ปลัด อปท.ชง สนช. ยึดตามแบบ กทม. เลือกตั้งท้องถิ่นระดับอำเภอโดยตรง

วันที่ 29 มีนาคม นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศ  เปิดเผยว่า  สมาพันธ์ปลัดเทศบาลฯร่วมกับสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย  มีมตินำเสนอความคิดเห็นแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่นเสนอ พล.อ.ศุภวุฒิ  อุตะมะ เลขานุการคณะกรรมาธิการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ในการประชุมสัมมนาประจำปี  จัดโดยสมาพันธ์ปลัด อบต. ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยมีปลัดเทศบาล  ปลัด อบต.เข้าร่วมสัมมนากว่า 3,000  คน  เพื่อนำเสนอรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในเขตเทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ให้รวมเป็นเทศบาลระดับอำเภอโดยใช้เขตพื้นที่อำเภอ เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)

นายศักดิพงศ์กล่าวว่า ได้แสนอแนวทางให้  สนช.ใช้รูปแบบการเลือกตั้งตัวแทนผู้บริหารและสมาชิก  กทม. มาปรับใช้ในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องและสมาชิกสภาเทศบาลระดับอำเภอ โดยสำนักงานเทศบาลตำบลและ  อบต.เดิม เป็นหน่วยบริการระดับพื้นที่ เทียบเท่าเขตของ กทม.โดยมีปลัด อปท.เดิมเป็นผู้อำนวยการเขตตำบล จากนั้นปรับบทบาทหน้าที่ อบจ.ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อน  จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทอำนาจหน้าที่ใหม่ เช่น เป็นหน่วยงานสนับสนุน ส่งเสริมท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณ ติดตามการรายงาน การใช้จ่ายงบประมาณ รายงานรัฐบาลกลาง และประสานแผนพัฒนา ระดับท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัด นอกจากนั้นเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีระดับอำเภอโดยตรง พร้อมกับนายก อบจ. ให้นายกเทศมนตรีระดับอำเภอ นายกเทศมนตรีเมือง นายกเทศมนตรีนคร เป็นสมาชิกสภา อบจ.โดยตำแหน่ง และรับค่าตอบแทนจากเบี้ยประชุม

“สำหรับสมาชิกสภาเทศบาลระดับอำเภอมาจากเลือกตัวแทนระดับตำบล จำนวนจะมากหรือน้อย  เป็นไปตามสัดส่วนประชากร อาจจะให้ฝ่ายปกครองท้องที่โดยเฉพาะ กำนันสามารถทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาเทศบาลระดับอำเภอหากในอนาคตมีการปฏิรูปท้องถิ่น ตามรูปแบบที่นำเสนอจะทำให้มี  อบจ. 76 แห่ง เทศบาลระดับอำเภอ 878 แห่ง เทศบาลเมือง 176 แห่ง และเทศบาลนคร 30 แห่ง รวม อปท.จะคงเหลือ 1,160 แห่ง ลดจำนวนท้องถิ่นจากเดิม 7,853 แห่ง ลดจำนวนท้องถิ่นลง 6,691 แห่ง ทำให้ประหยัดค่าใช้ประจำเป็นค่าตอบแทนผู้บริหาร สมาชิก ทันที่เดือนละ 1,000 ล้านบาท ปีละ 12,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าสวัสดิการด้านอื่น” นายศักดิพงศ์กล่าว

ประธานสมาพันธ์กล่าวอีกว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ทุกฝ่ายเห็นหลักการที่มีความคุ้มค่าในการบริหารภาครัฐ และประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อรถดับเพลิง รถขนขยะ รถประจำตำแหน่งผู้บริหารใช้วัสดุ อุปกรณ์ ร่วมกัน และสามารถลดความเหลื่อมล้ำในการบริการประชาชน ประชาชนสามารถได้รับบริการดีขึ้น  เพราะงบประมาณในการพัฒนาเพิ่มขึ้น สำหรับ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเหมือนเดิม  ส่วนข้อกังวลในพื้นที่อำเภอชายแดน เกรงจะมีปัญหาด้านความมั่นคงนั้น อาจจะปรับเป็นเทศบาลระดับอำเภอ ที่มีนายกเทศมนตรีมาจากคัดสรร หรือโดยตำแหน่ง ดังนั้น การปฏิรูปตามแนวทางนี้ จะทำให้ลดจำนวนท้องถิ่นลงเกือบ 80% กำกับดูแลง่าย ผู้ที่ทำหน้าที่นายกเทศมนตรีระดับอำเภอ จะต้องได้รับการยอมรับจากคนทั้งอำเภอ  และเทศบาลระดับอำเภอ สามารถพัฒนาเป็นเทศบาลเมือง หรือ นคร ได้ในอนาคตและเทศบาลนครเดิม สามารถพัฒนาเป็นเมืองรูปแบบพิเศษได้

Advertisement

“กรณีรองนายกรัฐมนตรีบอกว่าอาจจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนนั้น ควรจะมีการปรับรูปแบบท้องถิ่นเสียก่อน หรือจะเลือกตั้ง ท้องถิ่นในพื้นที่เทศบาลเมือง เทศบาลนคร ที่หมดวาระไปแล้ว ให้มีการนำร่องเลือกตั้ง  เนื่องจากจะไม่อยู่ในเงื่อนไขข้อเสนอ ควบรวม อบต. และเทศบาลขนาดเล็ก ตามรูปแบบที่นำเสนอจึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่ถ้าหากว่าจะเลือกตั้ง อบต.  เทศบาล ขนาดเล็กด้วย จะเป็นเงื่อนไขของฝ่ายการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปใช้เป็นข้ออ้างเพื่อคงสถานภาพเดิมต่อไป” นายศักดิพงศ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image