เลี้ยงปลานิลในบ่อดิน ปั้นไซซ์ 400-500 กรัม ส่งพ่อค้า-แม่ค้า ได้ราคา50-60 บาท/กก.

ปลานิล ปลาน้ำจืดตระกูลทิลาเปีย คือ Nile Tilapia จำนวน 50 ตัว ที่ได้จากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี 2508 ซึ่งพระองค์ได้ทรงนำไปเลี้ยงไว้ที่บ่อปลาสวนจิตรลดา โดยมีกรมประมงดูแลในเรื่องการเพาะขยายพันธุ์ได้ผลเป็นอย่างดี

ในเวลาต่อมาพระองค์ได้พระราชทานลูกปลานิล ขนาด 3-5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว ให้แก่กรมประมง นำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลอง และเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน และสถานีประมงต่างๆ อีกจำนวน 15 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้กับประชาชนต่อไป จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ปลานิลกลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย

คุณทองนาค สีเคนา อยู่บ้านเลขที่ 70 บ้านนาคำน้อย หมู่ 1 ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ได้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลานิลจนประสบผลสำเร็จ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างมีความสุข จึงทำให้ฟาร์มแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจการเลี้ยงปลานิล ได้เข้ามาศึกษาและนำไปปฏิบัติจนเป็นงานที่สร้างรายได้สืบต่อกันไป

Advertisement

ทำอาชีพเกษตรมาหลากหลาย แต่สุดท้ายจบลงที่เลี้ยงปลานิล

คุณทองนาค ชายวัยเกษียณมากด้วยรอยยิ้ม เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนทำอาชีพทางการเกษตรมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำนาที่ทำสืบทอดมาจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ การเลี้ยงโคเนื้อ ตลอดจนถึงการปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ เรียกง่ายๆ ว่าอะไรที่เป็นกระแสและทำแล้วน่าจะได้เงินก็จะทำหมดตามที่ได้ไปพบเห็นมา

“ช่วงนั้นก็มีชาวบ้านแถวนี้เลี้ยงปลานิลกัน เราก็เลยเกิดความคิดที่อยากจะเลี้ยงบ้าง ก็ได้ทดลองเลี้ยงแบบเล็กๆ น้อยๆ ก่อน เพราะช่วงนั้นเรื่องตลาดขายปลานิลยังไม่ค่อยมี เพราะกลัวว่าเลี้ยงมากไปก็ไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน พอประมาณปี 48 ตลาดเริ่มดีขึ้น คนเริ่มกินมากขึ้น ก็เลยหันมาเลี้ยงแบบจริงจังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา” คุณทองนาคเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา

คุณทองนาคบอกว่า ปลาถือว่าเป็นอาหารหลักที่ชาวบ้านในภูมิภาคนี้นิยมกิน เมื่อมีการเลี้ยงปลานิลเป็นเชิงธุรกิจก็ถือว่าตอบโจทย์ของชาวบ้านมากขึ้น เพราะสามารถหาซื้อได้ง่ายในราคาที่กินได้ทุกวัน

เริ่มจากเรียนรู้ด้วยตนเอง

ช่วงแรกที่ได้มาทดลองเลี้ยงปลานิลใหม่ๆ คุณทองนาคบอกว่า ยังไม่ได้ศึกษาวิธีการมากนัก จึงได้เลี้ยงแบบตามความเข้าใจของตนเอง ต่อมาจึงได้เข้าร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดเป็นประมงอาสาเพื่อศึกษาวิธีการ และนำความรู้ที่ได้ไปบอกสอนให้กับผู้ที่สนใจต่อไป จึงทำให้มีความรู้และสามารถนำมาปรับใช้กับการเลี้ยงปลาของเขาเองได้มากขึ้น

“ช่วงที่อยากจะเลี้ยงแบบจริงจัง ก็ปรึกษากันในครอบครัวก่อนว่า จะขอเปลี่ยนจากนาข้าว มาทำเป็นบ่อเลี้ยงปลา ทุกคนก็เลยตกลงปลงใจกันว่า จะทำก็ทำ แต่ต้องเริ่มจากทีละน้อยก่อน ก็เลยเริ่มตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พอเราได้กำไรมากขึ้นก็ขยับขยายไปเรื่อยๆ จึงทำให้เวลานี้เลี้ยงปลานิลอยู่ที่ประมาณ 7 ไร่ จับขายสลับกันไป” คุณทองนาคกล่าว

ก่อนที่จะนำปลานิลมาใส่เลี้ยงลงภายในบ่อ จะต้องเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงให้พร้อมเสียก่อน โดยขั้นตอนแรกจะนำขี้เลนขึ้นจากก้นบ่อ จากนั้นตากบ่อให้แห้งพร้อมกับหว่านปูนขาวให้ทั่วบริเวณบ่อ ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงปล่อยน้ำใส่ภายในบ่อ จากนั้นรอให้น้ำปรับสภาพอีกประมาณ 2 สัปดาห์

“พอน้ำได้สภาพที่เราต้องการแล้ว เราก็จะเตรียมปลานิลไซซ์ใบมะขามมาปล่อยลงภายในบ่อเพื่ออนุบาลก่อน ซึ่งบ่อจะมีขนาดประมาณ 1 ไร่ จะปล่อยปลาลงไปอนุบาลประมาณ 10,000 ตัว ในช่วงแรกให้กินอาหารเม็ดเล็กที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 40 ให้กินในช่วงเช้าและเย็น เลี้ยงไปแบบนี้จนกว่าลูกปลานิลจะมีอายุ 60 วัน เสร็จแล้วเราก็จะเตรียมย้ายไปอยู่ที่บ่อสำหรับเลี้ยงขุนต่อไป” คุณทองนาคอธิบาย

นำลูกปลานิลที่อนุบาลได้อายุครบ 60 วัน ที่มีขนาดไซซ์อยู่ที่ 12-15 ตัวโล นำมาแยกใส่บ่อ ขนาด 1 ไร่ เหมือนเดิม แต่ปล่อยปลานิลเลี้ยงอยู่ที่ 2,500 ตัว ต่อบ่อ สูตรอาหารก็จะเป็นอาหารเม็ด เบอร์ 1 ที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 32 ให้ปลากินจนครบ 40 วัน จึงเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ด เบอร์ 2 ที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 25 ให้กินไปอีกประมาณ 2 เดือน จนกว่าปลานิลจะมีอายุได้ 5 เดือน ได้ไซซ์ขนาดที่ขายได้

โรคที่เกิดกับปลานิล คุณทองนาคบอกว่า จะเป็นโรคที่ติดมากับน้ำเสียมากกว่า เพราะต้องใช้น้ำที่มาจากเขื่อนจึงอาจจะมีพวกโรคติดมาด้วย วิธีป้องกัน คือถ่ายน้ำเก่าออก แล้วนำน้ำใหม่เข้ามาภายในบ่อ พร้อมทั้งโรยปูนขาวและใส่ด่างทับทิมบ้างเล็กน้อย

“ช่วงหน้าหนาวก็ต้องระวังเรื่องปลาไม่ค่อยกินอาหาร ส่วนช่วงร้อนปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือ ร้อนๆ อยู่มีฝนตกลงมาด้วย จะยิ่งทำให้ปลาเจ็บป่วยได้ง่าย ต้องมีการเติมน้ำใหม่ลงไปด้วย และต้องหยุดให้อาหารทันที พร้อมทั้งสาดเกลือลงไปภายในบ่อ ประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่ จะทำให้อาการของปลาที่ป่วยดีขึ้น” คุณทองนาคบอกวิธีการดูแล

พ่อค้า แม่ค้า ชอบปลานิล ขนาด 400-500 กรัม

หลักการทำตลาดปลานิลเพื่อให้มีขายได้ตลอดทั้งปีนั้น คุณทองนาค บอกว่า ชาวบ้านในพื้นที่นี้มีการเลี้ยงปลานิลกันมากขึ้น จึงได้มีการรวมกลุ่มเพื่อขายให้กับลูกค้าที่มารับซื้อ โดยจะมีการแบ่งคิวจับปลากันอย่างชัดเจน ไม่แซงคิวกัน ทำให้ราคาที่ขายได้ไม่ถูกแทรกแซงหรือขายตัดราคากันเอง เพราะชาวบ้านมีความสามัคคีในการรวมตัว

“ถ้าน้ำหนักปลาต่ำกว่า 400 กรัม คนที่มารับซื้อเขาจะไม่รับ ต้องให้อยู่ที่ ตัวละ 400-500 กรัมขึ้นไป โดยราคารับซื้อก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งถ้ามีคนมาซื้อที่ปากบ่อแบบขายปลีกเราก็ขายด้วย อยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท รายได้อีกอย่างที่พอจะหาได้ ก็คือปลูกพืชผักสวนครัว เอาไว้ขายด้วย เพื่อให้มีเงินเล็กๆ น้อยๆ สำหรับไว้ใช้จ่ายภายในบ้านอีกทาง อย่าไปรอขายปลาเพียงอย่างเดียว” คุณทองนาค กล่าวถึงเรื่องการตลาด

ซึ่งอุปสรรคในการเลี้ยงปลานิลนั้น จะเป็นปัญหาเรื่องทุนหมุนเวียนภายในฟาร์ม เพราะกว่าที่จะจับปลานิลขายได้ ผู้เลี้ยงต้องมีการจัดการเรื่องนี้ให้ดี ถ้าหากไม่มีการจดบันทึกและทำอะไรให้รอบคอบก็จะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องเงินหมุนเวียนได้

สำหรับท่านใดที่อยากเลี้ยงปลานิลเพื่อเป็นอาชีพเสริมหรือหลักสร้างรายได้ คุณทองนาคบอกว่า ต้องดูในเรื่องสภาพพื้นที่เป็นสำคัญว่ามีน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงปลาหรือไม่ ยิ่งช่วงที่ต้องมีการถ่ายน้ำออก น้ำมีใช้พอไหม ซึ่งฟาร์มของคุณทองนาคเองก็ได้มีการนำน้ำบาดาลเข้ามาใช้ด้วย แต่ต้องมีบ่อสำหรับพักน้ำไว้ก่อนจึงจะนำน้ำมาใช้เลี้ยงปลานิลได้

“การเลี้ยงปลาเป็นสิ่งที่ไม่ยาก สำหรับคนที่อยากจะเลี้ยง เพราะเลี้ยงยังไงมันก็โต ถ้าได้ลูกพันธุ์ที่ดี และอาหารก็ดีมีคุณภาพ 2 อย่างนี้ดี ปลาโตแน่นอน ส่วนอีกเรื่องที่ต้องจัดการให้ดี คือเรื่องพื้นที่ ต้องเตรียมให้ดี ไม่ใช่มีพื้นที่ 10 ไร่ อยากจะเลี้ยงปลาขุดบ่อหมดเลย 10 ไร่ แต่พื้นที่นั้นเราไม่สามารถปล่อยน้ำทิ้งได้ และก็ไม่มีน้ำสำรองไว้เลี้ยงแบบนี้ก็จบ ถือว่าการจัดการไม่ดี และที่สำคัญอยากให้มีการปลูกพืชบริเวณขอบบ่อ เน้นเป็นผักอินทรีย์ เท่านี้การงานที่เราทำก็เปลี่ยนมาเป็นเงินได้อย่างสบาย ทำแบบมีความสุขอยู่กับบ้านได้” คุณทองนาคกล่าวแนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณทองนาค สีเคนา หมายเลขโทรศัพท์ 09-3 551-4535

ขอขอบพระคุณ คุณนิกร นาคทน เจ้าหน้าที่ธุรการชำนาญงาน สำนักงานประมงจังหวัดขอนแก่น พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image