คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : เกียรติภูมิจุฬาฯ

เมื่อแรกสร้าง "ตึกเทวาลัย" อาคารหลังนี้ถูกเรียกว่า "ตึกบัญชาการ" ถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร "อักษรศาสตร์ 1" และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "อาคารมหาจุฬาลงกรณ์" (ภาพจากหนังสือ ร้อยเรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558)

เมื่อปีก่อนไปฟัง นายเทวินทร์ วงศ์วานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯเล่าเรื่อง 100 ปีสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยังปลื้มใจในโครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ที่จุฬาฯมอบที่ดินทำเป็นปอดให้คนเมือง

เวลาผ่านไปจนถึงวันนี้ 26 มีนาคม 2560

จุฬาลงกรณ์ฯมีงานสถาปนา ครบ 100 ปีกันที่มหาวิทยาลัย

Advertisement

เชิญชวนนิสิตเก่านิสิตปัจจุบันไปร่วมได้ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป

จุฬาลงกรณ์ฯวันนี้มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หากแต่จิตวิญญาณของจุฬาฯยังไม่เปลี่ยน

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน สมัยเมื่อเริ่มย่างเข้าไปในรั้วจามจุรี

Advertisement

นอกจากวิชาการที่ได้สัมผัสแล้ว บรรยากาศภายในจุฬาฯยังเอื้อต่อการถ่ายทอดจิตวิญญาณของจุฬาฯด้วย

กระบวนการถ่ายทอดมีหลายรูปแบบ

แบบหนึ่งในจำนวนหลายๆ แบบคือบทเพลง

นับตั้งแต่เพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” บทเพลงประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9

บทเพลงนี้ประพันธ์เนื้อร้องโดย ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และ นายสุภร ผลชีวิน

ฟังทำนองแล้วเพลิดเพลิน ฟังเนื้อร้องแล้วซาบซึ้ง

“น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา

พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์

ขอทูนขอเทิดพระนามไท พระคุณแนบไว้นิรันดร

ขอองค์พระเอื้ออาทร หลั่งพรคุ้มครอง

นิสิตพร้อมหน้า สัญญาประคอง

ความดีทุกอย่างต่างปอง ผยองพระเกียรติเกริกไกร

ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง นิสิตประสงค์เป็นธงชัย

ถาวรยศอยู่คู่ไทย เชิดชัย ชโย”

จำได้ว่า ในวันแรกที่เข้าหอประชุมจุฬาฯ รุ่นพี่เตรียมสไลด์มัลติวิชั่นมาฉายเพื่อแนะนำนิสิตใหม่

ในสไลด์มีบทเพลงหนึ่งเป็นเพลงดำเนินเรื่อง

บทเพลงนั้นสร้างความประทับใจให้ตั้งแต่แรกฟัง

“จามจุรี ประดับใจ” คือชื่อของบทเพลงนั้น

บทเพลงดังกล่าว ทั้งคำร้อง และทำนอง ประพันธ์โดย กฤตบุญ (ปิยะ) รณรื่น

เนื้อร้องขึ้นต้นว่า “ผืนแผ่นแดนดินถิ่นนี้ คือสีชมพูเด่นไกล” ฟังแล้วเห็นภาพ

แล้วตามด้วย ….

“สีรวมแหล่งธารน้ำใจ ไหลรินมาร่วมกัน

แม้แผ่นดินยังคู่ฟ้า จุฬาฯ ทุกคนผูกพัน

สายใยแห่งใจรักมั่น ใฝ่ฝันชั่วชีวันมิเลือน

ร่มจามจุรี นี้คือร่มใจพี่น้องและเพื่อน

ฝังใจเตือน เปรียบเหมือนแหล่งความรักซื่อตรง

ถึงห่างไกลกันเพียงไหน แต่ใจรักเรามั่นคง

พระนามจุฬาฯ สูงส่ง ยืนยงตราบชั่วดินฟ้าเอย”

บทเพลงเหล่านี้นิสิตใหม่ทุกคนมีโอกาสได้ขับร้อง

เนื้อร้องไพเราะที่มีความหมายค่อยๆ ซึมซับเข้าไปขัดเกลานิสิตตั้งแต่แรกเข้าจนจบการศึกษา

นี่ยังไม่รวมกับบทเพลงของคณะต่างๆ ที่ถ่ายทอดแง่คิดให้นิสิตแต่ละคณะได้ตรึกตรอง

อาทิ นิเทศศาสตร์ มีบทเพลง “มาร์ชสื่อสารมวลชน” ที่มีความหมายยิ่ง

บทเพลง “มาร์ชสื่อสารมวลชน” ประพันธ์คำร้องโดย ครูแก้ว อัจฉริยะกุล

ประพันธ์ทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน

บทเพลงมีเนื้อหา บ่งบอกหน้าที่ของนักสื่อสารมวลชน

เริ่มต้นร้องว่า…

“นักสื่อสารมวลชน ผองเราทุกคนเป็นสื่อสัมพันธ์

สื่อกลางระหว่างสถาบัน ประชาสัมพันธ์กับปวงประชา

ให้ความรู้จริงทุกสิ่งสรรพ์ เข้าใจในกันเป็นยอดปรารถนา

เป็นแสงสว่างสร้างความศรัทธา ให้ประชาสุขสถาพรไชย”

ในบทเพลงบอกความหมายของนักสื่อสารมวลชน

เนื้อหาในท่องแยก เน้นย้ำให้เห็นหน้าที่นักสื่อสารมวลชนที่หนักแน่นกว่าเดิม ….

“ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เสริมส่งน้อมนำประชาธิปไตย

ให้ความบันเทิงเริงใจ เราเป็นสายใยของสังคมชน”

พอมาถึงท่อนท้ายได้สอดแทรกให้ผู้ร้องปฏิญาณตน

“เราปฏิญาณ ห้าวหาญยอมตาย อุทิศทั้งใจ อุทิศทั้งกาย ถวายตน

เพื่อความสุขของมวลชน โลกสากลสันติชัยยืนยง ไชโย ไชโย”

ไม่เพียงแค่บทเพลงเท่านั้น ชีวิตในจุฬาฯยังเปิดโอกาสให้ปฏิบัติด้วย

การปฏิบัติด้วยกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นการเรียนรู้ชีวิตที่ดีอีกแบบ

นับตั้งแต่กิจกรรมเบ้าหลอมในงาน “ก้าวใหม่ในจุฬาฯ”

กิจกรรมในชมรม กิจกรรมของคณะ การร่วมงานกับมหาวิทยาลัย

และยังมีกิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัย

กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมสาธารณะ ทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อสังคม

กิจกรรมเหล่านี้ช่วยขัดเกลาให้นิสิตซึมซับถึง “เกียรติภูมิจุฬาฯ”

เกียรติภูมิที่เกิดจากการทำเพื่อผู้อื่น การทำเพื่อสังคม

ทำมาตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน

จนถึงวันนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเดินมาถึงปีที่ 100 แต่เป้าหมายยังคงเดิม

ยังคงดำรงเป้าหมายรักษาเกียรติภูมิ ด้วยการรับใช้สังคม รับใช้ประชาชนต่อไป

ตามคติพจน์ที่ยึดถือกันตลอดมาว่า… เกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image