ร้อยเรื่องราวจาก ‘ทรงจำ’ เผยโฉม ‘มติชน’ ในงานสัปดาห์หนังสือฯ

ไม่นานเกินรอคอย สำหรับนักอ่านที่เฝ้ารอ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 45 สำหรับเทศกาลที่จะได้ตื่นตากับหนังสือเล่มใหม่ๆ ที่แต่ละสำนักพิมพ์หอบมาประชัน

สำนักพิมพ์มติชน มาตามสัญญาไม่เคยพลาด และการปรากฏตัวทุกครั้งต้องมีอะไรแปลกใหม่ให้เหล่านักอ่านตาโต

แน่นด้วยสาระเนื้อหาและความสร้างสรรค์จนเป็นที่ไว้ใจของผู้รักการอ่าน

ในปีนี้สำนักพิมพ์มติชนมาในธีม “of Memories” อันมีความหมายถึงความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และการรำลึกถึง

Advertisement

‘of Memories’

ในทรงจำแห่งอดีต

กิตติวรรณ เทิงวิเศษ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ขยายความที่มาของธีมนี้ว่า “of Memories” มีความหมายเกี่ยวข้องถึงความทรงจำและอดีตที่ผ่านมา ในภาวะที่ยังผูกพันกับอดีตอาจมีนัยถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเรามีความรักความผูกพันกับท่าน ธีมที่ตั้งขึ้นจึงสื่อถึงความทรงจำที่งดงาม

“อีกทั้งหนังสือที่ออกมาในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้จะอยู่ในโทนของอดีต ความทรงจำในแต่ละเรื่องราว เราจึงชูคำว่า of Memories ขึ้นมา แม้ว่าความทรงจำในหนังสือแต่ละเล่มจะมีทั้งที่งดงามและที่ขมขื่น แต่คิดว่าธีมนี้เหมาะสมในภาวะจิตใจของคนช่วงนี้”

สำหรับหนังสือไฮไลต์ คือ ชุดหนังสือ “Memoir” ทั้งหนังสือที่ออกมาเมื่อปลายปีและหนังสือใหม่ มีทั้งหมด 5 เล่ม

Advertisement

1.ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม โดย จ้าวกว่างเชา แปลโดยอชิรัชญ์-ชาญ ธนประกอบ

2.พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (The Museum of Innocence) โดย ออร์ฮาน ปามุก แปลโดย นพมาส แววหงส์

3.ความสุข ความทรงจำ ในรัชกาลที่ 9 โดย ธงทอง จันทรางศุ

4.พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ โดย วีรพร นิติประภา

5.จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ โดย เอ็มม่า ลาร์คิน แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส

เล่มเด่นที่กิตติวรรณอยากแนะนำคือ ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม ความน่าประหลาดใจคือหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือภาพที่ราคาค่อนข้างสูงแต่กลับมียอดสั่งซื้อล่วงหน้าสูงสุดที่สำนักพิมพ์มติชนเคยเปิดรับพรีออเดอร์

“จะเห็นได้ว่าหนังสือเล่มยังคงคุณค่าอยู่ เล่มนี้เป็นหนังสือภาพที่มีคำบรรยายเรื่องราวในพระราชวังต้องห้ามอย่างละเอียดมาก หนังสือเล่มยังเป็นสิ่งที่คนจับต้องได้ ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือราคาเกือบพันบาท แต่คนสั่งซื้อโดยที่ยังไม่ได้สัมผัสหนังสือจริงเยอะมากหนังสือเล่มยังมีคุณค่าที่ทำให้คนอยากเป็นเจ้าของอยากจับต้อง เล่มนี้เหมาะกับคนที่อยากไปเที่ยวคนที่ชอบเรื่องราวของประเทศจีน อธิบายได้ละเอียดมากกว่าที่ไกด์เล่า ภาพในเล่มไม่ใช้วิธีการถ่ายรูป แต่ใช้การวาดรูปแล้วชี้ว่าตรงนี้คืออะไรมีความหมายอะไร ประวัติศาสตร์ซ่อนอะไรไว้ ผู้เขียนเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดข้อมูล เปิดมุมที่คนนอกไม่สามารถเข้าไปเห็นได้ หนังสือเล่มนี้พาไปทุกส่วนของพระราชวังต้องห้ามบางส่วนไม่มีหลงเหลือให้เห็นก็จำลองด้วยภาพวาดเหมือนจริง

“หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ดี การที่มีคนสั่งจองเยอะขนาดนี้ นอกจากเป็นคนชอบเรื่องจีนแล้วยังต้องมีความเชื่อถือในความเป็นมติชน ภาพการนำเสนอความรู้แล้วนักอ่านเชื่อมั่น ยอมจ่ายให้ได้ ทำให้เห็นถึงการเป็นผู้นำด้านความรู้ได้” กิตติวรรณกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

“ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม” ที่จะพบผู้อ่านในงาน สามารถเลือกซื้อในรูปแบบบ็อกเซตเพื่อการเก็บรักษาที่ยาวนานพร้อมแถมที่คั่นหนังสือและสมุดฉีกในราคาที่ต่ำกว่าราคาเต็ม

บ็อกเซต “ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม”

อีกก้าวกับ’วรรณกรรมเด่น’ระดับโลก

อีกเล่มเด่น ที่ อภิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ รองผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ชี้ชวนให้อ่านคือ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา เขียนโดย ออร์ฮาน ปามุก

“ภาพจำสำนักพิมพ์มติชนส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือ Non-fiction แต่เราจะบุกเบิกวรรณกรรมระดับโลก โดยเริ่มที่ ออร์ฮาน ปามุกที่นิตยสารไทม์เคยจัดให้เป็น 1 ใน 100 นักเขียนที่ขับเคลื่อนโลก คนจะนึกว่าปามุกเขียนแต่นิยายการเมือง เพราะชอบวิจารณ์การเมืองตุรกี แต่เล่มนี้เล่าเรื่องความรู้สึก ความรัก ความโหยหาของคน โดยพาดพิงการเมืองตุรกีเล็กน้อย นอกจากนี้ในงานหนังสือปลายปีเราจะตีพิมพ์ผลงานของปามุกเพิ่มอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งแปลโดย อ.นพมาส แววหงส์ เช่นเดียวกัน”

สำหรับผู้ที่ซื้อ “พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” ในราคาเต็มที่งานสัปดาห์หนังสือฯ จะได้รับกระเป๋าที่ออกแบบโดยศิลปินรับเชิญของมติชนอีกด้วย

ซื้อ “พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” ได้พร้อมกระเป๋าออกแบบโดยนักรบ มูลมาสัส

ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์

อีกเล่มที่อภิสิทธิ์แนะนำ คือ ความสุข ความทรงจำ ในรัชกาลที่ 9 ของ อ.ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ทางราชสำนักและพระราชพิธี

“เล่มนี้เป็นผลงานเล่มใหม่ของ อ.ธงทอง เขียนขึ้นใหม่ ภายใน 100 วันหลังการสวรรคต ด้วยกลัวว่าความทรงจำนี้จะเลือนหายไป เป็นบันทึกจากความทรงจำที่ อ.ธงทองได้สัมผัสตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่อาจารย์เป็นนักเรียนรอเฝ้ารับเสด็จฯ จนเข้าเรียนหนังสือที่จุฬาฯ ก็ได้เห็นพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วเป็นอาจารย์จุฬาฯ มาทำงานถวายรับใช้ เป็นผู้บรรยายพระราชพิธี ผูกพันกับการถวายงานตลอดมา” อภิสิทธิ์กล่าว

โดยหนังสือเล่มนี้รวมอยู่ในชุด “ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” ในชุดยังมีเรื่อง รอยพระยุคลบาท โดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร, ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, บุญเหลือเมื่อได้เกิดแผ่นดินนั้น โดย ธงทอง จันทรางศุ และ ข้าแผ่นดินสอนลูก โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นทั้งหนังสือเก่าและใหม่ที่มติชนรวบรวมไว้


อภิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ-กิตติวรรณ เทิงวิเศษ

ชีวิตหนัก วรรณกรรมแน่น!

กิตติวรรณแนะนำว่ายังมีหนังสือใหม่น่าสนใจอีกหลายเล่ม อย่างในหนังสือชุด “ขายดี-คนดัง” มี 1.การเมือง เรื่องเล่า พระเจ้าตาก หลัง 2475 โดย ปฐมพงศ์ สุขเล็ก 2.อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้นี่เอง โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ 3.เหลี่ยมคุก อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้ โดย ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ 4.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา โดย เสถียร จันทิมาธร 5.ยอดกุนซือทะลุมิติ เล่ม 6 มู่อี้ เขียน กระดิ่งหยก แปล

“เหลี่ยมคุก อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้ เป็นบันทึกความทรงจำในช่วงชีวิตหนึ่งของคุณชูวิทย์ เขียนเล่าให้ฟังว่าการเป็นอยู่ข้างในนั้นเป็นอย่างไร จะรับมือจากสิ่งที่เป็นอยู่อย่างไร เรื่องราวของคุณชูวิทย์บางส่วนได้ตีพิมพ์ลงในมติชนสุดสัปดาห์ไปแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้จะเป็นเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ โดยมีการเรียบเรียงและเขียนเพิ่มเติม” กิตติวรรณกล่าว

สำหรับหนังสือ อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ยังมีแพคคู่ในชุด Pop Science คือ อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก โดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ เป็นวิทยาศาสตร์ในมุมเข้าใจง่ายเกี่ยวกับเรื่องรอบตัวในชีวิตประจำวัน

อีกชุดที่น่าสนใจ เชื่อว่าคอวรรณกรรมพลาดไม่ได้ คือ ผลงานของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ 3 เล่ม เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง-เจ้าแม่

โดย เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง เป็นนวนิยายที่หยิบมาพิมพ์เปลี่ยนปกใหม่ แต่เรื่อง “เจ้าแม่” เป็นนิยายที่เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสารกุลสตรีราวยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ไม่เคยตีพิมพ์รวมเล่มมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะมีการรวมเล่ม “เจ้าแม่”

ให้นักอ่านได้พบกับภาคต่อของนวนิยายชื่อดัง โดย วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ ได้เขียนบทตามตบท้ายเพื่อขมวดเรื่องให้หนักแน่นขึ้น

เรื่องประวัติศาสตร์คับคั่ง

แน่นอนที่ขาดไม่ได้คือ หนังสือประวัติศาสตร์ เล่มเด่นในชุดนี้คือ พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก โดย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ อภิรมย์นุกูล ที่เสนอแง่มุมประวัติศาสตร์ซึ่งขัดกับเรื่องที่คนทั่วไปรับรู้

ประวัติศาสตร์นอกตำรา สยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก โดย ไกรฤกษ์ นานา ผู้มีความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ช่วงรัชกาลที่ 4-5 ผ่านเอกสารตะวันตก นำเสนอข้อมูลใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยมีมาก่อน

ส่วน การเมือง เรื่องเล่าพระเจ้าตากหลัง 2475 โดย ปฐมพงศ์ สุขเล็ก ที่ผ่านมาทางนิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้นำเสนอเรื่องพระเจ้าตากมาอย่างต่อเนื่องในแง่ของหลักฐานพงศาวดาร แต่เล่มนี้น่าสนใจที่เป็นการวิเคราะห์วรรณกรรมเกี่ยวกับพระเจ้าตากที่เขียนขึ้นใหม่หลังปี 2475

สร้างบ้านแปงเมือง โดย ศรีศักร วัลลิโภดม ก็เป็นอีกเล่มที่ไม่ควรพลาด เป็นการรวบรวมมุมมองและทรรศนะเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ของดินแดนไทย โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้พูดถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ตำรา แต่เป็นคัมภีร์”

“หนังสือประวัติศาสตร์ก็คือความทรงจำหนึ่ง บูธมติชนปีนี้ยึดธีม of Memories ประหนึ่งว่า สำนักพิมพ์มติชนเป็นภัณฑารักษ์จัดการความรู้ หนังสือที่เราทำทุกเล่มคือความรู้ เรานำความรู้มาจัดการเผยแพร่ให้คนทั่วไปอ่าน” อภิสิทธิ์กล่าว

คอลลาจอาร์ต เนรมิตบูธมติชน

อีกหนึ่งสิ่งที่สำนักพิมพ์มติชนทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ การเชิญศิลปินให้มาร่วมสร้างสรรค์ในงานหนังสือ โดยปีนี้ศิลปินที่ได้รับเชิญให้มาออกแบบบูธมติชน คือ นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจอาร์ตที่มีชื่อเสียงในขณะนี้

ที่ผ่านมา นักรบได้ร่วมงานออกแบบปกหนังให้มติชนมาหลายเล่มแล้ว ผลงานที่ออกมาเป็นที่ประจักษ์เมื่อมีการกล่าวชื่นชมบ่อยครั้งจากนักอ่าน จึงน่าจะเป็นการตัดสินใจไม่ยากที่ทางสำนักพิมพ์มติชนได้เลือกให้นักรบมาร่วมเนรมิตบูธมติชนด้วยผลงานศิลปะของเขา

นอกจากงานศิลปกรรมในบูธแล้วยังมีของที่ระลึกจากผลงานที่ศิลปินออกแบบ เป็นโปรโมชั่นให้ผู้อ่านได้แลกซื้อหรือรับฟรีเมื่อซื้อครบตามยอด

เห็นพาเหรดหนังสือออกใหม่แล้ว แฟนหนังสือคงได้มาแลกรับของที่ระลึกกันถ้วนหน้า

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 จะจัดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม-9 เมษายน เวลา 10.00-21.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เจอกับ “สำนักพิมพ์มติชน” ได้ที่เดิม โซนพลาซ่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image