ผลวิจัยใหม่ชี้มะเร็ง 2 ใน 3 เกิดเพราะดีเอ็นเอบกพร่อง

ภาพแสดงการเกิดมะเร็งต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายสตรีจาก 3 สาเหตุ ประกอบด้วยมะเร็งที่สืบทอดทางพันธุกรรม (ซ้าย) มะเร็งที่เกิดจากความผิดพลาดแบบสุ่ม (กลาง) และมะเร็งที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อม (ขวา) สีแดงเข้มคือ 100 เปอร์เซ็นต์ สีขาวคือ 0 เปอร์เซ็นต์

งานวิจัยชิ้นใหม่ เขียนโดย นายแพทย์เบิร์ต โวเกลสตีน พยาธิแพทย์จากศูนย์เพื่อบูรณาการมะเร็งซิดนีย์คิมเมล ในสังกัดมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ เจอร์นัล ไซนซ์ เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ผลศึกษาวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่า มะเร็งส่วนใหญ่มากถึง 2 ใน 3 ของมะเร็งทั้งหมด เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดในดีเอ็นเอ ที่เกิดขึ้นในลักษณะสุ่มโดยสิ้นเชิง ในขณะที่เหตุปัจจัยจากสภาวะแวดล้อม ก่อให้เกิดมะเร็งเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ และสุดท้ายคือมะเร็งที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สัดส่วนดังกล่าวได้มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติจากระเบียนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก ควบคู่กับข้อมูลที่ได้จากการจำแนกดีเอ็นเอ จากนั้นนำมาใช้กับแบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ที่จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาวิจัยนี้โดยเฉพาะ นายแพทย์โวเกลสตีนชี้ว่า แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะตรงกันข้ามกับความเข้าใจก่อนหน้านี้ที่เชื่อกันว่าการกลายพันธุ์หรือมิวเทชั่นในดีเอ็นเอเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดมะเร็ง ต่อด้วยปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม อาทิ การสูบบุหรี่ หรือแสงอัลตราไวโอเลต ที่ส่งผลให้ดีเอ็นเอเสียหาย เป็นสาเหตุหลักในการเกิดมะเร็ง แต่ผลการวิจัยครั้งนี้กลับสอดคล้องกับผลการประเมินจากศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร ที่ชี้ว่ามะเร็ง 42 เปอร์เซ็นต์สามารถป้องกันได้โดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำรงชีวิต

ความผิดพลาดแบบมิวเทชั่นเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ เมื่อเซลล์แบ่งตัวจะทำสำเนาดีเอ็นเอเดิมออกมา เพื่อให้เซลล์ใหม่มีสารพันธุกรรมที่เป็นของตัวเอง แต่ในการทำสำเนาหรือก๊อบปี้แต่ละครั้งมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็งตามมาได้ เพราะความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในดีเอ็นเอ สามารถทำให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวนอกเหนือการควบคุมจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งนั่นเอง

ตามรายงานชิ้นใหม่นี้ระบุว่า มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งสมองหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก แทบจะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดแบบสุ่มของการก๊อบปี้เกือบทั้งหมด หรือคิดเป็นกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของกรณีทั้งหมดที่ศึกษา ในขณะที่มะเร็งบางชนิดเกิดจากอิทธิพลแวดล้อมมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยก่อมะเร็งปอดมากถึง 65 เปอร์เซ็นต์ของมะเร็งปอดทั้งหมดที่ศึกษา อีก 35 เปอร์เซ็นต์ของมะเร็งปอดเหล่านี้ถึงเกิดจากความผิดพลาดแบบสุ่มของการทำสำเนาดีเอ็นเอ

Advertisement

ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า การป้องกันมะเร็งที่ได้ผลดีที่สุด เป็นการป้องกันมะเร็งชนิดที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อม เช่นการยุติปัจจัยเสี่ยงอย่างเช่นการเลิกสูบบุหรี่ช่วยลดโอกาสเป็นมะเร็งปอดลงได้มาก แต่สำหรับมะเร็งชนิดที่เกิดจากความผิดพลาดแบบสุ่ม อาทิ มะเร็งทรวงอก จำเป็นต้องใช้วิธีการป้องกันทุติยภูมิ

การป้องกันทุติยภูมิคือการตรวจสอบหามะเร็งเป็นประจำ เพื่อค้นพบมะเร็งตั้งแต่เริ่มแรก ที่เอื้อให้การบำบัดรักษาได้ผลสูงกว่านั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image