สหรัฐนำทีมคว่ำบาตรประชุมยูเอ็นขจัดอาวุธนิวเคลียร์ ชี้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

AFP PHOTO / DON EMMERT

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ชาติเข้าร่วมในการประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยเรื่องการบรรลุเป้าหมายการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ด้วยข้อผูกมัดทางกฎหมายครั้งแรก ที่สำนักงานใหญ่ของยูเอ็นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในขณะที่สหรัฐเป็นแกนนำในการคว่ำบาตรการประชุมนี้ โดยระบุว่า กระบวนการดังกล่าวดูเหมือนไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

ก่อนหน้าที่การประชุมจะเริ่มต้นขึ้น นางนิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวว่าจะปฏิเสธข้อเสนอของการประชุมนี้ด้วยเหตุผลเรื่องภัยคุกคามความมั่นคงโลกในปัจจุบัน โดยนางเฮลีย์กล่าวนอกรอบการประชุมว่า “ในฐานะแม่และในฐานะลูกสาว ไม่มีสิ่งใดที่ดิฉันต้องการมากไปกว่าโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์”

“แต่เราจำเป็นต้องอยู่กับความเป็นจริง” นางเฮลีย์กล่าว และว่า “มีใครบ้างที่เชื่อว่า เกาหลีเหนือจะเห็นพ้องกับข้อตกลงในการห้ามอาวุธนิวเคลียร์”

นอกจากสหรัฐแล้วยังมีทูตประจำยูเอ็นจากอีกราว 20 ชาติที่ประกาศคว่ำบาตรการเจรจาหารือเรื่องนี้ซึ่งรวมถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ตุรกี และอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออก

Advertisement

ขณะที่ทูตรัสเซียและทูตจีนประจำยูเอ็นไม่ปรากฏตัวในที่ประชุม โดยนางเฮลีย์ประเมินว่า น่าจะมีทั้งหมดราว 40 ประเทศที่จะไม่เข้าร่วมในการหารือเรื่องนี้ต่อไป

การผลักดันให้มีการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ได้รับการประกาศเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วโดยสมาชิกยูเอ็น 123 ชาติ ที่ระบุว่า ภัยคุกคามของหายนะปรมาณูใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จากความตึงเครียดที่โหมกระพือโดยโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือและรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐที่มีพฤติการณ์คาดเดาไม่ได้ โดยกลุ่มประเทศที่เป็นแกนนำในการผลักดันเรื่องนี้ประกอบไปด้วย ออสเตรีย ไอร์แลนด์ เม็กซิโก บราซิล แอฟริกาใต้ และสวีเดน และได้รับการสนับสนุนโดยองค์กรพัฒนาเอกชนไม่หวังผลกำไรหลายร้อยแห่ง

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ส่วนใหญ่ของโลกทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยทั้งสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิสราเอล และรัสเซียลงมติไม่รับข้อเสนอของการประชุมนี้ ขณะที่จีน อินเดีย และปากีสถานงดออกเสียง

แม้กระทั่งญี่ปุ่นที่ถือได้ว่าเป็นประเทศเดียวในโลกที่เคยเจ็บปวดจากการถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู เมื่อปี 2488 ยังลงมติคัดค้านการเจรจาหารือในเรื่องนี้ โดยระบุว่า การขาดการเห็นพ้องกันของเสียงส่วนใหญ่ในกระบวนการเจรจา อาจบ่อนทำลายความก้าวหน้าของการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างมีประสิทธิผล

นายโนบุชิเงะ ทาคามิซาวา ทูตญี่ปุ่นประจำยูเอ็นกล่าวในที่ประชุมว่า ความพยายามที่จะร่างสนธิสัญญาโดยที่ชาติซึ่งครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้เข้าร่วมด้วย มีแต่จะทำให้ความแตกแยกในประชาคมนานาชาติร้าวลึกลงมากกว่าเดิม

นางเฮลีย์กล่าวว่า สหรัฐลดอาวุธนิวเคลียร์ลง 85 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์มีผลเมื่อปี 2511 และยังเดินหน้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้สนับสนุนการเจรจาครั้งนี้ของยูเอ็นแย้งว่า มีพัฒนาการดังกล่าวในเรื่องดังกล่าวน้อยมากในช่วงปีหลังๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image