รายงานพิเศษ : ย้อนอดีต มองอนาคต 160ปีสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (จบ)

การนำคณะผู้บริหารแอร์บัสเดินทางเยือนไทยเพื่อลงนามเอ็มโอยูร่วมกับการบินไทยในการศึกษาเรื่องการสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภานับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการดำเนินการทูตเชิงเศรษฐกิจ (economic diplomacy) ของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาล และเป็นส่วนสำคัญที่ ท่านทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ตั้งใจนับตั้งแต่มาประจำการที่ประเทศฝรั่งเศสว่า จะใช้เศรษฐกิจเป็นธงนำในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกัน

เมื่อความสัมพันธ์ในระดับการเมืองถูกข้อมติของสหภาพยุโรป (อียู) กำหนดห้ามให้มีการติดต่อระหว่างกัน ท่านทูตสีหศักดิ์จึงพยายามให้ภาคเอกชนเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในทางเศรษฐกิจ เพราะฝรั่งเศสมีศักยภาพในหลายๆ ด้าน อาทิ ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมการเกษตร การขนส่ง รถไฟความเร็วสูง

ท่านทูตสีหศักดิ์ได้เข้าหาภาคเอกชน อาทิ สภานายจ้างฝรั่งเศสสากลหรือ เมเดฟ (MEDEF) สภาอุตสาหกรรม และหอการค้าฝรั่งเศส เพื่อให้เขาเห็นภาพประเทศไทยใหม่ เพราะโดยที่ฝรั่งเศสและอียูก็มีปัญหาด้านเศรษฐกิจและเริ่มมองไปยังอาเซียนและเอเชีย แม้ฝรั่งเศสจะเคยมีบทบาทในอินโดจีน แต่เอกชนรุ่นใหม่ๆ ยังไม่เห็นภาพการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนว่าจะมีผลอย่างไรต่อลู่ทางการค้าการลงทุนใหม่ๆ เมื่อท่านรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นำคณะมาเยือนฝรั่งเศสเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน และได้มาพูดคุยกับเมเดฟ ก็ทำให้ได้รับผลตอบรับที่ดี โดยเมเดฟได้นำคณะนักธุรกิจจาก 30 บริษัทเดินทางเยือนไทยหลังจากนั้น ซึ่งยิ่งทำให้เขาเห็นลู่ทางความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย โดยมุ่งเน้นสิ่งที่เป็นอนาคตร่วมกัน

ท่านทูตสีหศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่พยายามบอกฝ่ายฝรั่งเศสตลอดมาคือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ในด้านการเมือง เราเข้าใจว่ามีมติของอียูอยู่แต่ฝรั่งเศสเป็นประเทศใหญ่ น่าจะทำให้ข้อมตินั้นมีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น เพราะอย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องตอบสนองผลประโยชน์ของภาคเอกชนทางการเมืองเพราะมันต้องไปด้วยกัน ซึ่งคิดว่าเขาก็มีท่าทีตอบสนองมากขึ้น

Advertisement
สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว

ไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญ เรากำลังเดินหน้าตามโรดแมปและเราจะมีบทบาทที่สำคัญในภูมิภาค ดังนั้นต้องมีความสัมพันธ์ทางการเมืองในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับผลประโยชน์ของฝรั่งเศสเอง และแม้จะยังมีข้อกังวลเรื่องการเมืองไทย แต่เอาเข้าจริงแล้วท่านทูตสีหศักดิ์เชื่อว่าไทยยังเป็นพันธมิตรที่ฝรั่งเศสมั่นใจได้มากที่สุด เพราะท่าทีของไทยในอาเซียนเป็นท่าทีที่สร้างสรรค์และมีแนวทางสมเหตุสมผล

ในส่วนของการเมือง ท่านทูตสีหศักดิ์เห็นว่าฝรั่งเศสต้องมองภาพให้ลึกซึ้งกว่านี้ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง เพราะในยุคปัจจุบัน ใครๆ ก็อยากเป็นประชาธิปไตย แต่ว่าเราจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหน แบบที่เจอวิกฤต ทุกอย่างนิ่งหรือประชาธิปไตยที่สามารถตอบสนองประโยชน์ของประเทศได้ มีเนื้อหาของประชาธิปไตยที่น่าเชื่อถือและมีธรรมาภิบาล ดังนั้นเขาต้องให้เวลาและต้องเข้าใจว่าเราไม่เคยทอดทิ้งประชาธิปไตย เพราะเสถียรภาพของไทยไม่ได้สำคัญต่อไทยเอง แต่ยังสำคัญต่อภูมิภาคด้วย อีกทั้งที่ผ่านมา แม้แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยไม่เคยสร้างภาระให้ใครเลย เราพยายามจัดการปัญหาของเราเอง ดังนั้นเขาควรจะเข้าใจและสนับสนุประเทศไทย

ปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะฝรั่งเศส แต่หลายประเทศในโลกตะวันตกเมื่อมองประเทศไทยจะมีภาพด้านการเมืองไทยเข้ามาครอบงำ ทั้งที่มิติของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อพยายามให้เราหลุดพ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านของเราไม่เป็นที่รับรู้มากนัก แม้กระทั่งเรื่องการเมืองไทยเขาก็มองแบบตะวันตก มองภาพแค่ต้องมีการเลือกตั้งอย่างเดียว โดยไม่เข้าใจปัญหาท้าทายที่เราประสบอยู่

Advertisement

ท่านทูตสีหศักดิ์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส เป็นความสัมพันธ์ที่เก่าแก่มากถึง 300 กว่าปี คนฝรั่งเศสรู้จักไทยเยอะ แต่ปัจจุบันไม่อยากให้ประเทศไทยหายไปจากจอเรดาร์ของฝรั่งเศส คนฝรั่งเศสรู้จักไทยเยอะแต่รู้จักในบางมิติเท่านั้นและไม่ทราบพัฒนาการใหม่ของไทย เขารู้จักทหารไทย การท่องเที่ยว น้ำใจคนไทย แต่อยากให้เขาเห็นประเทศไทยที่มีการขับเคลื่อนด้วย

ด้วยความตั้งใจนี้ ท่านทูตสีหศักดิ์จึงได้ใช้โอกาสครบ 160 ปีความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส จัดงานสัมมนาขึ้นเพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่มียาวนานตั้งแต่อดีตซึ่งเป็นจุดเด่นของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ประเมินความสัมพันธ์ในปัจจุบันว่ามีสถานะอย่างไรและมีพัฒนาการอะไรคืบหน้า สุดท้ายคือมองไปข้างหน้าเพื่อหาหนทางส่งเสริมความสัมพันธ์ให้มีความเป็นหุ้นส่วนมากขึ้น และทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เขามีมุมมองใหม่เกี่ยวกับประเทศไทย

แม้จะไม่สามารถมาร่วมงานสัมมนาได้เพราะติดภารกิจอื่น แต่ นายฌอง-มาร์ค อัยโรต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ฝากสารมาให้นายอีฟ ซาร์ปองติเอร์ รองอธิบดีกรมเอเชียและโอเชียเนีย กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาระหว่างประเทศของฝรั่งเศส นำมาอ่านก่อนการพูดคุยในเวทีสัมมนา 160 ปีความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสด้วย

สารจากรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสนี้ถือว่ามีความพิเศษยิ่ง เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความคล้ายคลึงระหว่างไทย-ฝรั่งเศสในหลายมิติ อีกทั้งยังได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันต่อไปในอนาคต

ความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทย-ฝรั่งเศส จะถูกถักทอเรียงร้อยให้ใกล้ชิดแนบแน่นกันต่อไปบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายและสิ่งดีๆ ที่เรามีร่วมกันมากว่า 300 ปี และเชื่อว่าความสัมพันธ์อันดีนี้จะดำรงคงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน

ฌอง-มาร์ค อัยโรต์

สารจากนายฌอง-มาร์ค อัยโรต์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาระหว่างประเทศของฝรั่งเศส

สยามเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ฝรั่งเศสสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยมีการแต่งตั้งคณะทูตเพื่อเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประเทศของเราทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งในด้านขนาด ประชากร ความสำคัญในยุโรปและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เรามีความผูกพันในศิลปวัฒนธรรมและมรดกของชาติเหมือนกัน การจัดแสดงพระราชสาส์นจารึกในพระสุพรรณบัฏซึ่งเก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุทางการทูตในนิทรรศการที่กรุงปารีสเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นพยานที่ดีถึงรสนิยมที่เรามีร่วมกัน คือความประณีตละเอียดอ่อนของศิลปะไทยและความเชี่ยวชาญของฝรั่งเศสในการบูรณะซ่อมแซมสมบัติของชาติ

ประเทศของเราทั้งสองได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนเช่นกัน การท่องเที่ยวพัฒนาขึ้น ทุกๆ ปีชาวฝรั่งเศสกว่า 600,000 คน เดินทางไปยังประเทศไทย และยังมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์ของเราในภายภาคหน้า และฝรั่งเศสให้ความสำคัญอย่างสูง มีความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในสาขาสุขภาพอนามัยหรือเกษตรกรรม เป็นต้น ชุมชนชาวฝรั่งเศสในประเทศไทยขยายตัวขึ้น แสดงให้เห็นถึงสัมพันธไมตรีที่สดใสของเรา

ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าหลักของฝรั่งเศสในอาเซียน บริษัทฝรั่งเศสกว่า 350 บริษัทดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสก็เปิดโอกาสให้นักธุรกิจของไทยมาลงทุนเป็นจำนวนมาก และเราจะสนับสนุนให้การลงทุนแพร่หลายเพิ่มขึ้น

ในโอกาสฉลองครบรอบ 160 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของเราในครั้งนี้ และในระหว่างที่เรากับประเทศหุ้นส่วนของเราในยุโรปรอให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยในเร็ววัน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศของเราทั้งสองจะร่วมมือกันในการเร่งรัดพัฒนา โดยมีเป้าหมายในการสร้างอนาคตที่ดีสมกับประวัติศาสตร์อันงดงามที่เรามีร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image