เตือนภัยคลินิกใช้สเต็มเซลล์รักษา 3คนไข้ถึง ‘ตาบอด’

(ภาพ-BogdanaLS/CC0 Public Domain)

ทีมนักวิชาการด้านการแพทย์สหรัฐอเมริกา นำโดยนายแพทย์โทมัส อัลบินี รองศาสตราจารย์ด้านจักษุวิทยาคลินิกของมหาวิทยาลัยไมอามี รัฐฟลอริดา และนายแพทย์เจฟฟรีย์ โกลด์เบิร์ก ศาสตราจารย์และประธานแผนกจักษุวิทยา สำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เขียนรายงานทางการแพทย์กรณีผู้ป่วยสตรี 3 รายเข้ารับการรักษาดวงตาด้วยสเต็มเซลล์ ซึ่งยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัย โดยไม่ศึกษาและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ลงเอยถึงกับตาบอดสนิททั้ง 2 ข้าง หวังใช้เป็นกรณีตัวอย่างให้สังคมตื่นตัวตระหนักถึงความเสี่ยงจากวิธีการรักษาด้วยสเต็มเซลล์

รายงานดังกล่าวเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ นิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน ฉบับวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ให้รายละเอียดว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 รายเป็นสุภาพสตรีอายุ 70 ปีเศษ และ 80 ปีเศษ ทั้ง 3 ราย ทุกคนมีปัญหาจอประสาทตาเสื่อมหรือมาคูลาร์ ดีเจเนอเรชั่น ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลเสียต่อเรตินาเป็นการถาวร ผู้ป่วยทั้ง 3 รายตัดสินใจเข้ารับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่คลินิกเอกชนในรัฐฟลอริดาเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาหวังจะหายขาดจากอาการดังกล่าว ทั้งๆ ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ว่ามีผู้ประสบความสำเร็จในการใช้สเต็มเซลล์ฟื้นฟูความสามารถในการเห็นของผู้ป่วยแต่อย่างใด นอกจากนั้น ในกรณีนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของกระบวนการรักษา และเทคนิคบางประการที่คลินิกดังกล่าวนำมาใช้ยังไม่ปลอดภัยอีกด้วย

ในรายงานระบุว่า หลังจากกระบวนการบำบัดผ่านไปก็เกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นกับผู้ป่วยในทันที ทั้งการสูญเสียการมองเห็น จอประสาทตาเคลื่อน และเกิดตกเลือดในดวงตาขึ้นตามมา ผู้ป่วยบางรายเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแทรกซ้อน แพทย์หลายรายที่ทำหน้าที่รักษาโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเหล่านี้ร่วมอยู่ในทีมซึ่งเขียนรายงานเพื่อเผยแพร่ในครั้งนี้ด้วย

นอกเหนือจากกระบวนการในการรักษาครั้งนี้มีความเสี่ยงสูงแล้ว ผู้ป่วยทั้ง 3 รายยังหลงเชื่อด้วยว่าพวกตนกำลังมีส่วนร่วมในการทดลองกระบวนการรักษาขั้นสุดท้ายคือขั้นคลินิกหรือขั้นที่ทดลองกับผู้ป่วยจริง เนื่องจากมีการนำกระบวนการรักษาไปโพสต์ไว้ในเว็บไซต์ของทางการ ClinicalTrials.gov ซึ่งเก็บรวบรวมการทดลองในขั้นที่ใช้กับผู้ป่วยจริงทั้งหมดเอาไว้ เว็บไซต์แห่งนี้บริหารโดยสำนักหอสมุดการแพทย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เมื่อตอนลงชื่อในคำยินยอมรับการรักษานั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องชำระค่ารักษาตามกระบวนการนี้เป็นเงิน 5,000 ดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ในการทดลอง ผู้เข้าร่วมรับการทดลองถือเป็นอาสาสมัครที่ไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ทั้งสิ้น

Advertisement

คลินิกที่เป็นปัญหาดังกล่าวคือคลินิกของบริษัท ยูเอส สเต็มเซลล์ อิงค์. (เดิมใช้ชื่อไบโอฮาร์ท) กระบวนการที่ใช้ในการรักษาซึ่งเรียกว่า “การรักษาด้วยสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อไขมัน” (แอดดิโพส ทิสชู-ดีไรฟ์ สเต็มเซลล์) เริ่มจากการนำเอาเซลล์เนื้อเยื่อไขมันจากช่องท้องของผู้ป่วยนำมาผ่านกระบวนการแยกสเต็มเซลล์ด้วยเอนไซม์ นำสเต็มเซลล์ที่ได้ไปผสมกับพลาสม่าของเลือดผู้ป่วยที่ทำให้มีเกล็ดเลือดเข้มข้นเป็นพิเศษ แล้วจึงนำไปฉีดเข้าไปในดวงตาของผู้ป่วย

ทีมแพทย์ผู้จัดทำรายงานตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 รายได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กับดวงตาทั้ง 2 ข้างในคราวเดียว ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่ไม่ปลอดภัย โดยปกติแล้วแพทย์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีลองการรักษากับดวงตาทีละข้าง เพื่อดูว่าดวงตาของผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาอย่างไร

ผู้ป่วยทั้ง 3 รายตอนนี้ตาบอดสนิทและไม่น่าจะมีโอกาสกลับมามองเห็นได้อีก ทีมแพทย์ที่จัดทำรายงานเชื่อว่าเป็นผลมาจากการเตรียมสเต็มเซลล์ที่ใช้ในการรักษาซึ่งอาจปนเปื้อน อาทิ ปนเปื้อนเอนไซม์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเข้าไปสร้างความเสียหายให้กับดวงตา หรืออาจเป็นไปได้ว่า เมื่อสเต็มเซลล์เข้าไปอยู่ในดวงตาแล้วกลับเปลี่ยนตัวเองเป็นเซลล์สมานแผลหรือไมโอไฟโบราบลาสต์ ส่งผลให้ตาบอดได้เช่นกัน

Advertisement

ยูเอส สเต็มเซลล์ อิงค์. ไม่ยอมชี้แจงกรณีผู้ป่วยทั้ง 3 ราย โดยอ้างว่ามีข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องการรักษาความลับคนไข้ แต่ยืนยันว่านับตั้งแต่ปี 2001 ทางคลินิกรักษาผู้ป่วยด้วยสเต็มเซลล์มามากกว่า 7,000 ราย มีไม่ถึง 0.01 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีปฏิกิริยาในทางตรงกันข้าม แต่ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ตอนนี้ไม่ได้รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางตาแต่อย่างใด และเมื่อมีการตรวจสอบไปที่เว็บไซต์คลินิกอลไทรอัล พบว่ามีข้อความเพิ่มเติมว่า การศึกษานี้ถูกถอนจากขั้นตอนก่อนที่จะมีผู้ป่วยเข้ารับการทดลอง

ทีมแพทย์ที่จัดทำรายงานเรียกร้องให้มีกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยและการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพราะลำพังผู้ป่วยเองยากที่จะแยกแยะว่าอันไหนผิดหรือถูกกฎหมายกันแน่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image