏักไป ซึ่งจะใช้ตอนไถนา ไม่ใช่ไปเชิญพระแสงดาบคาบค่าย (หัวเราะ) หรือพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้ว จะเห็นว่ามีหาดเล็กถือพระแสงประจำรัชกาลที่ 1 เดินตามพระมหากษัตริย์ โดยเอาปลายพระแสงลงพื้น ไม่แบก ต้องประคองสองมือ ต้องอยู่ในฝัก เขาจะฝึกกันมา

พระราชพิธีมีการถูกปรับเปลี่ยนบ้างหรือไม่ หรือต้องทำตามตำราโบราณทุกอย่าง

ทุกพระราชพิธีมีการปรับเปลี่ยนตลอด เพื่อความเหมาะสม บางพระราชพิธีถูกยกเลิกด้วยซ้ำไป เยอะมากด้วย เช่น พระราชพิธีลงสรง นำพระราชกุมารลงท่าครั้งแรกเมื่อพระชนมายุ 9 ชันษา ถ้าเทียบกับชาวบ้านคือการหัดว่ายน้ำ จะมีการมีปลูกแพลงสรงที่ท่าราชวรดิษฐ์ บรรดาหัวเมืองในราชอาณาจักรต้องเข้ามาเฝ้า นำของขวัญมาถวาย เป็นงานใหญ่โตมาก ร.5 โปรดให้เลิก เพราะล้าสมัย
ยังมีพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ที่เอาช้าง ม้ามาสวนสนาม ชาวต่างชาติบันทึกไว้ว่าน่าตื่นตาตื่นใจมาก นี่ก็ยกเลิกไป เปลี่ยนมาเป็นสวนสนามของทหารแบบตะวันตก เพราะเราไม่ได้ใช้ขบวนช้างม้าในการรบแล้ว

แกนหลักของพระราชพิธีอยู่ตรงไหน เช่น ขั้นตอน แนวคิด รายละเอียดฯลฯ

ประกอบกันทั้งหมด ไม่มีอะไรสำคัญกว่ากัน ในพระราชพิธีต่างๆ ต้องรู้ก่อนว่าทำขึ้นเพื่ออะไร องค์ประกอบมีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดสิ่งของที่นำมาใช้ ผู้ปฏิบัติงาน ทุกอย่างสำคัญพอๆกัน เป็นเรื่องที่ประณีต งดงาม ทั้งการปฏิบัติ ฝีมือช่างและอื่นๆ

พระราชพิธีใดละเอียดซับซ้อนและสำคัญที่สุด

ถ้าไปอ่านหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน จะเห็นว่าสำคัญทุกพระราชพิธี ขึ้นอยู่ว่ามีขั้นตอนปฏิบัติอย่างไร สิ่งของที่ใช้ ก็ละเอียดหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแขวนดอกไม้สด ของถวายพระ พัดรอง ย่าม ออกแบบปักมาอย่างประณีตเป็นวิชาช่างที่ล้ำค่า

พระราชพิธีที่เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ค่อนข้างรักษาแบบแผน ไม่ค่อยได้ปรับเปลี่ยนอะไรมากมายนัก เป็นการทำตามตำราที่สืบทอดกันมา เพราะการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ เป็นเรื่องสำคัญมาก

ประเพณีราชสำนักเป็นสิ่งไกลตัวไปไหม ?

ประเพณีราชสำนัก มีส่วนสัมพันธ์กับประเพณีชาวบ้าน ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดๆ เป็นเรื่องที่มีการสืบเนื่องซึ่งกันและกัน จึงไม่ใช่เรื่องที่สูงส่ง ไกลตัว อย่างการสวดพระพิธีธรรม ชาวบ้านก็มีการสวดพระมาลัยสนุกสนาน พอเป็นของราชสำนัก จะเป็นระเบียบเรียบร้อย ตั้งแต่สมัยอยุธยา มีกฎหมายกำหนดไว้เลยว่าพระพิธีธรรมจะต้องสวดอย่างไร

ทำไมคนรุ่นใหม่ๆควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์และโบราณราชประเพณี

สิ่งเหล่านี้ถึงจะไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันแต่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้วัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา อย่างน้อยทำให้มิติในการมองสิ่งต่างๆอย่างเข้าใจมากขึ้น เข้าใจพื้นฐานของสังคม เวลาศึกษาพระราชพิธี ไม่ได้เห็นเฉพาะตัวพระราชพิธี หรือประเพณี แต่เห็นผู้คน ซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีเหล่านี้ เห็นวิวัฒนาการพระราชพิธีว่ามีมาอย่างไร สังคมมนุษย์ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ก็ยังหวนนึกถึงอดีต นี่คือสำนึกทางประวัติศาสตร์

สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตการทำงาน

อย่าคิดว่าเป็นความภูมิใจเลย ถือว่าทำหน้าที่ให้สมกับการได้รับมอบหมาย ตอนรับเงินเดือน เดือนแรก 1,320 บาท มีความรู้สึกว่าเราทำงานคุ้มค่าหรือยัง สิ่งที่รู้สึกมาตลอด คือติดหนี้อะไร ก็ไม่เท่าติดหนี้สังคม ดังนั้น ต้องทำงานให้คุ้มค่ากับเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image