8 เมษา ดาวพฤหัส ใกล้โลกที่สุดในรอบปี แค่ 667 ล้านกิโลเมตร

วันที่ 27 มีนาคม นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนเมษายนดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ และเข้ามาใกล้โลก ดาวพฤหัสบดีจะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 8 เมษายน 2560 เวลาประมาณ 04:28 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่ระยะทางประมาณ 667 ล้านกิโลเมตร หรือ 4.46 หน่วยดาราศาสตร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างมาก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ -2.5 (ความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6)

“หลังจากนี้ เรายังสามารถชื่นชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดีได้จนถึงเดือนกรกฎาคม ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสฯ อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด นอกจากนี้การที่ดาวพฤหัสฯ อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หมายถึงเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีก็จะโผล่พ้นขอบฟ้า ดังนั้น ดาวพฤหัสฯจะปรากฏบนท้องฟ้าให้เรายลโฉมเป็นเวลายาวนานตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าจนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป”รองผู้อำนวยการ สดร.กล่าว

นายศรัณย์ กล่าวว่า สดร. เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์และจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก” 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ในวันที่ 8 เมษายน 2560 ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 น. ดังนี้ 1. กรุงเทพฯ : ลานพาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน 2. เชียงใหม่ : หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และ 4. ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา พร้อมระดมเครือข่ายโรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ทั่วประเทศ มากกว่า 175 แห่ง จัดกิจกรรมชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาพิเศษที่จะได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ของดาวพฤหัสบดี “ดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ” พร้อมกันทั่วประเทศ ติดตามรายละเอียดและสถานที่จัดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/NARITpage

Advertisement

“สดร.ยังร่วมกับ อพวช. และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว สปป.ลาว นำกล้องโทรทรรศน์ดอปโซเนียนที่ สปป.ลาว รับมอบจาก สดร. ตามโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ประเทศเพื่อนบ้าน จัดกิจกรรม “เบิ่งดาวเคราะห์ยักษ์” เชิญชวนครู นักเรียน และประชาชนชาวลาว ร่วมสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกและดวงจันทร์ ในช่วงค่ำวันที่ 7 เมษายน ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว หวังใช้ปรากฏารณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ช่วยพัฒนาองค์ความรู้ ฝึกทักษะและพัฒนาเทคนิคการใช้กล้องโทรทรรศน์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่ประชาชนชาวลาวให้เกิดความตื่นตัวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อีกทางหนึ่งด้วย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับในช่วงค่ำของวันที่ 8 เมษายน 2560 ดาวพฤหัสบดีจะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:23 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เราจะสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 06:14 น. ของเช้าวันที่ 9 เมษายน 2560 หากสังเกตด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะสามารถเห็นดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี หรือที่เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลียน (Galilean Moons) ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) รวมถึงแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีได้อีกด้วย หากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้องตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะสามารถมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้อย่างชัดเจน ในคืนวันที่ 8 เมษายน จะสามารถสังเกตเห็นจุดแดงใหญ่ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00-21:00 น. และจะกลับมาให้เห็นอีกครั้งในช่วงรุ่งเช้าวันที่ 9 เมษายน เวลาประมาณ 04:30 น. จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น

นอกจากการสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปีแล้ว การสังเกตการณ์ดวงจันทร์บริวาร 4 ดวง ของดาวพฤหัสบดี ก็เป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าติดตาม เนื่องจากดวงจันทร์จะโคจรไปรอบๆ ดาวพฤหัสบดี หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงาของดาวพฤหัสบดีเกิดเป็นจันทรุปราคา หรือเคลื่อนที่ผ่านหน้าจนเงาของดวงจันทร์บริวารทอดลงบนดาวพฤหัสบดีเกิดเป็นสุริยุปราคา ในคืนวันที่ 8 เมษายน 2560 จะสามารถสังเกตการณ์ดวงจันทร์ไอโอผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี เกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00-20:00 น. นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

“ตามปกติแล้วดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์หรือใกล้โลกมากที่สุดเป็นประจำทุกปี ครั้งล่าสุดคือวันที่ 8 มีนาคม 2559 และครั้งต่อไปในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ขนาดปรากฏของดาวพฤหัสบดีในช่วงที่โคจรมาใกล้โลกในแต่ละปีมีความแตกต่างกันไม่มากนัก เนื่องจากดาวพฤหัสบดีอยู่ไกลจากโลกค่อนข้างมาก ต่างจากดาวอังคารที่มีขนาดปรากฏใหญ่เล็กแตกต่างกันในแต่ละปี (ระยะห่างเฉลี่ยจากโลกถึงดาวพฤหัสบดี 780 ล้านกิโลเมตร ระยะห่างเฉลี่ยจากโลกถึงดาวอังคาร 78 ล้านกิโลเมตร) แต่การส่องกล้องโทรทรรศน์ชมดาวพฤหัสบดีที่เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีโอกาสเห็นแถบเมฆที่เป็นพายุขนาดใหญ่บนดาวพฤหัสบดี จุดแดงใหญ่ จุดแดงเล็ก รวมทั้งดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีทั้งสี่ดวง เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ เยาวชน ได้เป็นอย่างดี” นายศรัณย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image